จากกรณีที่คุณทักษิณเอ่ยถึงคุณพิมรี่พายแค่ 5 วินาที และคุณพิมรี่พายเจอผลกระทบมากมายจนเจ้าตัวต้องออกมาไลฟ์สดเพื่อมาระบายความทุกข์ใจที่ถูกพาดพิงเรื่องการเมือง จากนั้นเหมือนคุณพิมรี่พายคงคิดอะไรได้จึงอยากกลับมาขอโทษ เป็นที่มาของคลิป “พิมรี่พายขอโทษคุณทักษิณ”
คลิปนี้มีประเด็นภาษากายที่น่าสนใจเยอะเลย เรามาเรียนรู้พร้อมกันนะครับ
โจทย์ที่ผมจะตั้งคำถามเกี่ยวกับคลิปนี้ คือ คุณพิมรี่พาย มีภาษากายที่แสดงออกถึงความจริงใจที่จะขอโทษ…หรือไม่ ที่ผมตั้งประเด็นไว้แบบนี้เพราะหลายครั้งเกี่ยวกับการขอโทษ เรามักจะพบการขอโทษที่ทำไปเพียงพอเป็นพิธี ทำไปเพียงเพราะสถานการณ์บังคับ ต้นสังกัดหรือผู้ใหญ่แนะนำให้ทำ หรือต้องการหยุดกระแสลบที่เกิดขึ้นกับตน ซึ่งหลายครั้งก็ทำไปตามหน้าที่ ทำไปตามน้ำ และขาดซึ่งความจริงใจหรือรู้สึกผิดจริงๆ
ภาษากายคือข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว จึงเป็นชุดของข้อมูลสำคัญที่สามารถใช้ตีความว่าส่วนตัวเราจะให้ระดับความความเชื่อถือกับเหตุการณ์ที่ปรากฎอย่างไรเท่านั้น การวิเคราะห์ภาษากายจึงไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินว่าใครโกหกหรือหลอกลวง
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
ช่วงต้นของวีดิโอจะพบ Pacifying behavior (พฤติกรรมปลอบประโลม)หลายอย่าง
ตลอดช่วงเริ่มวีดิโอ ถึง 0:13 คุณพิมรี่พายเริ่มจากการพูดว่า เขาไลฟ์สดขายของปกติอยู่แล้ว และพยายามใช้ชีวิตเป็นปกติ ซึ่งตลอดช่วงต้นนี้ คุณพิมรี่พายเอามาลูบผมและใช้มือซ้ายมาจัด/คลึงสร้อยคอ ทำท่าคล้ายกำลังจัดเครื่องแต่งกาย (ซึ่งจริงๆเขาจัดเครื่องแต่งกายเสร็จก่อนมาเริ่มต้นวีดิโอ)
การเอามือขึ้นมาจับสร้อยคล้ายๆทำท่าจัด (False neckless adjustment) เป็นอาการประหม่า ตื่นเต้น กังวล หรือ กลัว ถ้าเป็นผู้ชายอาจจะถูนาฬิกา หรือ เอามือขึ้นมาปรับเน็คไทด์ บางคนเอามือลูบคอ ลูบหน้า เป็นต้น ย้ำว่า Pacifying Behavior พบเสมอเมื่อมีอารมณ์กังวลและกลัว
สังเกตการโยกซ้ายขวาอยู่กับที่ของเขา สงสัยไหมครับว่าทำไมไม่ยืนอยู่กับที่นิ่งๆ นั่นเป็นเพราะเจ้าตัวตื่นเต้น ร่างกายเลยหลั่งอะดรีนาลินออกมามากกว่าปกติ (adrenaline surge) เจ้าตัวเลยดูขยับเป็นม้าและร่างกายก็เลยดูกระตือรือล้นไม่หยุดอยู่กับที่ สำหรับเคสนี้ร่างกายตอบสนองเป็นการทำฟุตเวริ์ค (Foot work) คล้ายนักมวยพร้อมต่อย คุณพิมรี่พายเต้นฟุตเวริ์คอีกระยะยาวเลยแปลว่าคงตื่นเต้นมาก
ในช่วงระยะเวลา 0:26 – 0:40 พูดว่า “วันนี้ก็ต้อง (*) เออ …. สืบเนื่องจากไลฟ์สดเมื่อวานเนอะ .. ที่ (**) พูดจาพาดพิง (***) เออ เอาอย่างงี้ก่อนนะ…”
ในช่วงนี้ คุณพิมรี่พายไม่รู้จะเริ่มต้นพูดยังไง พอเริ่มจะพูดก็เอาใหม่ เหมือนเจ้าตัวยังสับสนแต่จากภาษากายมีหลายอย่างให้สังเกตได้แก่
- (*) ทำเสียงคลิ้กที่มุมปาก (Click sound from the conner of the mouth) พร้อมกับมีก้มหน้ามองต่ำ (Diminishing eye contact) เสียงที่ปากเรามักจะทำเวลาจะต้องเริ่มต้นพูดหรืออธิบายอะไรที่ยุ่งยาก หรือ ต้องใช้สมองคิดเยอะ ส่วนก้มหน้ามองต่ำสัมพันธ์กับความตื่นกลัว (Anxiety) ประหม่า ตื่นเต้น กลัว หรือ รู้สึกผิด เป็นภาษากายที่พบบ่อย และหลายคนมักตีความผิดๆว่าเป็นการโกหกเท่านั้น
- (**) พบขากรรไกรขยับไปทางขวาพร้อมกับมุมปาก (Jaw confession) เป็นภาษากายที่พบเวลารู้สึกเสียใจ (Regret) หรือละอาย (Shame) เป็นภาษากายที่พบบ่อยถ้าคนจะต้องสารภาพผิดหรือจำใจบอกความจริงด้วยความอึดอัด (Confess)
- (***)พบก้มหน้ามองต่ำ (Diminished eye contact)
- ยกมือขึ้นมาลูม/ถูมือเกือบตลอดช่วงนี้ เป็น Pacifiying behavior ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
ภาษากายหลายอย่างที่แสดงออกมาต่อเนื่องกันเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) จะสามารถวิเคราะห์ได้แม่นยำกว่าการมีภาษากายแค่อย่างเดียวให้สังเกต คุณพิมได้แสดงภาษากายออกมาหลายอย่างโดยเฉพาะ Diminishing eye contact และ Pacifiying ของมือ เราจะพบบ่อยตลอดการพูดในวีดิโอที่จะเกริ่นก่อนพูดขอโทษทักษิณ และในหลายจังหวะที่กำมือไว้จะเห็นชัดว่ากำแน่นมาก
สามารถวิเคราะห์ได้ว่าคุณพิมอยู่ในอารมณ์ตื่นเต้น ประหม่า และมีอารมณ์ของความรู้สึกเสียใจและละอายปะปนกัน อารมณ์ของคุณพิมรี่พายจะมีหลายอารมณ์ตีวนไปวนมา
นาที 0:48 ช่วงที่พูดว่า “อย่างที่ชี้แจ้งไปเมื่อวาน ว่าพิมไม่อยากตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของใคร….(*)อันนี้เสียงได้ยินใช่ไหมคะ”
จังหวะนี้คุณพิมจู่ๆก็เกิดอยากเทสเสียงซะงั้น โดยหันซ้ายไปคุยกับทีมงานเพื่อเช็คเสียง ตรงนี้จะขัดๆหน่อยเพราะคุณพิมเริ่มต้นพูดมาเกือบนาทีแล้วจู่ๆทำไมอยากเช็คกับทีมงานว่าเสียงโอเคไหม ?
การที่กำลัง live สด มาสักพักแล้วจู่ๆก็ออกไปจากบทสนทนาแล้วไปสนใจสิ่งแวดล้อม (Distraction) เป็นเพราะสมองส่วนกลางต้องการซื้อเวลา
อธิบายให้ง่าย คุณพิมรี่พายกำลังฝืนทำอะไรบางอย่างที่ลำบากใจมากๆ ซึ่งก็คือการสารภาพผิด/ขอโทษ เป็นสภาวะจำยอม (ไม่อยากทำแต่ไม่ทำก็ไม่ได้) จิตสำนึกที่มาจากสมองส่วนนอกคิดไว้แล้วว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะต้องทำเพื่อความถูกต้อง เพื่อชื่อเสียง เพื่อแก้ไขปัญหาอะไรก็ตาม แต่ความกลัวและความรู้สึกผิด (Shame) ก็ยังคงมีอยู่ทำให้สมองส่วนกลางสั่งให้เขาหนี หรือ ป้องกันตัวเองตามสัญชาติญาณ
การซื้อเวลาอาจจะแสดงออกมาได้หลายอย่าง เช่น การเฉไฉไม่ตอบตรงๆ หรือ การเปลี่ยนเรื่อง หรือแม้แต่การพูดทวงคำถามที่คนสัมภาษณ์
นาที 0:50 คุณพิมพูดว่า “พิมชี้แจงไปเมื่อวานแล้วนะคะ” เขาพูดสองรอบติดๆกัน แล้วพูดว่า “ว่าไม่อยากตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของใคร”
การพูดซ้ำว่า “พิมชี้แจงไปเมื่อวานแล้วนะคะ” ถ้าดูเผินๆจะคิดว่าเจ้าตัวซีเรียสกับสิ่งนี้และอยากย้ำกับคนฟังให้เข้าใจว่าคุณพิมต้องการอะไร (Strong Statement)
การพูดซ้ำจะพบได้อีกจากคนที่กำลังประหม่าก็ได้ หรือต้องการโน้มน้าวก็ได้ แต่ในจังหวะนี้เหมือนการซื้อเวลามากกว่า การซื้อเวลาอาจแปลว่าเขาเองก็อึดอัดที่จะพูดในประโยคต่อๆไป ประมานว่ารู้ทั้งรู้ว่าต้องพูดแต่ใจหนึ่งก็ไม่อยากพูด
นาที 1:12 ถึง 1:15 ” สืบเนื่องจาก Live สด เมื่อวานนะคะ ถ้าพิมพูดจาพาดพิงลุงโทนี่นะคะ” ประโยคนี้ คุณพิมรี่พายก้มหน้ามองต่ำ (Diminishing eye contact) สัมพันธ์กับหลายอย่าง เช่น ความตื่นเต้น กลัว และรู้สึกผิด สังเกตมือที่กุมไว้แน่น บ่งบอกถึง Pacifiying เป็นการปลอบปละโลมจากสมองส่วนกลางเมื่อกำลังกลัว จังหวะนี้เป็น Beta mode ซึ่งค่อนข้างตรงกันข้ามกับบุคลิกจากๆของคุณพิมรี่พายที่เป็น Alpha (ความมั่นใจสูง) และน่าจะมีอารมณ์ด้านลบ(negative emotion) ที่สูงมากเพราะการกุมมือแน่น ยิ่งกุมมือแน่นและเกร็งเท่าไหร่บ่งบอกถึงความรุนแรงของอารมณ์ที่ตนกำลังกดไว้อยู่
นาที 1:21 ตอนพูด” ถ้าพิมพูดจาพาดพิงลุงโทนี่นะคะ ดร.ทักษิณ นะคะ (*) ความที่ขาดสตินะคะ …” สังเกต (*)คุณพิมรี่พายกลืนน้ำลายก้อนใหญ่ (Hard swallowing ) ชัดเจนมากๆ ร่วมกับมีการยิ้มแปลกๆปรากฎขึ้น
การยิ้มในวินาทีนี้เป็นยิ้มนอกบริบท (Smiling out of contex) รอยยิ้มนี้เป็นลักษณะของ Suppress smile ซึ่งถ้าพิจารณาร่วมกับคิ้วที่หดตัวเข้าหากัน (Brows pulled together) และเปลือกตาที่หดเกร็ง (tense upper and lower eyelids) จะเป็นความโกรธ Anger
และอยากให้สังเกตลักษณะการพูดด้วย คือพูดว่า ลุงโทนี่นะคะ และยังย้ำชื่ออีกรอบว่า คุณทักษิณ นะคะ โดยที่เป็นบุคลลเดียวกันตามปกติเราไม่มีความจำเป็นต้องพูดชื่อคนสองรอบ แต่เป็นเพราะการพูดซ้ำย้ำเป็นการแสดงความไม่มั่นใจระดับสูงเพราะสมองส่วนกลางอยู่ในอารมณ์กลัวและประหม่า ก็เลยพูดจาซ้ำๆวกวน อาจจะเรียกว่าสมองไม่อยากเดินหน้าก็เลยซื้อเวลาด้วยการพูดซ้ำ จะพบบ่อยในคนที่กำลังอยู่ในสถานการณ์ต้องสารภาพผิด ยอมรับผิดหรือกำลังโกหก แต่ในกรณีคุณพิมรี่พายเป็นการพูดยอมรับผิด (Confession) เราจึงเห็นว่าคุณพิมรี่พายวันนี้ดูพูดจาวกวนชักช้า อรัมภบทยืดเยื้อ และพอบวกกับ Hard swallowing ซึ่งเป็นภาษากายที่บ่งบอกถึงความกดดันและเครียดก็ยิ่งเพิ่มน้ำหนัก อาจจะอธิบายด้วยทฤษฐี cognitive dissonance ก็ได้
ในนาที 1:38 คุณพิมพูดต่อว่า “พูดแบบเด็ก พูดกับผู้ใหญ่นะคะ (*) ในฐานะที่เด็ก(*)พูดกับผู้ใหญ่นะคะ พิมกราบขอโทษลุงโทนี่คะ”
ในจังหวะนี้ (*) คุณพิมพ์เอามือขึ้นมาแนบอกแล้วทำท่าผายมือ เธอทำสองครั้งทำให้เห็นว่าจังหวะนี้คุณพิมรี่พายกำลังสื่อว่าเป็นเหยื่อที่น่าสงสารร่วมกับเป็นเด็กน้อยที่ขาดสติและอยากได้การยกโทษจากทั้งสังคมและคุณทักษิณ ชินวัตร ทั้งนี้การผายมือในลักษณะนี้ (Palm up) จะแสดงถึงความจริงใจ (Sincere)
ตอนพูดว่า “เออ…จะ (*)พูดจา หรือ ไตร่ตรองให้มากกว่านี้” จะพบคุณพิมแสดง Jaw confession อีกครั้ง สัมพันธ์กับ ความละอาย (Shame) ความเสียใจ (Sadness) และความรู้สึกผิด (Gulit) ส่วนมือยังมีลักษณะของ Pacifying bahavior อยู่
ถ้าคุณสังเกตการยกมือไหว้ จะพบว่าคุณพิมนี่พายค้างไว้นานกว่าการไหว้ตามปกติ แสดงออกถึงความจริงใจ (sincere) ทั้งนี้คุณพิมรี่พายก็พูดว่า “จะสัญญาว่าจะเป็นเด็กที่น่ารัก กับผู้ใหญ่ที่ดี”
การขอโทษไปและยิ้มไปพลางจะเป็นสิ่งที่เราต้องตั้งข้อสงสัยไว้เสมอ ว่าในใจของคุณพิมรี่พายกำลังคิดอะไรอยู่ถึงได้ยิ้มตอนสารภาพการทำความผิด ? ในจังหวะนี้ไม่มีภาษากายของ Disgust , Contempt หรือ Anger จึงเป็นไปได้ว่าเป็น embarassment (อาย)
สรุปถอดรหัสภาษากายของคุณพิมรี่พาย
จากมุมมองทางภาษากาย(Body Language point of view) สามารถสรุปได้ดังนี้
- คุณพิมรี่พายมีความตื่นเต้นและประหม่ามากในการ live สดครั้งนี้
- คุณพิมรู้สึกผิดและละอายกับสิ่งที่ได้ทำไปกับคุณทักษิณและคนอื่นๆ และก็ลำบากใจที่จะพูดออกมา
- คุณพิมรี่พายมองว่าตนเองเป็นเหยื่อของการกระทำของคุณทักษิณและเจ็บช้ำจากปฎิกิริยาแง่ลบของพ่อแม่พี่น้อง และเขาหวังว่าการออกมาขอโทษจะทำให้สถานการณ์การทำมาค้าขายและความสัมพันธ์ของตนเองกับคนที่โดนปฎิเสธจะดีขึ้น
โดยรวมผมว่ากรณีคุณพิมรี่พายพลาดไปกับการพูดจาถือว่าผิดพลาดเล็กน้อย แต่เขาก็ไม่รีรอที่จะออกปากพูดขอโทษ เป็นการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ดี คุณพิมรี่พายแม้จะดูตื่นเต้นมาก ลนลาน สับสน พูดผิดๆถูกๆ แต่เขาก็มีความจริงใจที่จะขอโทษ
ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น
ขอบคุณครับ