กุมภาพันธ์ 13, 2024

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 172 : พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เมื่อถูกถามเรื่องของคุณทักษิณ ชินวัตร

ตอนนี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีการกระทรวงยุติธรรม เป็นที่จับตาของนักข่าวหลายท่านเพราะนักข่าวอยากจะสอบถามเรื่องอนาคตของการเป็นนักโทษของคุณทักษิณ ชินวัตร โดยเฉพาะการได้ลดโทษในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้

เคสนี้ก็มีภาษากายที่น่าสนใจให้ศึกษาดังนี้ครับ

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด 

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์

นาที 0:28 ช่วงที่นักข่าวถามคำถามเกี่ยวกับคุณทักษิณ ว่าคุณทวีได้รับรายชื่อหรือไม่ จะพบภาษากายดังนี้

  • เม้มปาก (inward lip roll)  เป็นภาษากายที่เกิดโดยปราศจากการบังคับโดยเจ้าตัว (Subconcious) จะสัมพันธ์กับการสะกดอารมณ์ลบ หรือ กลั้นอารมณ์ลบที่เกิดขึ้น (Concealing strong negative emotion) เช่น ความกลัว ความเครียด จะพบได้บ่อยใน สถานการณ์ที่ถูกนักข่าวจีถามคำถามที่ละเอียดอ่อนและไม่สามารถตอบตรงไปตรงมาได้
  • เกร็งริมฝีปาก (Lips compression) เป็นภาษากายที่มีความหมายคล้ายกับ Forward lip ที่เป็นการเกร็งริมฝีปากที่ดูคล้ายการทำปากจู๋ เป็นภาษากายที่มีพบเมื่อจะ ซ่อน หรือ ปกปิดความจริง หรือ ซ่อนเจตนาอะไรบางอย่างไว้ (Holding back information) ในภาษากายมักมีความหมายว่าบ่งบอกว่าสิ่งที่พูดอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่อยู่ในใจ
  • กระพริบตาถี่ (Increase blinking rate) สัมพันธ์กับความตื่นเต้น (Anxiety) โดยคนเราจะกระพริบตาถี่และเร็วขึ้น 5-10 เท่าขึ้นไปเมื่ออยู่ในสภาวะตื่นเต้น
  • การกลืนน้ำลายก้อนใหญ่ (Hard swallowing) มักพบเวลามีอาการตื่นเต้น เครียด และหวาดกลัว และจะชัดเจนและถี่มากยิ่งขึ้นตามความรุนแรงของอารมณ์ สามารถอธิบายจากการร่างกายจะลดการทำงานของระบบย่อยอาหารทำให้ลดการหลั่งน้ำลายและน้ำย่อย น้ำลายจะเหนียวและข้นทำให้ต้องพยายามกลืนน้ำลายจนเห็นการเคลื่อนไหวของลูกกระเดือกที่ลำคออย่างชัดเจน พร้อมกับกล้ามเนื้อบริเวณคอจะมีการหดเกร็งกว่าในสภาวะปกติ ทั้งนี้จะต้องแยกออกจากความผิดปกติที่เรียกว่าภาวะกลืนลำบาก (Dysphagia)

โดยรวมจะพบภาษากายของความไม่มั่นใจ ซ่อนเร้น ปิดบัง และตื่นเต้น

นาที 0:35 ช่วงตอบคำถามนักข่าวว่า “เผอิญวันนี้ มาทำงานที่นี่นะ วันพรุ่งนี้คงจะได้ตอบคำถาม” จะพบภาษากายดังนี้

  • การกะพริบตาที่นานกว่าปกติ (Prolong eye closure) จนดูเหมือนคล้ายกับหลับตาสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อเราต้องมองในสิ่งที่เราไม่ชอบไม่อยากมอง
  • หลบตาและมองต่ำ (Looking downward) การก้มหน้ามองต่ำ ซึ่งการละสายตาจากนักข่าวและก้มหน้าตอบ ในภาษากายมักสัมพันธ์กับความไม่มั่นใจ รู้สึกผิด และละอาย ในภาษาไทยเรามีคำพูดที่ตรงตัวคือคำว่า “ไม่กล้าสู้หน้า” การละสายตาแล้วมองต่ำไม่ว่าจะลงล่างตรง ซ้าย หรือ ขวา มักจะสัมพันธ์กับอารมณ์ลบประเภท รู้สึกผิดและละอาย เช่นในสถานการณ์ที่คนเรากระทำความผิด โกหก หรือ ปกปิดความจริง
  • เกาหู (Scratching ear) คนเราถ้าตื่นเต้น โดยเฉพาะความตื่นเต้นที่เกี่ยวกับการทำผิด (Deception) เราจะรู้สึกคันบริเวณใบหน้ามากกว่าปกติ และมักพบภาษากายของการเกาใบหน้าและหู เช่นในตัวอย่างนี้ ซึ่งปรากฎการณ์นี้อาจอธิบายได้จากการที่เราโฟกัสความสนใจในบางสิ่งบางอย่าง (เช่น การคิดคำพูด โกหก ปิดบัง) และจะทำให้ผิวหนังของเรารู้สึกไว้ต่อการรับรู้มากขึ้น (increase in tactile sensitivity) หลายคนจึงรู้สึกคันมากขึ้นอย่างไม่รู้ตัว และถ้าเดิมที่รู้สึกคันบริเวณนั้นอยู่แล้ว เช่น ยุงกัด ก็จะรู้สึกคันมากขึ้นกว่าปกติ

สรุป

ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่เราสามารถเห็นและเรียนรู้ภาษากายมากมายจากเคสนี้ อีกทั้งภาษากายก็มุ่งตรงไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้แม้ว่าคุณทวีจะไม่ตอบคำถามใดใดใดเกี่ยวกับคุณทักษิณและปัดไปว่าตอบในวันรุ่งขึ้น แต่ภาษากายของเขาได้พูดแทนปากของเขาว่าเขารู้สึกอย่างไรกับคำถามที่นักข่าวถาม

ส่วนตัวผมคิดว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่คุณทักษิณจะได้พ้นโทษเร็วและออกคุกภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้ นะครับ

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในศาสตร์ภาษากาย และเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนที่สนใจเท่านั้น บุคคลอ้างอิงในเวปไซด์จะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube) เป็นต้น การตีความและอธิบายภาษากายไม่มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนในเชิงการเมือง หรือ มีจุดประสงค์ที่จะละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *