สิงหาคม 28, 2023

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 164 : คุณเนม ในรายการ Hashtag โทนเสียงเมื่อพูดถึงเคสอากงในคดี 112

คุณเนม (น.ส.รติศา วิเชียรพิทยา) เป็น influencer / Content creator ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง เป็นเจ้าของรายการใน Channel youtube ที่มีคนสนใจติดตามเป็นจำนวนมากชื่อ รายการ Hashtag

ผมมีโอกาสติดตามรายการ Hashtag ของคุณเนมมาสักระยะเพราะชอบการนำประเด็นสังคมที่ติดอันดับฮิตใน Hashtag ของ Twitter โดยนำมาสรุปเป็นรายการขนาดสั้นประมาน 10 กว่านาที ซึ่งช่วยทำให้คนที่งานยุ่งๆ แบบผมมีโอกาสติดตามข่าวสังคมเทรนด์กับเขาได้แบบประหยัดเวลา อีกสิ่งที่ผมชอบ คือ คุณเนมมีการลงมือค้นคว้าหาข้อมูล คัดกรองและเรียบเรียงมาเล่าสู่กันฟังอย่างมีศิลป์มีคารมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนวันที่ผมเขียนบทความนี้มีผู้ติดตาม 5 แสน 8 หมื่นกว่าคน ซึ่งถือว่าเยอะมากๆ

ใน VDO ที่มียกมาคุยในบทความนี้จะไม่ได้เป็นประเด็นของภาษากายในลักษณะของ Gesture (ท่าทาง)หรือ Facial expression (สีหน้า) ที่ผมเขียนประจำ แต่ผมจะพูดถึงโทนเสียงและน้ำเสียงของเธอในบางจังหวะใน VDO นี้

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด 

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์

โทนเสียง เกี่ยวอะไรกับภาษากาย ?

ก่อนที่ผมจะพูดถึง VDO ผมขออธิบายว่าโทนเสียง หรือ น้ำเสียง มีความสำคัญอย่างไรในการวิเคราะห์อารมณ์และความรู้สึก

โทนเสียง หรือ น้ำเสียง เป็นการสื่อสารในกลุ่ม อวัจนะภาษา (Non-Verbal communication) เป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนอารมณ์ ความรู้สึก และเจตนาได้

คำว่าโทนเสียง หรือ น้ำเสียง ผมใช้เหมารวมถึงลักษณะของเสียงที่เราเปล่งออกมาเมื่อพูด เช่น เสียงสูง เสียงต่ำ เสียงดัง เสียงเบา กระแทก สั้น ห้วน ชัด นิ่ง สั่น ต่อเนื่องหรือขาดช่วง เป็นต้น

ยกตัวอย่างเช่น น้ำเสียงแข็งกราวเมื่อโกรธ น้ำเสียงเย้ยหยันเพราะรู้สึกดูถูกหรือสะใจใครบางคน หรือเสียงสั่นเครือเมื่อเศร้า และน้ำเสียงสามารถบอกเจตนาได้ เช่น ถ้าคุณภรรยาที่ยืนรอสามีที่กลับบ้านมาดึกพูดว่า “กลับมาแล้วหรือ…” ประโยคนี้ในทางตัวอักษรมีความหมายตรงตัวความหมายเดียว แต่ถ้าพิจารณาน้ำเสียงร่วมด้วยจะพบว่ามีได้อย่างน้อย 4 เจตนา/อารมณ์ เช่น เป็นห่วง งอน โกรธ หรือไม่รู้สึกอะไรเลย ซึ่งขึ้นอยู่กับน้ำเสียงที่ใช้พูดนั้นเป็นอย่างไร

ในการวิเคราะห์ภาษากาย โดยหลักการเราจะให้น้ำหนักของคำพูด หรือ สิ่งที่พูดไว้ต่ำสุดเมื่อเทียบกับน้ำเสียงและภาษากาย เพราะมนุษย์เรามีสารพัดแรงจูงใจที่จะพูดโกหก พูดไม่จริง หรือแม้แต่ตระบัดสัตย์ เหตุที่น้ำเสียงกับภาษากายมีความน่าเชื่อถือมากกว่าเพราะคนเราแทบไม่ได้สนใจที่จะแสร้งหรือโกหกเกี่ยวกับองค์ประกอบที่ซับซ้อนของการสื่อสารกลุ่มนี้ และสองสิ่งที่มักแสดงออกมาแบบไม่รู้ตัว (unconcious) โดยปราศจากการควบคุมหรือบังคับ

ตัวอย่าง VDO นี้จะช่วยทำให้เราเห็นภาพมากขึ้นของน้ำเสียงกับความรู้สึก ผมของเสริมนิดนึงว่าเทคนิคการจะสังเกตน้ำเสียงให้แม่นยำ เราควรใส่หูฟังและหลับตา วิธีการนี้เราจะเก็บรายละเอียดของเสียงได้ชัดและเห็นความผันแปรของเสียงได้ เป็นหลักการง่ายๆของการลด ผัสสะของตา เพื่อเสริมผัสสะหู

นาที 7:24

นาที 7:24 คุณเนมได้พูดในรายการ

“ภรรยาของอากง กล่าวกับโลงศพของสามีในวันที่เข้ารับร่างไร้วิญญาณจากเรือนจำว่า กลับบ้านแล้วนะ ตอนนี้เขาปล่อยตัวลื้อแล้ว **ซึ่งต่อมาเนี่ย** ทางภรรยาของอากงก็มีการฟ้องกรมราชทัณฑ์…..”

ในจังหวะที่คุณเนมพูดว่า **ซึ่งต่อมาเนี่ย** เราจะสังเกตได้ถึงโทนเสียงที่เปลี่ยนไป คือ สั่น คล้ายกำลังสะอื้นร่วมด้วย

โทนเสียงที่สั่นและสะอื้น (Trembling voice) เป็นน้ำเสียงที่เปลี่ยนไปจากน้ำเสียงปกติของเธอ อันเกิดจากการตอบสนองของร่างกายที่จะไม่ร้องไห้เพราะมีความรู้สึกเสียใจ หรือ เศร้าใจปะทุขึ้นมา

อธิบายได้ทางกายภาพว่า เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อรอบๆ คอและหลอดลม การกลืนน้ำลายยากขึ้น และการหายใจติดขัดจากการที่โพรงจมูกมีความอึดอัดจากน้ำมูกที่เริ่มขับออก มาทำให้เกิดการสะอื้น (Choke , Whine) หายใจลำบากขึ้น และทำให้น้ำเสียงเปลี่ยนไป โทนเสียงที่เปล่งออกมาจะสั่นเครือผสมกับเสียงสั่นเครือ เป็นลักษณะที่ชัดเจนของความเศร้าโศรกเสียใจ ที่พยายามสะกดตัวเองไม่ให้ร้องไห้ออกมา

และเมื่อเรามาพิจารณารวมถึงสิ่งที่คุณเนมกำลังพูดในรายการ ก็เป็นเรื่องราวที่สะเทือนใจของอากงแก่ๆ คนหนึ่งที่ทุกคนล้วนมองไปในทิศทางเดียวกันว่าอากงถูกใส่ร้ายและไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างที่ควรจะได้รับในหลายๆ ด้าน จนสุดท้ายต้องเสียชีวิตในคุกอย่างน่าเศร้าสลด

น้ำเสียงของคุณเนมบ่งบอกได้ชัดเจนว่ารู้สึกสะเทีอนใจกับสิ่งที่กำลังเล่า เหมือนกันคยไทยอีกหลายคนที่ได้ฟังเรื่อยราวนี้ก็รู้สึกเศร้าเสียใจเช่นกัน

สรุป

โทนเสียง (Tone of voice) เป็นหนึ่งองค์ประกอบของอวัจนะภาษา (Non-verbal communication) ที่สามารถสะท้อนความรู้สึกของบุคคลได้ โดยเฉพาะความรู้สึกเศร้าและทุกข์ระทมจะเป็นหนึ่งโทนเสียงที่สังเกตได้ง่าย

ความรู้สึกสัมพันธ์กับการแสดงออกของร่างกายได้สารพัดอย่าง ถ้าเราค่อยๆ ศึกษาเราจะมองเห็นอารมณ์และความรู้สึกที่ซุกซ่อนอยู่ภายในจิตใจของคนได้มากยิ่งขึ้น

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้ นะครับ

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *