ตุลาคม 17, 2021

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 53 : การทำงานของสมองทั้ง 3 ส่วน และการแสดงออกทางภาษากาย

ส่วนต่างๆของสมอง

สงสัยไหมครับ ว่าภาษากายต่างๆที่เราคุยกันทั้งหมดในเวปไซด์ bodylanguageclassroom.com เป็นการเคลื่อนไหวหรือแสดงออกจากการทำงานของสมองส่วนใด ?

เนื้อหาต่อไปนี้ ผมอ้างอิงเนื้อหาบางส่วนมาจากบทความ “สมองมหัศจรรย์” และนำมาเรียบเรียงและย่อความเพื่อให้สะดวกต่อการอ่าน ท่านใดอยากอ่านตัวเต็มก็สามารถกดตามลิ้งได้ครับ

จุดประสงค์ของบทความนี้ก็เพื่อจะทำให้เราเข้าใจแง่มุมที่ลึกขึ้นของภาษากาย

สมองของมนุษย์เป็นมรดกแห่งวิวัฒนาการหลาย ๆ ล้านปี สมองของมนุษย์นั้นแบ่งออกเป็น 3 ระดับใหญ่ ๆตามการทำงานของสมองได้ดังนี้  

อริยะ สุพรรณเภษัช :2543

1.สมองส่วนแกนกลาง(สมองส่วนสัตว์เลื้อยคลาน) 

เช่นเดียวกับสัตว์มีกระดูกสันหลังขั้นต้นทั้งหลาย ทำหน้าที่เป็นกลไกรับความรู้สึกต่าง ๆ ,ตัดสินใจในสถานการณ์ว่าสู้หรือถอย และควบคุมการอยู่รอดของชีวิต เช่น การหายใจ การไหลเวียนของโลหิต การย่อยอาหาร ฯลฯ ซึ่งเป็นไปโดยอัตโนมัติ

สมองระดับนี้มีในปลา และสัตว์เลื้อยคลาน ส่วนนี้ของสมองได้แก่ก้านสมองและไขสันหลัง ซึ่งมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ 300 ล้านปีที่แล้ว ความอยู่รอดระดับนี้ไม่ต้องอาศัย “ ความคิด” เพียงแต่เป็นปฏิบัติการของก้านสมองและไขสันหลังที่เรียกว่า ปฏิกิริยา Reflex (การตอบสนองอัตโนมัติ) ซึ่งระบบของกลไกรับความรู้สึกต่าง ๆ ของสมองส่วนนี้สามารถได้รับการพัฒนาขึ้นได้จากการสัมผัสโดยตรงกับสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ซึ่งเมื่อย่างเข้าอายุปีที่ 4 สมองส่วนนี้จะพัฒนาได้มากถึง 80 % และจะหยุดการพัฒนาไปเมื่ออายุได้ประมาณ 7 ปี ซึ่งสมองในระดับที่สูงขึ้นไปมากกว่านั้นจะเริ่มต้นพัฒนาในขั้นปฐมภูมิ 

2.สมองระดับกลางหรือสมองส่วนอารมณ์ (สมองซื่อสัตย์)

สมองส่วนนี้มีในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชั้นสูงเท่านั้น เรียกว่าระบบลิมบิค(Limbic system) เป็นส่วนที่แสดงอารมณ์ เช่น ความรักผูกพัน ความชิงชัง ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ฯลฯ มนุษย์มีอารมณ์ก็เพราะมีสมองระดับนี้

ตัวอย่างของสัตว์ที่มีระบบนี้ ได้แก่ ลิงชิมแปนซี แมว วัว และแม้แต่สัตว์เลื่อคลาน ซึ่งจะมีระบบลิมบิคในระดับที่แตกต่างกันไป แต่อย่างน้อยจะมีส่วนของ amygdalae โดยมีจุดเด่นจะอยู่ที่การตอบสนองเมื่อเกิดความกลัว (Fear)

นอกจากนั้นยังมีส่วนที่ก่อให้เกิดความจำทั้งระยะสั้นและระยะยาว (STM และ LTM ) ซึ่งมีความสำคัญต่อการอยู่รอดเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้อีกด้วย สมองส่วนนี้พัฒนาเมื่อประมาณ 100 ล้านปีที่แล้ว เมื่อสิ้นสุดยุคไดโนเสาร์ สัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมจึงค่อยแพร่หลายและมีวิวัฒนาการสืบต่อมา 

3.สมองส่วนนีโอ-คอร์เท็กซ์ (สมองส่วนปัญญา)

เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลาย ส่วนนี้มีไว้รับสัมผัสทั้งห้า (หู ตา จมูก ลิ้น ผิวหนัง) ควบคุมการเคลื่อนไหวและความรู้สึกนึกคิดและการเรียนรู้ทั้งสิ้น เปลือกสมองของมนุษย์ทั้งหนาทั้งมีรอยพับจีบย่นลึก ๆ เพิ่มพูนปริมาณและพื้นที่ เนื่องจากการเพิ่มจำนวนของเดนไดร์ท(Dendrittic spine) ทำให้เกิดความเชื่อมต่อของทางเดินกระแสประสาทในสมองที่เรียกว่า เบรนคอนเนคชั่น( Brain connection) มีผลทำให้เกิด ไซแนปส์(synapse)ได้เพิ่มขึ้น

มนุษย์จึงมีขีดความสามารถสูงยิ่งกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใด ๆ ด้วยสมองระดับนี้จึงช่วยให้มนุษย์มี “อารยธรรม” สมองระดับนี้มีวิวัฒนาการเมื่อไม่ถึงห้าแสนปีนี่เอง มนุษย์นั้นอยู่รอดด้วยการเรียนรู้ซึ่งต่างจากสัตว์ซึ่งอยู่รอดได้ด้วยปฏิกิริยา Reflex และ สัญชาติญาณ(Instinct)  

ซึ่งสมองส่วนนี้จะเป็นตัวกำหนดระดับสติปัญญาของมนุษย์โดยที่สมองส่วนนี้จะคอยเลือกเฟ้นข่าวสารหรือข้อมูลที่ได้รับผ่านเข้ามาจากประสาทส่วนอื่น ๆ และผลลัพท์ที่ได้จะเป็นผลลัพท์ที่เต็มไปด้วยเหตุผล การตัดสินใจ ความคิดที่ใช้ปัญญาในการไตร่ตรอง ภาษาที่ใช้ ปฏิกิริยาการควบคุม และความเข้าใจที่แสดงออกทางท่าทาง

สรุป

ภาษากายคือการแสดงออกของร่างกายอันได้แก่ การเคลื่อนไหวร่างกาย (Gesture) และการแสดงออกทางสีหน้า (Facial expression) ซึ่งล้วนเกิดจากการทำงานของสมองทั้งสามส่วน อาจจะพร้อมกัน สอดประสานหรือแม้แต่ขัดแย้ง ก็ล้วนแล้วเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับสภาวะการณ์ต่างๆ อารมณ์และความคิด ณ เวลานั้น

ในโอกาสต่อไปผมจะยกตัวอย่างการทำงานของสมองและร่างกายเมื่อคนเราโกหก

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *