สิงหาคม 5, 2021

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 40 : ภาษากายที่บอกว่า…..เขาไม่เชื่อสิ่งที่เราพูด

ภาษากายเป็นสิ่งที่แสดงความรู้สึกในใจออกมาเสมอ และซื่อสัตย์กว่าคำพูด

เพราะคำพูดเราสามารถดัดแปลง ตบแต่ง หรือปั้นแต่งขึ้นมาอย่างไรก็ได้ตามที่สมองเราสั่งในลักษณะของการพูดโกหก ปกปิด พูดให้ดูดี รักษามารยาท หรือ เพื่อรักษาน้ำใจของอีกฝ่าย คำพูดจึงล้อไปกับสถานการณ์และยากมากที่จะหาความซื่อตรงอย่างตรงไปตรงมาอย่างแท้จริง

แต่ท่าทาง สีหน้าและร่างกายจะเป็นการแสดงออกที่คนเรากระทำไปโดยที่ไม่รู้ตัว (unconcious) และหลายครั้งเราไม่ทันระวังและเกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ

วันนี้ผมจะมาแนะนำ “ท่านั่งฟัง” ที่เป็นรูปแบบคลาสสิคแบบหนึ่งที่บ่งบอกได้ว่าผู้ฟังอาจจะไม่เชื่อในสิ่งที่เราพูด

i don’t believe you (Cluster) Ref : Allan peace

ท่านั่งนี้จะประกอบด้วยภาษากาย 7 อย่าง

  1. นั่งไขว้ขา (Legs cross)
  2. กอดอกด้วยมือข้างเดียว (Arm cross)
  3. นิ้วโป้งชันคาง (Thumb support chin)
  4. ปิดปากด้วยนิ้วกลาง (Covering mouth)
  5. นิ้วชี้ ชี้ขึ้น (Finger index Pointing up)
  6. ก้มหน้า กดคางลง (Tilting down of head and chin)
  7. หลังพิงพนัก เอนตัวไปข้างหลัง (Sit back)

ท่านั่งจะเห็นได้ชัดว่ามีสัญลักษณ์รวมถึงการป้องกันตัว (Defensive) จากการไขว้ขา กอดอก ใช้นิ้วปิดปาก และมีลักษณะบ่งบอกถึงถึงการปฎิเสธ (Display negative / refusal) จากการก้มหน้าและเอนหลังพิงพนักเก้าอี้

ถ้าจะถอดเสียงที่อยู่ในใจอาจจะสะท้อนออกมาเป็นข้อความว่า

  • ฉันไม่เชื่อ / ไม่ค่อยเชื่อคนๆนี้เลย
  • ดูซิเขาจะพูดอะไร ?
  • เขาจะโกหกฉันหรือเปล่า ?
  • จะเชื่อเขาได้ไหมน้า ?
  • ฉันจะต้องระวังสิ่งที่คนนี้พูด !

เพราะฉะนั้นถ้าคุณเป็นผู้บรรยาย วิทยากร อาจารย์ ทนาย ผู้พิพากษา อัยการ ครู หรือ แม้แต่นักขาย ทำงานสัมภาษณ์ คุณสามารถสังเกตุท่านั่งของอีกฝ่ายว่ามีภาษากายเหล่านี้หรือไม่ ทั้งนี้ภาษากายทั้ง 7 ลักษณะอาจไม่ปรากฎครบทุกข้อ เช่น บางคนอาจจะไม่นั่งไขว้ขา แต่อยากให้จดจำว่ายิ่งมีภาษากายแสดงออกมาเยอะเท่าไหร่ (Cluster of Body langauge) จะยิ่งบ่งบอกถึงความไม่เชื่อและการปฎิเสธ (Disbelieve , Skeptical) ของอีกฝ่ายมากขึ้นเท่านั้น พูดง่ายๆคือยิ่งแม่นยำและชัดเจนมากขึ้น (Intensity / Sigification) และอีกประเด็นที่เราจะอ่านภาษากายได้ผิด (Misread) คือคนที่ชอบนั่งท่านี้เป็นประจำเป็นท่าประจำตัว

ภาษากายที่ผมกล่าวมานี้ จะไม่ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ วัฒนธรรมหรือชาติพันธุ์ จึงพบเห็นจากทุกคนที่เป็นมนุษย์ (Universal) ทั้งนี้บางภาษากายอาจจะได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรม สังคม หรือ ศาสนา ทำให้จำกัดเป็นภาษากายของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เช่น คนไทยไม่มีวัฒนธรรมของการจับมือทักทาย และไม่แสดงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง เช่น การกอด จูบ ในที่สาธารณะ เป็นต้น

ลองดูท่านั่งของคุณผู้ชายด้านซ้ายมือของรูปคุณคิดว่าเขารู้สึกยังไงระหว่างที่ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ พูดชี้แจงว่าซิโนแวค ดียังไง (บทวิเคราะห์ตัวเต็มของ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ในลิ้งนี้)

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

1 Response

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *