ลุงพลเป็นคดีที่สังคมได้บทเรียนว่าคนที่ดูบ้านๆซื่อๆ และใครต่อใครชูว่าเป็นคนที่ตรงไปตรงมามาดแมน สุดท้ายกลายเป็นอาชญากรตามหมายจับของตำรวจ และต้องต่อสู้เพื่อแก้ตัวในชั้นศาล
สิ่งที่ผมตั้งคำถามคือลุงพลมีอะไรที่ทำให้ใครต่อใครหลงเชื่อว่าเขาบริสุทธิ์ ? ผมจะขอวิเคราะห์ในประเด็นของภาษากายตามข้อมูลและสื่อ VDO ที่อยู่ใน youtube ช่วงตั้งแต่น้องชมพู่เสียชีวิตจนถึงรายการโหนกระแสวันที่ 9 ก.ค. 63 ทั้งหมด 4 วีดิโอต่อไปนี้
1.วันพบศพน้องชมพู่ 15 พ.ค. 2563
ในคลิปของไทนรัฐนิวส์โชว์ นี้เป็นบันทึกวันที่ลุงพลพบศพน้องชมพู่ วีดิโอนี้ไม่สามารถเอามาวิเคราะห์ภาษากายใดๆได้ เพราะคุณภาพของภาพ มุมที่ถ่ายและรายละเอียดไม่เพียงพอ แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือการแสดงออกของลุงพลที่ชี้เป้าคนร้าย
ลุงพลบอกว่า “มันมีคายหายจากหมู่บ้านคนนึง” คำถามคือลุงพลหมายถึงใคร ? ทำไมไม่ระบุมาเลยในเมื่อหมู่บ้านก็คนกันเองทั้งนั้น
สมมุตว่าลุงพลคือคนร้ายเสียเองย่อมเรียกได้ว่า “เบี่ยงประเด็น” หรือการ “ชี้ข้อมูลเพื่อให้คนอื่นเข้าใจผิด” (Misleading / Falsifying) ซึ่งมันก็คือการโกหกแบบหนึ่ง จะว่ากินปูร้อนท้องก็ไม่ผิด ผมคิดว่าใครหลายคนที่ดูก็คงตั้งข้อสงสัยในประเด็นนี้ ทั้งนี้วีดิโอนี้ก็ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรเราได้มากมาย ผมจึงไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญ
2.รายการโหนกระแสครั้งแรก , 18 พ.ค.2563
ลุงพลมาออกรายการโหนกระแสเป็นครั้งแรก จะพบว่าบุคลิกจะนิ่มนวล สุภาพ เมื่อเทียบกับช่วงไม่กี่เดือนก่อนที่จะถูกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหาจะเป็นคนมั่นใจ โผงผาง
ในรายการมีจังหวะที่ลุงพลร้องไห้สองครั้งทำให้ใครหลายคนมองว่าลุงน่าจะเสียใจจริงๆกับการเสียชีวิตของน้องชมพู่ คลิปนี้ผมอาจจะสังเกต Facial expression ยากเพราะลุงพลในหน้ากากพูด แต่ก็พอจะเห็นบ้าง
นาที 12:22 ถึง 12:31 ลุงพลร้องไห้ตอนพูดว่า “และอยู่ในท่าทางที่ทรมาณที่สุดแล้วครับ (*)….. แต่ก็อย่างว่าครับ เขาไม่อยู่กับเราแล้ว”
ลุงพลมีน้ำตาคลอ (Crying) และหน้าแดง (Blushing) ในจังหวะ (*) มีการยกมือขึ้นมาสัมผัสระหว่างคิ้ว คำถามคือลุงพลแสดงโดยการบีบน้ำตาร้องไห้ หรือ รู้สึกเสียใจจริงๆ ?
ภาษากายของความเสียใจ (Sadness) จะมีสัญลักษณ์หนึ่งที่จะต้องเห็นคือ หัวคิ้วยก (Inner brow raise) และมักพบรอย่นที่หน้าผาก (Wrinkle) จากกล้ามเนื้อ Fontalis หดตัว ซึ่งในกรณีของลุงพลหน้าผากและคิ้วดูปกติและไม่มีการกดเกร็งหรือขยับใดๆ (Relax) จึงอาจจะแปลว่าเสียใจแต่ไม่มาก (Low intensity) เพราะถ้าเสียใจมากจริงๆ กล้ามเนื้อส่วน glabella และ Fontalis จะต้องหดตัว ทั้งนี้พอขาดข้อมูลในส่วน 1/2 ของใบหน้าส่วนล่าง ( lower 1/2 facial) ทำให้เราไม่สามารถวิเคราะห์ได้สมบูรณ์
ช่วงท้ายของรายการนาที 27:49 ลุงพลร้องไห้เมื่อทราบจากทีมงานของคุณหนุ่มให้ข้อมูลว่าผลชัญสูตรศพพบว่าอวัยวะเพศฉีกขาด
ในจังหวะนี้ก็ยังไม่พบ inner eye brow raise ทั้งที่เป็นวินาทีที่น่าจะเกิดความเสียใจมากที่สุด รวมทั้งพบมีการนำมือมาปิดหน้าและใช้นิ้วปิดตาที่นาน ทั้งนี้ภาษากายของความเสียใจจะสังเกตได้ไม่ชัด กล้ามเนื้อที่ควรจะพบว่าหดตัวและสอดคล้องกับความเสียใจก็ไม่ได้ทำงาน จุดนี้เป็นประเด็นที่ผมตั้งข้อสงสัยและให้น้ำหนักกับการแสดงครั้งนี้
3.ลุงพล : รายการโหนกระแสครั้งที่ 2 , 7 ก.ค. 2563
การออกรายการของลุงพลรอบนี้ถือว่าเป็นการสร้างฐานแฟนที่สำคัญ เพราะมีเสียงตอบรับว่าลุงพลดูเป็นคนจริง ดูบริสุทธิ์ ส่วนตัวผมก็คิดว่าลุงพลเป็นคนบุคลิกนิ่ง หน้าตาดูนิ่งๆ ไม่ค่อยมีอาการล้อกแล้ก ดูบ้านๆตรงๆ แต่ก็มีภาษากายที่น่าสนใจให้เราสังเกตพอสมควร
นาที 13:44 หลังคุณหนุ่มถาม “ไอ้ 33 นาทีลุงหายไปไหน” ก่อนลุงพลจะตอบ เขายกมือขึ้นมาสัมผัสแก้มคล้ายจะเกาแต่ก็ไม่เกา (Self touching on face) เป็นการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ (Psychological discomfort) เป็นภาษากายที่ชัดเจนถึงความประหม่า และตื่นเต้น (Anxiety) อยากย้ำว่าการเอามือสัมผัสใบหน้ามีความหมายเสมอ โดยเฉพาะในจังหวะที่ต้องตอบคำถามสำคัญ เพราะมันแสดงถึงอารมณ์ของเจ้าตัวอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการเอามือขึ้นมาเกาจมูก เกาหู เอามือกุมหน้าผาก เอามือปิดปาก เป็นต้น
นอกจากนั้นลุงพลยังมีการหลบตา (Diminished eye contact) ทำให้ตอกย้ำว่ากำลังประหม่ากับคำถามนี้เอามากๆ
นาที 13:44 ต่อเนื่องกัน ลุงพลตอบ “ผมได้อธิบายไว้แล้วนะครับ” ลุงมีรอยยิ้มปรากฎขึ้นมาแว๊ปหนึ่ง การยิ้มในบริบทนี้คือ Duping delight – Joy of the act of deception (Ref : Paul Ekman) ลุงพลยิ้มเพราะมีความสุข คำถามคือวินาทีนั้นเขามีความสุขจากอะไร ? เป็นไปได้หลายอย่าง เช่น รู้สึกลุ้นระทึกและตื่นเต้นตอนตอบเพราะเป็นเรื่องโกหก สุขใจที่ได้หลอกคนอื่น สุขใจที่เห็นคนอื่นโดนหลอกหรือโง่กว่าตน หรือ อาจเป็นความเขินอายที่ต้องแก้ตัวในสิ่งที่ตนเองรู้อยู่ว่าโกหก (Embarassment)
การยิ้มครั้งนี้เกิดขึ้นทันทีก่อนที่จะตอบเรื่อง Timeline ซึ่งเป็นจุดอ่อนของลุงพลสำหรับคดีนี้
4.ลุงพล : รายการโหนกระแสที่หมู่บ้าน , 9 ก.ค. 2563
ลุงพลแสดงภาษากายของความเครียด วิตกกังวล ตลอดทั้งรายการสัมภาษณ์ มีเยอะมากๆจนผมได้รวบรวมไว้แยกเป็นอีกบทความหนึ่งในลิ้งนี้ ลองดูบทวิเคราะห์ของผมนะครับ
ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น
ได้อ่านการวิเคราะห์ของคุณหมอมีประโยชน์มากๆค่ะ ปกติก็ชอบสังเกตทาท่างคนอยู่แล้วและทำให้มีความรู้มากขึ้น