ประเทศไทยคงเป็นไม่กี่ประเทศที่ประชาชนส่วนหนึ่งจะต้องลำบากหาซื้อวัคซีนเอง (ถ้าต้องการได้เร็วกว่าที่รัฐจัดสรร) และมีประชาชนหลายล้านคนเลือกที่จะซื้อ โมเดอน่า ซึ่งก็จ่ายเงินล่วงหน้ากันตั้งแต่ต้นปี 2564 และเดิมมีกำหนดการจะส่งมายังประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป และเมื่อถึงเดือนตุลาคมก็ไม่มีข่าวคราวที่ชัดเจนทำให้คนไทยที่เสียเงินจองหลายคนเริ่มไปเรียกร้องเอากับทางโรงพยาบาล และทาง อย. ทำเอาผู้บริหารและกรรมการเครียด จึงป็นที่มาของการแถลงข่าวในวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ตามวีดิโอ
บทเรียนภาษากายวันนี้จะมาวิเคราะห์ดูว่าผู้แทนของฝั่งบริษัทที่นำเข้าวัคซีนโมเดอน่า (ภญ.สุนัยนา กิจเกษตรไพศาล) มีภาษากายอย่างไรเมื่อต้องมาชี้แจ้งถึงความล่าช้าของวัคซีน
13:09 ภญ.สุนัยนา กิจเกษตรไพศาล พูดว่า “และมีการแลกเปลี่ยนข่าวสารทางอีเมลทุกวัน (*) นะคะ (**) จะพบภาษากาย 5 อย่างพร้อมๆกัน ซึ่งจุดนี้ผมถือว่าเป็นสัญญาณไฟที่สำคัญ
- หลับตานานกว่าปกติ (Diminished eye contact)
- คิ้วทั้งคู่ยกขึ้น (Eye brows pulled up )
- พยักหน้า (Head nod)
- สบัดหน้าไปทางขวามือ (Head shake to the right side )
- ประสานมือโดยไขว้นิ้วและหัวนิ้วโป้งทับกัน
การหลับตานาน เป็นการหลบตาแบบหนึ่งมักสัมพันธ์กับความรู้สึกผิด หลอกลวง หรือ ไม่มั่นใจและอยากหนีออกจากสถานการณ์นั้น (Guilt , Deception , low-confident , Fear) การยกของคิ้วคู่กับพยักหน้าในจังหวะนี้ที่เกิดพร้อมกันเป็นการ “เน้นย้ำ” หรือ “ขยายความ” (Exaggerate) ซึ่งก็น่าสงสัยว่าทำไมจะต้องย้ำว่า “ทุกวัน” ? ทำไมไม่พูดด้วยภาษากายปกติ (Neutral) และหลังจากคำว่า นะคะ ก็พบมีการสบัดหน้าไปทางขวา
การสบัดหน้าไปทางขวาอาจดูคล้ายๆกับการ “ส่ายหน้า” (Headshake) แต่ถ้าสังเกตให้ละเอียด ภญ.สุนัยนา กิจเกษตรไพศาล ต้องการสบัดหน้าเพื่อสบัดเอาผมที่บังตาอยู่ออกไป และจะพบการสบัดหัวลักษณะนี้อีกหลายครั้งตลอดคำชี้แจ้งของ ภญ.สุนัยนา กิจเกษตรไพศาล ทั้งนี้ในการถอดรหัสภาษากายจะต้องระวังสับสนกับการส่ายหน้าเพราะ cognitive dissonance อันเกิดจากการไม่ลงรอยกันทางความรู้สึกและการกระทำ
มือที่ประสานวางกันบนโต๊ะพบมีการประสานนิ้วโป้งและบางจังหวะมีการคลึง ท่ากุมมือนี้ถ้าเป็นการกุมมือแบบแน่นและมีการคลึงกันของนิ้วโป้งจะเป็นภาษากายของการเก็บ/สะกดอารมณ์ลบที่เกิดขึ้น (Concealing strong negative emotion) แต่ในกรณีที่พบนี้ถือว่ามือประสานกันค่อนข้างหลวมและพบนิ้วโป้งคลึงกันเพียงบางจังหวะ จึงยังไม่มีนัยยะสำคัญเท่าใดนัก
นาที 14:35 และช่วงเวลาใกล้เคียงกันจะหลบตามองต่ำบ่อยครั้ง แต่ถ้าสังเกตบนโต๊ะจะพบกระดาษที่เป็นสคริปพูดวางอยู่ สิ่งที่น่านำมาเรียนรู้กันคือ การก้มหน้ามองต่ำในสถานการณ์นี้เป็นการหลบตาจากอารมณ์ด้านลบ หรือ เป็นเพียงการมองกระดาษที่เขียนสคริป ?
การแยกสองกรณีนี้จะต้องพิจารณาดังนี้
- การก้มมองต่ำเกิดขึ้นในจังหวะใด
- เป็นการก้มเพื่อหลบตา (จังหวะสั้นๆ)หรือเพื่ออ่าน (มองอ่านนาน)
- จังหวะที่ก้มหน้าและหลบตา ทั้งก่อน ระหว่าง และหลัง เขาพูดอะไร หรือ มีสิ่งใดมากระตุ้น
- ภาษากายอื่นๆที่เกิดขึ้นพร้อมกัน หรือ ไล่เลี่ยกัน
ในเคสนี้เจ้าตัวมีการหลบตาบ้างบางจังหวะ และถ้าพิจารณาร่วมกับการกระพริบตาที่ถี่กว่าปกติ บ่งบอกได้ว่าอยู่ในภาวะตื่นเต้น แต่ยังไม่มีภาษากายใดที่สัมพันธ์กับการหลอกลวง (Deception) อย่างชัดเจน อีกทั้งใบหน้าอีกครึ่งถูกปิดไว้ด้วยผ้าแมสทำให้เป็นข้อจำกัดในการอ่านสีหน้า (Facial expression)
และในบางกรณีอาจเป็นการหลบสายตาแบบหนึ่งโดยการฉวยโอกาสที่มีสคริปอยู่ตรงหน้าก็อาจเป็นได้
อีกส่วนที่ผมสนใจคือน้ำเสียงของ ภญ.สุนัยนา กิจเกษตรไพศาล จะแบนราบและแข็ง ไม่มีเสียงสูงเสียงต่ำ และอยู่ในโทนเดียวกันตลอดที่พูด คล้ายคลึงกับการพูดเพื่อประกาศ ชี้แจง หรือ เพื่อแจ้งให้ทราบแนวโฆษก สิ่งนี้ผิดจากความคาดหวังของผมไปเล็กน้อยเพราะผมคาดว่าจะพบน้ำเสียง ท่าทาง และคำพูดของการขอโทษ หรือ เห็นอกเห็นใจประชาชนที่เรียกร้อง แต่สิ่งที่ผมพบจะมีเพียงการยืนยันว่าวัคซีนจะมาภายในพฤศจิกายนและการบรรยายถึงขั้นตอนและความตั้งใจของตนเองและบริษัท
ส่วนนี้ผมคิดว่าทางบริษัทนำเข้าและบริษัทผู้ผลิตไม่ได้ต้องการจะใช้โอกาสนี้เพื่อขอโทษ เพียงแต่ต้องการมาชี้แจง หรือ บอกให้ทราบเท่านั้นเอง (ซึ่งในความจริงผมก็ไม่คิดว่าบริษัททำผิดอะไร เพราะมีการบอกล่วงหน้ามานานแล้วว่าจะได้วัคซีนในไตรมาสที่ 4) เพราะเราไม่สามารถสังเกตภาษากายใดๆของอารมณ์เสียใจ เห็นใจ แต่อย่างใด
หวังว่าเราจะได้วัคซีนทันภายในพฤษจิกายนนี้นะครับ
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น