พฤศจิกายน 28, 2021

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 65 : เราสามารถวัดความรู้สึกผิด จากภาษากายได้ไหม ?

บทความชิ้นนี้เกิดจากคำถามของแฟนเวปไซด์ BodyLanguageClassroom คือท่านอาจารย์ เมธี สูตรสุคนธ์ ซึ่งเป็นสหายในโลกออนไลน์ของผม ท่านได้ตั้งคำถามที่ผมชอบมากและเป็นคำถามที่น่าสนใจอย่างยิ่งจนรู้สึกอยากเอามาขยายความเป็นบทความขนาดสั้น

คำถามคือ เราสามารถวัดความรู้สึกผิด จากภาษากายได้ไหม ?

ผมตอบแบบฟันธงได้ทันทีว่าได้ครับ ภาษากายสามารถวัดความรู้สึกผิด ทั้งในระดับความรู้สึกผิดเล็กๆบางๆ จนไปถึงความรู้สึกหนักๆเครียดๆ ทั้งนี้ความรู้สึกเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ไม่สามารถเอามาตรวัด เอาไม้บรรทัด หรือ สิ่งใดๆมาเปรียบเทียบเชิงประจักษ์ แต่จะจำแนกและเฝ้าสังเกตุได้ว่ามากน้อยเพียงได้ตามลักษณะของภาษากายที่แสดงออกมา

โดยอยู่บนทฤษฎีที่ว่า ถ้ายิ่งรู้สึกผิด จะยิ่งมีอารมณ์และความรู้สึกในระดับที่มากขึ้นตาม (Intensity of Emotion and Feelings) และจะมีภาษากายที่ชัดเจนมากตามเช่นกัน

ขอยกตัวอย่างด้วยภาพนี้

ภาพนี้ผมยกมาจากบทความ ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 13 ภาพความทุกข์และการต่อสู้ของพี่น้องชาวพม่า ภาพนี้คือสีหน้าของความเสียใจของคุณแม่ที่เพิ่งสูญเสียลูกชาย และเดาไม่ยากว่าเธอน่าจะเพิ่งรับรู้ข่าวการเสียชีวิตสดๆร้อนๆ เพราะสีหน้าของเธอแสดงลักษณะ Sadness (ความเสียใจ) อย่างชัดเจนและอยู่ในระดับสูงมาก (High intensity of Sadness)

จะเห็นแก้มที่ยกขึ้นสูง (Raise of cheek) คางถอยร่นไปข้างหลัง (Backward of mandible) และมุมปากตก ส่วนล่างของใบหน้าแสดงลักษณะของความเสียใจ 

ทั้งนี้ส่วนบนของใบหน้าจะปนกันทั้งเสียใจและโกรธ ให้สังเกตหางตาตกและขอบตาล่างที่เกร็งขึ้นมา (outer conner drop & tense lower eyelid) เป็นดวงตาของความเสียใจ แต่เปลือกตาบนหดเกร็ง ควบคู่กับขอบด้านในของคิ้วที่หดลงล่าง (Inner eye brows pulled down) การเกร็งของกล้ามเนื้อระหว่างคิ้ว (Glabella) เป็นภาษากายของความโกรธ

ภาพนี้จึงเป็นตัวอย่างของเคสที่มีความเสียใจในระดับที่สูงพร้อมกับมีความโกรธแค้นร่วมด้วย สีหน้าที่รุงแรงและปวดร้าวระดับนี้ย่อมจะมีเพียงแต่เป็นเหตุการณ์สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเท่านั้น ถ้าทำจานแตก หรือ แก้วน้ำตกแตก ย่อมไม่ปรากฎภาษากายแบบนี้

เพราะฉะนั้นความรู้สึกผิดมาก ผิดน้อย หรือไม่รู้สึกผิดเลย ย่อมจะสามารถสังเกตุได้จากภาษากายที่ปรากฎออกมาทั้งหลายว่าชัดเจน เข้มข้น และปะปนผสมกับอารมณ์ใดบ้าง

แล้วความรู้สึกผิดจะมีสีหน้าอย่างไร ?

ความรู้สึกไม่มีสีหน้าที่เฉพาะเจาะจง แต่จะมีส่วนผสมของหลายๆอารมณ์ร่วมกันโดยมีอารมณ์เสียใจ(Sadness)เป็นพระเอก และขึ้นอยู่กับความรู้สึกผิดของคนๆนั้น

ส่วนผสมของอารมณ์ ของความรู้สึกผิดได้แก่อะไรบ้าง ?

  • ความรู้สึกเสียใจ (Sadness) จะเป็นอารมณ์หลักเสมอ ถ้าคนที่รู้สึกผิด (Shame) จะต้องแสดงภาษากายของความเสียใจออกมา สิ่งนี้สังเกตได้ชัดจากสีหน้า (Facial expression) ซึ่งอาจารย์ Paul ekman คือปรามาจารย์ด้านนี้และมีงานวิจัยตีพิมพ์มากมาย
  • ความรู้สึกกลัว (Fear) ก็พบได้ เพราะคนที่รู้สึกผิดหลายกรณีจะมีความกลัวร่วมด้วย เช่น กลัวถูกต่อว่า กลัวคนอื่นโกรธ กลัวผลที่ตามมา กลัวสารพัด
  • ความรู้สึกโกรธ (Anger) ก็พบได้ เช่นคนที่รู้สึกผิดแล้วรู้สึกโกรธตัวเอง หรือ โกรธที่ตัวเองต้องมารับผิดชอบ หรือโกรธคนอื่นที่เป็นสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ความโกรธหลายคนก็เอาไว้ใช้กลบเกลื่อนตอนกำลังโกหก
  • ความรู้สึกละอาย (Shame) จะไม่มีสีหน้า (Facial expression) ที่เฉพาะเจาะจง แตจะพบเป็นภาษากายอื่นๆต่างหาก เช่น การหลบตา (Diminish eye contact) การใช้มือปิดปาก การหันหน้าออกข้าง ฯลฯ

อีกประเด็นที่สำคัญ คือ อารมณ์ไม่ได้มีจำนวน หรือ ชนิดที่ชัดเจน คล้ายกับสี สีมีได้หลายล้านสีขึ้นอยู่กับว่าจะผสมและหนัก เบา อ่อนไปในลักษณะใด อารมณ์ก็เช่นกัน สามารถผสมปนเป หนักเบาได้อย่างไม่จำกัด เพราะเวลาเราใช้คำว่า เสียใจ ดีใจ กลัว จึงเป็นการกำหนดลักษณะของอารมณ์อย่างหยาบเท่านั้น

ในส่วนของระดับของความรู้สึกผิดว่ามากน้อยเพียงใด (Intensity) ก็จะดูว่าในส่วนของอารมณ์ต่างๆที่กล่าวมามีการแสดงออกที่ชัดเจนเพียงใด จะกล่าวว่าแปรผันตรงก็ไม่ผิด

และในเคสใดที่มาแถลงข่าวขอโทษ แต่ไม่พบภาษากายที่สอดคล้องว่ารู้สึกผิด/เสียใจ อาจตีความได้ว่าในเบื้องลึกแล้วเขาไม่ได้รู้สึกเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และการออกมาพูดเป็นเพียงการทำหน้าที่ หรือ เป็นเพียงการแสดงเท่านั้น ลองดูเคสนี้เป็นการประกอบกันก็ได้ครับ ว่าคุณคิดว่าหมอนคร รู้สึกอย่างไร ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 36 : นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ขอโทษที่หาวัคซีน…ไม่เพียงพอ

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *