รายการของคุณสรยุทธมีความน่าสนใจเสมอ จากสไตล์การถามที่ตรงประเด็นและเป็นคำถามที่ใครหลายคนอยากจะถาม อย่างเช่นคลิปวิดีโออันนี้ที่คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้รับเชิญมาในรายการ
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
นาที 0:15 คุณสรยุทธ ถาม “คุณพบคุณทักษิณมาจริงไหม ?”
คุณธนาธร ตอบว่า “(*)ก็ต้องบอกว่า มันก็เป็นเรื่องปกติ (**)ที่พบปะพูดคุยกับ เออ….นักการเมืองทั่วไป”
จะพบภาษากายเป็นกลุ่ม (Cluster of body language ดังนี้)
- จังหวะ (*) จะพบว่าคุณธนาธรหยุดสบตาและมองไปทางอื่น (Break eye contact) เป็นการช่วยลดความกดดันที่เกิดขึ้นเพราะปกติการสบตาจะเกิดสภาวะที่เครียดได้และถ้าบวกกับเจอคำถามที่ละเอียดอ่อนเช่นนี้จะยิ่งเพิ่มความเครียดและกดดัน
- และจังหวะเดียวกันนั้นเขาก็มีรอยยิ้มปรากฏขึ้นมา (Smile) ก็น่าสนใจ ว่าจังหวะนี้ทำไมถึงมีรอยยิ้มเกิดขึ้น
- จังหวะ (**) จะพบการกะพริบตาที่นานกว่าปกติ (Prolong eye closure) จนดูเหมือนคล้ายกับหลับตาสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อเราต้องมองในสิ่งที่เราไม่ชอบไม่อยากมอง
- และจังหวะเดียวกันพบการยักไหล่ (Shoulder shrug) เป็นภาษากายที่มีความหมายว่าฉันไม่แคร์ หรือ จะให้ฉันทำยังไงล่ะ
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ลักษณะคำตอบของคุณธนาธร จากที่คุณสรยุทธถามว่าคุณ “พบคุณทักษิณมาจริงไหม”
คำตอบที่ควรจะตอบมีแค่สองคำตอบคือ ใช่ หรือ ไม่ แต่สิ่งที่คุณธนาธรตอบกลับมาเป็นคำอธิบายเพื่อทำให้เหตุการณ์นั้นดูเป็นเรื่องปกติธรรมดา (Normalization)
นาที 0:49 คุณสรยุทธถาม “คุณไม่มีอำนาจเหนือพรรคก้าวไกล ?”
หลังจากคำถามคุณสรยุทธ จังหวะนี้พบภาษากายทั้งหมดสามอย่าง
- คุณธนาธรใช้มือซ้ายหยิบปากกาที่อยู่บนโต๊ะขึ้นมา และนำมาถือไว้ในมือ (ไม่ได้เขียน หรือ ใช้ในลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของมือประกอบ) การจับโน่นนี่บนโต๊ะแบบไม่มีความหมายและไม่สัมพันธ์กับบริบทแวดล้อมใดๆ ในทางจิตวิทยาอธิบายได้ว่าเป็นชั่วขณะที่จิตใจรู้สึกขาดความมั่นใจไปชั่วครู่และจิตต้องการปรับความมั่นใจขึ้นมาให้เท่าเดิม (Compensation) ฝรั่งบางท่านเรียก Adaptor บ้างเรียก Pacifyer ส่วนชาวบ้านคนไทยเราอาจเรียกว่าการแก้เก้อ แก้เขิน ก็พอได้ความหมายอยู่ ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าเจ้าตัว “ไม่มีความมั่นใจ” แต่ต้องเข้าใจว่าอารมณ์และความรู้สึกไม่ได้อยู่นิ่ง เพราะมีการเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนไปมาได้ตลอดเวลา และจากการแสดงออกทางภาษากายก็ทำให้เราการกระทำดังกล่าวออกมา ทั้งนี้สภาวะความไม่มั่นใจที่เกิดมีการชดเชยเร็ว เพราะหลังจากจังหวะนี้เราก็ไม่พบภาษากายใดในลักษณะ Beta posture
- กะพริบตานานค้างเกือบ 2 วินาที (ดังที่กล่าวมาแล้ว)
- พบรอยยิ้ม (ดังที่กล่าวมาแล้ว)
สรุป
คุณธนาธรเป็นบุคคลที่มีบุคลิกภาพดีและมีภาษากายที่ค่อนข้างนิ่งและความมั่นใจซึ่งถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีที่น่าศึกษา และเกือบตลอดรายการเราจะเห็นภาษากายที่ดูมั่นใจไม่เหลาะแหละตื่นเต้น
ทั้งนี้ภายใต้ของความมั่นใจของคุณธนาธรก็มีบางจังหวะที่เราสามารถสังเกตเห็นภาษากายของความไม่มั่นใจที่เกิดขึ้นชั่วขณะ ซึ่งเป็นจังหวะที่คุณสรยุทธถามเกี่ยวกับคุณทักษิณและการมีอำนาจในพรรคก้าวไกลของเขา
คำถามท้ายบท
คุณคิดอย่างไรกับคำตอบของคุณธนาธร ทั้งเรื่องการคุยกับคุณทักษิณ ชินวัตร และคำถามที่ว่าเค้ายังมีอำนาจในพรรคหรือไม่ ?
คุณให้ความน่าเชื่อถือในระดับใด ?
ขอให้สนุกกับการเรียนรู้
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)