ณ เวลาที่ผมกำลังเขียนบทความนี้ นาย บรรยิน ตั้งภากรณ์ ได้ถูกตัดสินประหารชีวิตเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 จากคดีฆาตกรรมนายชูวงศ์ผู้ซึ่งเป็นเพื่อนสนิท เพราะต้องการหุ้นจำนวนเงินเกือบ 300 ล้านบาท (สำหรับท่านที่ไม่ทราบว่านาย บรรยิน ผู้ซึ่งเป็นถึงอดีตรัฐมนตรีคือใครอ่านดูได้ในลิ้งนี้) เพราะฉะนั้นนายบรรยินจึงมีสถานะเป็นอาชญากร หรือ ผู้ซึ่งกระทำความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายไทย
คลิปนี้เกิดขึ้นสมัยปี 2558 ณ เวลานั้น นายบรรยิน ตั้งภากรณ์เป็นผู้บริสุทธิ์ และเป็นเพียงผู้ต้องหาในคดีหุ้น และเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีการเสียชีวิตของนายชูวงศ์ ผู้ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทและทำธุรกิจร่วมกันหลายอย่าง
คลิปนี้ นาย บรรยิน ตั้งภากรณ์ ได้พูดเหมือนใส่ร้ายครอบครัวนายชูวงศ์ พร้อมการสร้างเรื่องว่านายชูวงค์มีเรื่องชู้สาวโดยปราศจากหลักฐานและยังสร้างเรื่องราวว่ามีอดีตผู้พิพากษาอยู่เบื้องหลังคดีนี้ อาจกล่าวได้ว่าทุกอย่างที่ นาย บรรยิน ตั้งภากรณ์ พูดในคลิปอันนี้หลายประเด็นนั้นไม่เป็นความจริงจากการพิสูจน์ในเวลาต่อมา เคสนี้จึงมีความน่าสนใจหลายประการ และเหมาะอย่างยิ่งที่จะวิเคราะห์ภาษากายที่พบในวีดิโอ
นายบรรยินพูดว่า “เป็นผู้พิพากษาอาวุโส ที่เดินตามตูดผู้หญิงคนนี้ (*)..คนในสังคมเขารู้ดีว่าเป็นใคร”
ในจังหวะ (*) ซึ่งคือนาทีที่ 1:54 นายบรรยินแลปลิ้นออกมาเล็กๆ (Lose Tongue jut) เป็นลักษณะที่พบได้เสมอเวลากำลังโกหก หรือ กำลังกุเรื่อง หรือ ต้องโน้มน้าวผู้อื่นให้เชื่อในสิ่งที่เรากำลังพูดอยู่ ภาษากายอันนี้จะพบเห็นบ่อยในคลิปสัมภาษณ์อื่นๆของ นาย บรรยิน ตั้งภากรณ์ ด้วย
Lose Tongue Jut จะต้องแยกให้ออกกับภาษากายที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น การเลียริมฝีปาก (Licking Lips) หรือแลปลิ้นแบบเกร็ง (Tight tongut jut)
จังหวะที่พูดว่า มีครอบครัวอยู่แล้ว และก็ (*) มาสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ…..” ใน นาที 2:00 จะสังเกตมุมปากข้างซ้าย กระตุกขึ้น เป็นผลจากการหดตัวของกล้ามเนื้อ Zygomaticus major ข้างขวา และโหนกแก้มขึ้นยกขึ้นตามมาซึ่งโหนกนี้คือ Malar fat หรือก้อนไข้มันที่อยู่ชั้นบนต่อโหนกแก้ม
ปฎิกิริยานี้เกิดขึ้นเร็วมากในระดับเสี้ยววินาที ในภาษากายจะเรียกว่า Micro expression ของอารมณ์ดูถูกเหยียดหยาม (Contempt)
ต่อมา จังหวะที่พูดว่า “มีครอบครัวอยู่แล้วแต่ก็มาสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ…(**)… คนที่มาร้องทุกข์ทั้งหลายแหล่เนี่ย…นะครับ ” ในจังหวะนี้ คุณบรรยินหยุดพูดขึ้นชั่วคราว และกลืนน้ำลายก้อนใหญ่ๆ (Hard swallowing) และกินเวลานานถึง 2 วินาทีถึงจะพูดต่อได้ และยังพบ diminished eye contact โดยแสดงออกเป็นการก้มหน้าเพื่อหลบสายตา จะพบบ่อยในคนที่กำลังโกหก ปิดบัง หรือมีอารมณ์ลบสูง (Negative emotion)
ตอนพูดว่า “ต้องการจะใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือ เพื่อที่จะอายัดหุ้นไว้(*) ” ในนาที 2:15 จะเห็นว่านายบรรยินมีรอยยิ้มเล็กน้อยโผล่ขึ้นมาให้สังเกต เรียกว่า Duping Delight หรือ ร้อยยิ้มของความเจ้าเล่ห์ เพราะกำลังมีอารมณ์จากความรู้สึกสนุกและตื่นเต้น ซึ่งในที่นี้ อาจจะรู้สึกสนุกที่กำลังพูดหลอกผู้สื่อข่าวอยู่
ถ้าสังเกตตลอดช่วงระยะเวลาสัมภาษณ์ คุณบรรยิน จะแสดง Duping Delight ออกมาหลายครั้ง
คนเราเวลาโกหก ให้จำไว้ว่าถ้าเขายิ้มออกมาโดยที่ ณ เวลานั้นไม่ได้คุยเรื่องตลก หรือ กำลังสนุก ย่อมถือว่าเป็นการยิ้มที่ผิดบริบท (Smiling out of Context) เป็นสัญญาณที่สำคัญที่เราจะตั้งประเด็นและข้อสงสัยว่าเจ้าตัวกำลังโกหกอยู่
“เขารู้ว่าถ้าเกิด (*) … รอให้แต่งตั้งผู้จัดการมรดก” และมีการหยุดพูดช่วงสั้นๆ หลัง Micro expression “Contempt”
นักข่าวถาม “เท่ากับว่า (*) คุณบรรยิน ทราบข้อมูล…..”
ในจังหวะ สัญลักษณ์ (*) ซึ่งตรงกับนาที 2:30 จะพบการมองต่ำ/หลบการจ้องตา (Diminished eye contact) ร่วมกับการกลืนน้ำลายก้อนใหญ่ดังอึก (Hard swallowing) สองภาษากายนี้บ่งบอกถึงความตื่นเต้น ความเครียด และหลายครั้งสัมพันธ์กับการโกหก ปกปิด หลอกลวง (Deception) คนเราโกหกมักพบภาษากายของการมองต่ำและไปทางขวา (Lower Right Quadrant)
“แล้วเป็นคนวางแผน(ผู้พิพากษาอาวุโส) เกมส์นี้ให้เกิดขึ้นไง(*)” ในนาที 3:00 พบ Lose tongue jet อีกครั้ง ร่วมกับ diminised eye contact
นักข่าวถาม “การฟ้องร้องเดินหน้าครั้งนี้ เพื่อผลประโยชน์ของครอบครัวมากกว่าจะต้องการทราบว่านายชูวงค์ตายยังไง (*)ใช่ไหมคะ”
นาที 3:09 ถึง 3:11 นายบรรยิน เผยรอยยิ้มเป็น Duping Delight ออกมา เป็นลักษณะ Contempt และถ้าสังเกตประโยคที่นักข่าวมาขึ้นก่อนที่บรรยินจะยิ้ม บอกได้ทันทีว่านายบรรยินพอใจกับคำสรุปของนักข่าวคนนั้น ที่พูดว่าคุณบรรยินมีความตั้งใจจะทำเพื่อผลประโยชน์ของครอบครัวนายชูวงค์ เขาจึงยิ้มออกมาแบบเจ้าเล่ห์ในแบบที่แม้คุณจะไม่ได้เชี่ยวชาญภาษากายก็มองออกว่าในใจคุณบรรยินรู้สึกยังไง
เคสคุณบรรยินเป็นเคสที่ง่าย และตรงไปตรงมาจึงเป็นเคสที่เหมาะมากสำหรับท่านที่อยากเริ่มต้นศึกษาการถอดรหัสภาษากาย และศึกษาภาษากายของคนที่ไม่ได้พูดความจริงแถมมีความมั่นใจในตัวเองสูง ว่าตนจะหลุดรอดจากปัญหาไปได้
ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น