ตุลาคม 16, 2024

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 175 : มิน พีชญา ร้องไห้ …จริงๆ หรือเป็นเพียงการแสดง ?

จากการแถลงข่าวของคุณ มิน พีชญา ว่าตนเป็นแค่พรีเซนเตอร์รับจ้างให้กับบริษัท The Icon group ในวันที่ 11 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นการแถลงข่าวที่สังคมเกิดความเคลือบแคลงใจ เพราะสิ่งที่แถลงข่าวตรงกันข้ามกับสิ่งที่คุณมิน เคยจับไมค์ขึ้นเวทีในงานของบริษัท The Icon group (ลิ้ง)

ในการแถลงข่าวนี้มีหลายท่านสังเกตพบคุณมินร้องไห้และมีการยกมือขึ้นมาเช็ดน้ำตาหลังจากการแถลงข่าว สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษากาย คือ การร้องไห้ในลักษณะนี้เขาร้องไห้เสียใจ หรือว่าเป็นแค่การแสดงเพื่อให้คนสงสาร ? โพสนี้ผมจึงมาวิเคราะห์เกี่ยวกับการร้องไห้เสียใจ

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด : ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์

ร้องไห้เพราะเสียใจ vs ร้องไห้เพราะการแสดง

การร้องไห้เพราะมีอารมณ์ของความเสียใจ จะมีภาษากายหลายอย่างปรากฎพร้อมกัน และผมเชื่อว่าทุกท่านคุ้นเคยเป็นอย่างดี ผมยกตัวอย่างมาบางส่วนให้ดังนี้

1.มีน้ำมูก

ถ้าเสียใจในระดับที่จะร้องไห้ออกมา สิ่งที่สังเกตง่ายที่สุดคือการมีน้ำมูก

น้ำมูกจะถูกสร้างภายในช่องจมูก (Sinus) จะเกิดอาการคัดจมูกพยายามสูดเอาน้ำมูกกลับเข้าไป (Sniffing)เพราะมิเช่นนั้นน้ำมูกจะไหลออกมาเลอะเทอะ หรือ เราอาจจะยกมือ หรือ แขนเสื้อขึ้นมาเช็ดน้ำมูก และถ้าเช็ดมากๆก็จะพบว่าจมูกจะแดง

คนที่เสียใจร้องไห้เราจะพบน้ำมูกเสมอ และน้ำมูกนำพาให้เกิดภาษากายหลายอย่างตามมา พูดง่ายๆ คือน้ำมูกเป็นจุดตั้งต้นของภาษากายต่างๆนั่นเอง

2.ก้มหน้าหลบตา

เวลาคนเราเสียใจ เรามักไม่อยากสบตาใครและบ่อยครั้งที่จะก้มหน้า เป้นที่มาของประโยค “ก้มหน้าร้องไห้”

3.หายใจยากขึ้น

จากที่กล่าวมาเกี่ยวกับน้ำมูก จะส่งผลต่อเนื่องจะพบอาการของการสะอื้นร้องไห้ โทนเสียงเปลี่ยนไป การหายใจจะยากขึ้นเพราะน้ำมูกที่ผลิตออกมาจะเต็มช่องจมูก ถ้ามากขึ้นสุดจะต้องสั่งออกมาเพราะน้ำมูกจะล้นจนตันรูจมูกทำให้หายใจไม่ออก และเมื่อต้องหายใจทางปากช่วยก็จะทำให้รูปแบบการหายใจติดขัดและอาจพบอาการหอบคล้ายๆคนที่หอบเหนื่อย

4.สีหน้า (Facial expression) ที่ชัดเจนของความเสียใจ (Sadness) 

ความเสียใจมีสีหน้าที่เป็นรูปแบบตรงตัว ซึ่งจะประกอบการหดตัวของมัดกล้ามเนื้อ Action Unit 1 ,4 และ 15 คือ Frontalis และ Depressor Supercilii ทำให้เห็นลักษณะของคิ้วที่หดตัวเข้าหากันและหัวคิ้วยกขึ้น และที่มุมปากทั้งสองข้างจะถูกดึงลงจากกล้ามเนื้อ Depressor Anguli oris และเปลือกตาบนบริเวณ 1/2 Lateral จะหย่อนกว่าปกติทำให้ปกคลุมม่านตา (Iris) ราว 1/3

5.น้ำตา

ถ้าเสียใจเราอาจจะพบน้ำตา

แต่การมีน้ำตาไม่ได้แปลว่าเสียใจเสมอไป เพราะคนเราสามารถบีบน้ำตาออกมาได้ วิธีการง่ายที่สุดคือเอามือขยี้ตาแรงๆ เกร็งกล้ามเนื้อรอบดวงตา หรือ กระพริบตาแรงๆแบบย้ำๆ ก็จะทำให้เกิดน้ำตาคลอเบ้าและเกิดน้ำตาไหลออกมาได้ โดยมากในการวิเคราะห์ภาษากายเรามักไม่ค่อยให้น้ำหนักกับน้ำตา เพราะมีภาษากายอื่นๆ ที่แม่นยำกว่าเอามาพิจารณา

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในศาสตร์ภาษากาย และเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนที่สนใจเท่านั้น บุคคลอ้างอิงในเวปไซด์จะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube) เป็นต้น การตีความและอธิบายภาษากายไม่มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนในเชิงการเมือง หรือ มีจุดประสงค์ที่จะละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *