กรกฎาคม 4, 2024

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 173 : คุณณภัทร เสียงสมบุญแถลงข่าวกรณีข่าวลือว่าเลิกกับคุณใบเฟิร์น

มีข่าวลือในช่วงไม่กี่วันนี้ว่าทั้งคู่ (นาย-ใบเฟิร์น) เลิกรากันทั้งที่เพิ่งคบกันไม่นาน และค่อนข้างมีความซับซ้อนเพราะเกี่ยวกับญาติผู้ใหญ่ในครอบครัว ทั้งนี้เพื่อให้ข่าวและเสียงลือนั้นไม่ดำเนินไปในทิศทางผิดๆ (ออกทะเล) คุณณภัทร เสียงสมบุญ จึงออกมาแถลงข่าวด้วยตัวเองเพื่อให้ความกระจ่างของเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง

การออกมาแถลงข่าวเรื่องปัญหาส่วนตัวและปัญหาความสัมพันธ์ของดาราเป็นเรื่องที่เราจะพบเจอตามข่าวบ่อยๆ เพราะบุคคลกลุ่มนี้เป็นคนที่ประชาชนติดตามข่าวคราวเยอะ ถ้ามีประเด็นที่ละเอียดอ่อนเกิดขึ้นเจ้าตัวก็จำเป็นที่จะต้องออกมาแถลงข่าวเพื่อให้ความชัดเจนแก่สังคม อีกทั้งเพื่อหยุดและสกัดข่าวลือที่อาจจะเป็นเท็จเพื่อจะปกป้องเกียรติและชื่อเสียงของตนเองและคนใกล้ชิด

ทั้งนี้จากที่เราเห็นในอดีตของการแถลงข่าวของดาราในประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน ก็จะพบเจอทั้งเคสที่รับมือกับสถานการณ์ได้ดีและไม่ดีปะปนกันไป

ในเคสคุณณภัทรและคุณใบเฟิร์นผมมีความเห็นว่าคุณณภัทรแถลงข่าวและรับมือกับสถานการณ์ได้ดี และมีประเด็นของภาษากายที่น่าเรียนรู้ร่วมกันสำหรับคนที่สนใจศึกษาภาษากาย

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด 

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
hand rubbling
Cluster of body language

ตาม timestamp ใน VDO นาที 3:34 ซึ่งเป็นจังหวะที่เจ้าตัวกำลังเดินไปโต๊ะแถลงข่าว จะสังเกตภาษากายได้ดังนี้

  • การถูมือ (Hand rubbing) เป็นภาษากายที่พบได้บ่อยเมื่อตื่นเต้น (feeling of excited) ทั้งนี้จะต้องแยกออกจากการถูมือเพราะหนาว หรือ ถูมือในเชิงความหมายของวัฒนธรรม (Culture dependent)
  • ขากรรไกรล่างที่ยื่นมาด้านหน้า (Mandible moving forward) และกล้ามเนื้อบริเวณกรามหดเกร็ง (Masseter) มีการกัดฟันแน่น (Clenching jaw) แสดงถึงความตื่นเต้นและพยายามสะกดอารมณ์และอาการ

โดยรวมจะอธิบายได้ว่าเจ้าตัวมีภาษากายของความตื่นเต้นและพยายามเก็บอาการและสีหน้าเอาไว้

ทั้งนี้ความรู้สึกย่อมไม่สามารถปิดได้มิด เพราะภาษากายจะแสดงออกเสมอตามสภาวะอารมณ์ที่เกิด

ซึ่งแม้จะเป็นดาราหรือนักแสดงก็ไม่สามารถซ่อนภาษากายได้ทุกอย่างตลอดเวลา

Hands in pocket

นาที 4:02 นักข่าวท่านหนึ่งด้านข้างพูดว่า : เริ่มเลยนะคะ

คุณณภัทร : ได้ครับ

จะพบว่าคุณณภัทรเอามือล้วงกระเป๋านาน 4 วินาทีก่อนจะยกมือขึ้นมาไหว้ผู้สื่อข่าว

การที่จู่ๆ คนเราเปลี่ยนอิริยาบถแล้วเอามือล้วงกระเป๋าก็มีความหมาย เพราะนอกจากจะเป็นท่าทางทั่วไปที่อาจไม่ได้มีความหมาย หรือเพียงแค่ไม่รู้จะเอามือไปวางไว้ที่ไหน ยังเป็นภาษากายที่ปรากฎออกมาเมื่อเราต้องการความปลอดภัย หรือ เพื่อป้องกันตัวเองในทางจิตใจ

เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าเขายินดีจะตอบหรือเปิดเผยทุกสิ่งทุกอย่างหรือไม่ ? ผมคิดว่าภาษากายของเขาโดยเฉพาะอิริยาบทของมือที่ผันแปรในจังหวะนี้ก็พอจะบอกเราได้ (ว่าเขาไม่บอกทั้งหมด/ทุกอย่าง)

ซึ่งเป็นประเด็นที่เข้าใจได้เพราะหลายเรื่องเป็นเรื่องในครอบครัวและส่วนตัวมาก ๆ (ใครจะไปเล่าทุกอย่าง !)

illustrator
illustrator

หลังจากยกมือไหว้ และเริ่มเกริ่นจะพบว่าคุณณภัทรจะใช้มือประกอบการพูด (illustrator)

มือประกอบเป็นภาษากายที่ช่วยเพิ่มความชัดเจนและประสิทธิภาพให้การสื่อสารโดยรวมมีความชัดเจนและดียิ่งขึ้น และเป็นท่าทางอย่างหนึ่ง (Gesture) ที่ทำให้รู้ว่าเจ้าตัวมีแนวโน้มที่จะพูดความจริงอย่างจริงใจตรงไปตรงมา

ทั้งนี้จะต้องดูด้วยว่ามือประกอบนั้นไปในทิศทางเดียวกับคำพูด หรือ ขัดแย้งกันหรือไม่อย่างไร ซึ่งในจังหวะนี้พบว่ามีลักษณะที่สอดประสานและไปในทิศทางเดียวกับคำพูด

Cluster of body language

นาที 4:40 – 4:49 ณภัทร : ผมก็ยังต้องทำงานของผมตามปกติ เออ แล้วก็ อ่า (*) อย่างที่แจ้งไปให้ทุกคนได้ทราบครับว่า ผมก็พยายามบริหารจัดการสิ่ง(**)ที่มันเกิดขึ้น

  • จะพบ inward lip roll หรือ การเม้มปากในจังหวะ (*) การเม้มปาก (inward lip roll) เป็นภาษากายที่เกิดโดยปราศจากการบังคับโดยเจ้าตัว (Subconcious) จะสัมพันธ์กับการสะกดอารมณ์ลบ หรือ กลั้นอารมณ์ลบที่เกิดขึ้น (Concealing strong negative emotion) เช่น การกลั้นอารมณ์เสียใจ อึดอัดใจ ความทุกข์ หรือ ความเครียด
  • จะพบการกะพริบตาที่นานกว่าปกติ (Prolong eye closure) จนดูเหมือนคล้ายกับหลับตาสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อเราต้องมองในสิ่งที่เราไม่ชอบไม่อยากมอง และยังรวมถึงสิ่งที่พูดถึงที่ไม่ใช่สิ่งของที่อยู่เบื้องหน้า

“สิ่งที่มันเกิดขึ้น” ที่คุณณภัทรพูด อาจจะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนในครอบครัวหรือกับเรื่องราวระหว่างเขากับคุณเฟิร์น ทำให้มีภาษากายที่แสดงถึงการกลั้นและซ่อนอารมณ์ในจังหวะที่เขากล่าวถึง

กลืนน้ำลาย (Hard swallow)
lateral jaw movement
กระแอม/ไอ (Cough / Clear throat)

นาที 5:31 – 5:34 นักข่าว : สาเหตุหลักที่ทำให้ตัดสินใจแบบนี้ เกิดจากอะไร

จังหวะที่นักข่าวถาม จะพบภาษากายหลายอย่างดังนี้

  • กลืนน้ำลาย (Hard swallow) ในสภาวะปกติธรรมดา (Neutral state) คนเราจะไม่กลืนน้ำลาย แต่ถ้าเราอยู่ในสภาวะที่ตื่นเต้นเราจะกลืนน้ำลายบ่อยขึ้น ที่เป็นเช่นนั้นเพราะระบบ sympathetic ของร่างกายถูกกระตุ้นและส่งผลให้การผลิตน้ำลายลดลง (decrease in saliva production) น้ำลายขึ้นมีความเข้นและเหนียวมากขึ้นทำให้ต้องใช้ความพยายามในการกลืนมันลงไป
  • lateral jaw movement จะพบบ่อยในสถานการณ์ที่มีอารมณ์ลบประเภทรู้สึกผิด ละอาย และอึดอัดลำบากใจ เช่นเวลาเจอคำถามที่ละเอียดอ่อนแล้วจะต้องระวังคำพูด
  • กระแอม/ไอ (Cough / Clear throat) จะเกิดด้วยกลไกเดียวกับที่อธิบายเรื่อง Hard swallow ทั้งนี้จะต้องแยกให้ออกระหว่างการเจ็บคอ หรือ ระคายคอจากการติดเชื้อหรืออักเสบ แต่ถ้าจะวัด sincerelity ด้วยจะต้องดูภาษากายอื่นประกอบ เช่น facial expression และการใช้มือ

สรุป

ทุกครอบครัวย่อมมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ไม่มากก็น้อยซึ่งเราล้วนทราบสิ่งนี้ดี และหลายครอบครัวอาจจะมีปัญหาและความยุ่งยากที่ยิ่งกว่าด้วยซ้ำ ทั้งนี้มันก็เป็นก้าวหนึ่งก้าวในชีวิตที่คุณณภัทรและครอบครัวจะต้องเดินผ่านไปมันคือวิถีของชีวิตของมนุษย์ที่เราต้องเรียนรู้ ยอมรับ และแก้ไขเท่าที่จะทำได้

ในเคสนี้ก็มีภาษากายปลีกย่อยที่น่าเรียนรู้ และคุณณภัทรเองก็มีภาษากายกับบุคลิกที่ดีในหลายแง่มุม

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *