คุณเชื่ออะไรมากกว่ากัน ระหว่าง ภาษากาย กับ คำพูด ?
คุณกาละแมร์ได้มาออกรายการโหนกระแส คุณหนุ่มกรรชัย ซึ่งทำหน้าที่พิธีกรได้อย่างมืออาชีพ โดยเฉพาะคำถามที่สังคมอยากทราบ คือ เป็นไปได้หรือที่คุณกาละแมร์จะไม่รู้กฎหมาย ? ผมเชื่อว่าทุกคนก็อยากทราบว่าคุณกาละแมร์จะตอบว่าอะไร
ส่วนตัวผมไม่ค่อยให้ความสนใจว่าคุณกาละแมร์ตอบว่าอะไร เพราะเดาออกอยู่แล้วว่าต้องพูดว่า “พลาดไปแล้ว” หรือ “ไม่รู้กฎหมาย” เพราะคงเป็นไปไม่ได้ที่จะมาพูดว่า “ฉันตั้งใจทำผิด”
แต่ผมสนใจภาษากายของคุณกาละแมร์มากกว่า
เพราะภาษากาย (Body Language) คือการแสดงออกทางร่างกายและใบหน้า (Physiology/Facial expression) เกิดจากการสั่งการของสมองส่วนใน (Limbic system) สมองส่วนนี้ควบคุมส่วนของอารมณ์ ความรู้สึก เช่น ความโกรธ ความเสียใจ ความดีใจ ความรู้สึกเกลียด กลัว เป็นต้น
สมองส่วนนี้เราเรียกอีกอย่างว่าเป็นสมอง“ซื่อสัตย์” (Honest brain) เพราะอารมณ์จะเกิดทันทีถ้ามีสิ่งเร้าและแสดงออกผ่านร่างกายทันทีตรงไปตรงมา
ยกตัวอย่างตำรวจกำลังสืบสวนผู้ต้องหาที่กระทำความผิด ความรู้สึก “กลัวถูกจับได้” ของผู้ต้องหาจะปรากฎทางร่างกายหลายอย่าง สมองส่วนกลางจะสั่งให้ก้มหน้า หลบสายตา กลืนน้ำลาย กระพริบตาถี่ๆ เลียริมฝีปาก อาจจะพบมือสั่น ขาสั่น และเหงื่อออกตามรักแร้ ฝ่ามือ ตำรวจที่ทำงานด้านการสืบสวนจะเชี่ยวชาญในประเด็นนี้ จึงให้ความสำคัญกับปฎิกิริยาของร่างกายมากกว่าคำพูดเสมอ เพราะร่างกายไม่เคยโกหก
ตรงกันข้ามกับสมองส่วนนอก (Neocortex) สมองส่วนนี้เป็นส่วนที่เกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์ ความฉลาด และการพูดโกหกจะเกิดจากการทำงานของสมองส่วนนี้
การถอดรหัสภาษากาย คือ การเฝ้าดูการแสดงออกของร่างกายที่เกิดจากการทำงานของสมองส่วนใน และดูความไม่สอดคล้องกันกับการทำงานของสมองส่วนนอก เมื่อใดก็ตามมันเกิดความขัดแย้งกัน ตู้ม ! เราก็ถอดรหัส (จับผิด) ได้สำเร็จ
ถ้าคุณสนใจในรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานของสมอง อ่านต่อได้ในลิ้งนี้
ถอดรหัสภาษากายของคุณกาละแมร์
กลับมาที่รายการโหนกระแส ในบทความนี้จะมาสอนภาษากายที่สำคัญมากและถือว่าคลาสสิคที่สุดอย่างหนึ่ง คือ การยกมือขึ้นสัมผัสหน้าผาก (ผมจะใช้ (*ยกมือ) เป็นเครื่องหมาย)
ในนาทีที่ 18:00 คุณหนุ่มถามคุณกาละแมร์ว่า “ที่ปรึกษาทางกฎหมายไม่มีเลยหรือ”
กาละแมร์ตอบ “หนูพูดตรงๆนะ”
คุณหนุ่มถามต่อ “นี่จำเป็นต้องตอบเลยนะ คือ งงอะ บริษัทขนาดนี้ ไม่มีที่ปรึกษาทางกฎหมาย ไม่มีใครแนะนำข้อกฎหมาย (*ยกมือ) แล้วอยู่ดีๆคุณก็ออกมาพูดแบบนี้”
สังเกตุว่าในนาทีที่ 18:09 จังหวะที่ (*ยกมือ) คุณกาละแมร์การยกมือขึ้นสัมผัสหน้าผากและมียิ้มแปลกๆ (Touching forehead , unusual smile)
จะเห็นได้ว่าภาษากายของคุณกาละแมร์ได้แสดงอะไรออกมาก่อนที่เธอจะพูดแก้ต่างด้วยซ้ำ
การใช้มือขึ้นมาแบบนี้ เป็นหนึ่งในพฤติกรรมการกั้นสายตา (Eyes Blocking/ Eyes Covering) เป็นภาษากายที่เราเห็นสังเกตและเห็นได้บ่อย
มนุษย์เราทำท่านี้โดยอัตโนมัติเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์เชิงลบ และสัมพันธ์กับอารมณ์เชิงลบต่างๆ เช่น ความวิตกกังวล ความไม่มั่นใจ ความอับอาย มักพบบ่อยในกรณีที่ถูกจับผิดได้ อีกทั้งการแสดงออกลักษณะนี้พบได้แม้แต่คนที่ตาบอดแต่กำเนิด (Navarro 2018)
การยิ้มของกาละแมร์ในจังหวะเดียวกันซึ่งเกิดขึ้นก่อนการยกมือขึ้นมาก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะการยิ้มหลังจากที่ถูกถามเรื่องกฎหมายไม่ได้แปลว่ามีความสุข (Happy) ไม่ใช่การยิ้มอย่างแท้จริง (Duchenne smile) การยิ้มนี้เดี๋ยวผมจะมาลงรายละเอียดให้ในบทความอนาคต เพราะเป็นอีกเรื่องที่ต้องคุยกันเยอะ บทเรียนนี้ขอโฟกัสเฉพาะ Touching forehead
คำถามประจำบทเรียน
คุณคิดว่ามือที่ยกขึ้นมา เป็นการสั่งงานมาจากสมองส่วนกลาง หรือ สมองส่วนนอก ?
ขอให้สนุกกับการเรียนถอดรหัสภาษากาย นะครับ
หมอมด (ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์)
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น
1 Response
[…] 1 (ถอดรหัสภาษากาย บทความที่ XXX – Covering of eyes –… […]