เมษายน 12, 2021

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 22 : นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ เมื่อต้องมาตอบคำถามว่า ซิโนแวค ยังโอเคจริงๆไหม ?

ทันทีที่มีข่าวจากฝั่งจีนมายอมรับประสิทธิภาพของวัคซีน ซิโนแวคว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ลิ้งข่าว Chinese official says local vaccines ‘don’t have high protection rates’ จาก BBC ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในสังคมไทยถึงวัคซีนตัวนี้

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าซิโนแวคเป็นวัคซีนที่แม้แต่บุคลากรทางสาธารณะสุขบางกลุ่มก็ยังปฎิเสธที่จะรับการฉีดวัคซีนยี่ห้อจากจีนอันนี้ เพราะถ้าเปรียบเทียบกับยี่ห้ออื่นๆแล้วจะดูด้อยกว่าในหลายแง่มุม

แต่ทั้งนี้ตัวแทนของกระทรวงสาธารณะสุขก็ยังคงยืนยันว่า “ยังใช้ได้อยู่” ซึ่งคลิปวีดิโอนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ออกมาพูดยืนยันด้วยตนเองตามลิ้ง VDO ยาวประมาน 1 นาที 11 วินาที

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ จะพูดถึงวัคซีน “ด้วยภาษากายอะไรบ้าง” ในวันที่แม้แต่ตัวแทนจากประเทศจีนก็ยืนยันข้อจำกัดของวัคซีนของเขาเอง

บทเรียนครั้งนี้เราจะได้มาเรียนรู้ภาษากายหลายข้อ โดยเฉพาะ “มือ” เพื่อเอามาเรียนรู้ร่วมกัน

หมายเหตุ ภาพที่ผม Capture จะเอามาจาก Facebook เพจ ไทยรู้สู้โควิด เราจะได้เห็นสีหน้าและท่าทางของ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ได้ครบโดยเฉพาะมือของเขา (ถ้าพวกสำนักข่าวมักจะมีกล่องข้อความมาบังมือ) แต่ถ้าคุณจะดูใน Youtube ก็ดูได้จากลิ้งนี้ แต่ Time ของวีดิโอสองตัวนี้จะไม่ตรงกันแต่ผมจะยึดเอาเวลาใน Facebook เป็นหลัก (แต่ถ้าต้องการเอาไปเทียบกับใน Youtube ให้ลบเวลาออก 1:30 นาที)

52:22 – 52:29 Emphasizing with hands

นาที 52:22 – 52:29 รวม 7 วินาที จะสังเกตว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ใช้มือในการเคลื่อนไหวไปมาระหว่างพูดเยอะ (illustrator / Emphasizing with hands)

อธิบายถึงการใช้มือเมื่อกำลังพูดจะมีสองแบบ คือ กลมกลืน (Synchronize) และไม่กลมกลืน (Unsynchronize)

ถ้าในสภาวะทั่วไปที่มนุษย์เรานั้นพูดและคิดไปในทิศทางเดียวกัน (Synchronize) การใช้มือและคำที่พูดจะกลมกลืนและเป็นธรรมชาติ เช่น บรรยายว่าสิ่งที่พูดถึงใหญ่ขนาดไหนแล้วกางแขนจนสุดตัว การยกนิ้วโป้งเวลาพูดชมอะไร เป็นต้น

แต่ใน VDO อันนี้ นพ.โอภาส พยายามใช้มือแต่ไม่ได้สอดคล้องกับการพูดเท่าใดนัก ออกจะพูดขัดๆกัน ทำให้การสับมือและพายมือที่เขาพยายามทำจึงดูไม่เป็นธรรมชาติ นั่นเป็นเพราะเขาตั้งใจจะใช้มือมากเกินไป ลักษณะแบบนี้ถือว่า ไม่กลมกลืน (Unsynchronize) จะพบได้บ่อยในกรณีที่ตื่นเต้นหรือกังวล (Anxiety หรือ Nervous) หรือพยายามจะ action มากเกินไป

52:34 Thumb massaging

ในจังหวะที่พูดว่า “สอง หากติดเชื้อแล้วเจ็บป่วยรุนแรง สามารถป้องกันได้หรือไม่ (*) และอันสุดท้ายคือการป้องกันการเสียชีวิตนะครับ”

ในนาที 52:34 ซึ่งตรงกับสัญลักษณ์ (*) ในประโยคพูดข้างต้น นพ.โอภาส ใช้นิ้วโป้งถูกัน/นวดกัน (จะเห็นชัดในลิ้ง Facebook) เรียกว่า Thump massaging หรือ นวดนิ้ว ในภาษากายคือว่าเป็นพฤติกรรมการปลอบปละโลมตนเองจากความกลัวและวิตกกังวล หรือ Pacifying Behavior (Ref : Pacifying Behavior – Joe Navarro) ถ้ามีใครก็ตามนั่งคุยกับเราแล้วนวดนิ้วตัวเองไปด้วยแบบนี้มักจะแปลว่าอีกฝ่ายกำลังกังวล หรือ กลัว ถ้าใครที่สัมภาษณ์พนักงานใหม่จะพบค่อนข้างบ่อย

แต่ก็จะมีกรณีที่ไม่ได้สัมพันธ์กับความกลัว หรือ กังวล ก็มีได้ เช่น การนั่งรอใครเพลินๆแล้วนวดนิ้วเล่นๆ แต่ในกรณี นพ.โอภาส เขาไม่ได้นวดเล่นๆ แต่เป็น Pacifying Behavior ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ที่ดูสมเหตุสมผลในมุมมองของผม เพราะเราพิจารณาบริบทร่วมด้วยเพื่อแยกแยะและตีความ ไม่ได้ใช้ภาษาชิ้นเดียวโดดๆแต่อย่างใด

52:47 Self touching while answering

นาทีนี้ถือว่าเป็นช้อตสำคัญเลยของคลิปนี้

ในจังหวะที่พูดว่า “วัคซีนนี้ไม่ได้ป้องกัน(*)การติดเชื้อโคโรน่าไวรัสได้ 100 เปอร์เซนต์” ในนาที 52:47 จะสังเกตได้ชัดมากว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ เอามือขวาขึ้นมาถูและรูดกับนิ้วชี้ข้างซ้าย (Self touching while answering) เป็นลักษณะที่ชัดเจนมากๆของ Pacifiying Behavior ที่พยายามปลอบปละโลมตนเองจากความกลัวและกังวล ซึ่งในจังหวะนี้จะชัดเจนยิ่งกว่าตอน Thump massaging ที่กล่าวมาตอนต้น ภาษากายนี้จึงบ่งบอกถึงความกลัวและกังวลของ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อย่างชัดเจน

Pacifiying Behavior จะเกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติโดยส่งงานมาจากสมองส่วนกลาง คือจะแสดงออกตามที่อารมณ์เรารู้สึก สมองส่วนนี้เราเรียกว่า Honest brain คือสมองที่ซื่อสัตย์ คือมีอารมณ์อะไร หรือ รู้สึกยังไงก็จะสั่งร่างกายอย่างงั้น จึงเป็นการแสดงออกตามที่รู้สึก ไม่ใช่ตามที่คิด

ทั้งนี้คุณจะต้องแยกให้ออกกับการใช้มือในลักษณะ Emphasizing with hands ในช่วงต้นซึ่งจะเกิดจากสมองส่วนนอกที่เจ้าตัวพยายามแสดงออกมา

52:56 Self touching while answering

นาที 52:56 ในจังหวะที่พูด “แต่ประสิทธิภาพในการลด (*) อาการ หรือ เวลาป่วย ไม่ให้มีอาการรุนแรง” นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ก็ยกนิ้วขึ้นมาถูกันอีกครั้ง เป็น Pacifiying Behavior เป็นที่ชัดเจนมากๆที่พยายามปลอบปละโลมตนเองจากความกลัวและกังวล

53:24 Hard swallowing

เมื่อพูดเสร็จทั้งหมด ในนาทีที่ 53:24 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ จะกลืนน้ำลายก้อนใหญ่ๆ (Hard swallowing)โดยจะเห็นชัดเจนในลิ้งที่อยู่ใน youtube นาทีที่ 51:54

การกลืนน้ำลายก้อนใหญ่ๆ (Hard swallowing) ในภาษากายจะเป็นปฎิกิริยาของร่างกายที่เกิดแบบอัตโนมัติเมื่อเราเผชิญกับอันตราย ความเครียดและตื่นเต้น และมีความน่าเชื่อถือสูง (Reliable indicator) อธิบายได้คือ พอคนเราตื่นเต้นอัตาการหลั่งน้ำลายจะลดน้อยลง น้ำลายจะเหนียวขึ้นทำให้เกิดการกลืนน้ำลายยากขึ้นจนเห็นการพยายามกลืนได้ชัดจากการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อบริเวณคอ

จะพบบ่อยมากในวีดิโอสัมภาษณ์ต่างๆที่มีการพูดประเด็นเครียดๆ เช่น เมื่อดาราเลิกหย่ากับแฟน หรือ ตอนที่คุณกาละแมร์ออกรายการคุณหนุ่มกรรชัยและต้องตอบคำถามเครียดๆกรณีที่ตนเองทำผิดกฎหมายและถูกคุณหนุ่มกรรชัยถามว่า “ทำไมไม่ปรึกษานักกฎหมายเลย” (ท่านใดสนใจดูได้ใน ลิ้งนี้)

สรุปการถอดรหัสภาษากาย ของ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ เมื่อต้องตอบคำถามเกี่ยวกับซิโนแวค

  • นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ มีความกังวล และความเครียด เมื่อพูดถึงประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค
  • ไม่มีภาษากายใดๆของ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ที่แสดงถึงความมั่นใจ (Confident) เมื่อพูดถึงวัคซีนซิโนแวค

และสุดท้ายนี้ ผมขอย้ำว่าภาษากายไม่ได้มีไว้เพื่อใช้ตัดสิน (Justified) ว่าใครโกหก หรือ พูดจริง พูดเท็จใดๆ แต่ภาษากายเอามาใช้อธิบายถึงความคิดและอารมณ์ของบุคคลหนึ่ง ในช่วงเวลาหนึ่ง เท่านั้น เพราะฉะนั้นจะต้องระมัดระวังในการตีความให้อยู่ในกรอบที่ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นอาจจะไปละเมิดแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้เสมอ

ขอให้ทุกท่านปลอดภัยจากโควิด และ สนุกกับการเรียนรู้นะครับ

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *