ถ้าคุณดูภาพนี้คุณคิดว่าญาญ่ากำลังเจ็บปวด (Painful) หรือ กำลังมีความสุข (Pleasure) ?
ไม่มีใครไม่รู้จักญาญ่า สาวนักแสดงพูดไทยไม่ชัด (อิอิ) เป็นนักแสดงระดับประเทศและโด่งดังที่สุดในยุคนี้ บทนี้ผมจะขอพูดถึงภาพของญาญ่าจากเหตุการณ์นี้เมื่อปี 2019 สักหน่อย
ภาพนี้ญาญ่าเพิ่งบาดเจ็บจากไม้หล่นใส่หัวระหว่างถ่ายทำละคร “กาสะลอง” ผมพบว่าภาพนี้มีอะไรให้เราเอามาเรียนรู้ได้หลายอย่าง
ถ้าเราถอดรหัสภาษากาย จะพบว่า
- มีรอยบูดเหนือคิ้วขวา (ขวาของญาญ่า) ติดกับไรผม
- ฟันกัดกันจนแน่น (Clenching)
- ขากรรไกรยื่นมาข้างหน้า (Forward Mandible)
- กล้ามเนื้อบริเวณแก้มหดตัว (Masseter)
- จมูกย่น (Nose Wrinkle) – จากกล้ามเนื้อ Levator Labii Superioris และ Alaeque Nasi
- คิ้วกดลง (Brow Lowerer) จากกล้ามเนื้อ Depressor Glabellae และ Depressor Supercilli
ทั้งหมดถือว่าเกือบครบองค์ประกอบของสีหน้าของความเจ็บปวด (Painful) จะขาดก็เพียงรอยย่นบนหน้าผากเพราะญาญ่าผ่านการฉีดโบท๊อก (Botox) ซึ่งถ้ามีรอยย่นที่หน้าผากเพิ่มมาอีกหน่อยจะถือว่าครบ 100%
ผมอยากจะบอกว่า ถ้าเราตัดภาพมาดูแค่ภาพเดียว สีหน้าของญาญ่าในภาพนี้อาจจะแปลว่ากำลังมีความสุขขั้นสุดยอดก็ได้นะ
มีงานวิจัยงานหนึ่งของ S.M. Hughes บอกว่าใบหน้าที่แสดงออกของการมีความสุขขั้นสุดยอดจากการมีเพศสัมพันธ์ (Sexual Pleasure) เมื่อเทียบกับใบหน้าของคนที่เจ็บปวดจะมีองค์ประกอบเหมือนกันถ้าวิเคราะห์ด้วยระบบ FACS
ถ้าเปรียบเทียบภาพด้านซ้าย (ภาพ A กับ C ) ซึ่งเป็นภาพสีหน้าตอนกำลังมีเพศสัมพันธ์ ใบหน้าจะคล้ายคลึงกับคนที่กำลังเจ็บปวดอยู่ (ภาพ B กับ D )
ประเด็นนี้น่าสนใจ ผมอยากจะเปรียบเทียบภาษากายบางครั้งก็เหมือนภาษาพูด หรือ คำพูด
เช่น คำว่า ร้อน ซึ่งมีหลายความหมายขึ้นอยู่กับบริบทที่ใช้
เช่น อากาศร้อน แมนยูร้อนแรงมาก ข่าวร้อนแรง ประเด็นร้อน ของร้อน(ของผิดกฎหมาย) เดือดร้อน ร้อนใจ เป็นต้น เพราะฉะนั้นคำหนึ่งคำจะมีความหมายที่ชัดเจนย่อมขึ้นอยู่กับรูปประโยค หรือ คำที่อยู่ข้างหน้าและข้างหลัง
ภาษากายก็เช่นกัน เราจะตัดสินความหมายด้วยข้อมูลชิ้นเดียว หรือ ภาพๆเดียวไม่ได้ จะต้องดูบริบทที่มาก่อนหน้า ที่ตามมาทีหลัง สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ทั้งการแสดงออกทางร่างกาย ใบหน้า ท่าทาง คำพูด และน้ำเสียง ร่วมกัน
เพราะถ้าเราตัดสินจากภาพแค่ภาพเดียว คุณญาญ่าในภาพเราอาจจะตีความผิดเป็นกำลังมีความสุขแบบสุขล้นจากการมีเพศสัมพันธ์ก็เป็นได้ แต่ถ้าคุณดูเป็น VDO ย่อมจะเห็นรายละเอียดอื่นๆจึงรู้ว่าเป็นเหตุการณ์ร้องไห้เจ็บปวดจากไม้หล่นใส่หัวต่างหาก
ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น บุคคลอ้างอิงในเวปไซด์จะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube) เป็นต้น การตีความและอธิบายภาษากายไม่มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุน หรือ ละเมิด กับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น