เหตุการณ์ที่คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถูก “เล่นงาน” ทางการเมืองแทบไม่ต่างจากกรณีคุณ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อหลายปีก่อนและครั้งนี้คุณพิธาได้ถูกศาลสั่งให้ระงับหน้าที่ชั่วคราวเพื่อรอผลพิจารณาประเด็นหุ้น ITV จากศาลรัฐธรรมนูญ
ผมได้ติดตามและเขียนบทความถึงคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มาพักใหญ่และผมคิดว่าเขาเป็นนักการเมืองท่านหนึ่งที่ภาษากายดี มีความ Smart ในภาพลักษณ์ผู้นำรุ่นใหม่ที่คนไทยหลายคนอยากเห็น ทั้งนี้แนวโน้มที่คุณพิธาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีถือว่ายากในสถานการณ์ที่ขั้วอำนาจเก่ามีอิทธิพลทางการเมืองอยู่สูง แม้คุณพิธาจะสามารถนำพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาก็ไม่เพียงพอที่จะชนะกับอำนาจที่มองไม่เห็น
บทความนี้เราจะได้เรียนรู้ภาษากายที่น่าสนใจอีกเช่นเคย ในเหตุการณ์ประชุมรัฐสภาตาม VDO
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
ช่วงนาที 0:42 – 0:57 “ผมคิดว่าประเทศไทยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมแล้วตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม….”
ในจังหวะนี้จะสังเกตภาษากายได้ดังนี้
- มือขวาคว่ำลงกับโต๊ะ (palm down gesture) เป็นมือประกอบ (illustrator) ที่มักจะแสดงออกถึงการเน้นย้ำ แสดงจุดยืน และความหนักแน่น
- มือซ้ายไขว้หลัง (Hand behind the back) โดยรวมในภาษากายจะเป็นการแสดงอำนาจ (Authority) การควบคุม (Controlling) ในแง่ลบก็มีความหมาย เช่น การป้องกันตัวเองหรือการปฏิเสธ (Guarded , Rejection) ส่วนในมุมของวัฒนธรรมก็มีความหมายที่ค่อนข้างกว้าง เช่น อาจแสดงความสุภาพและทางการ (Formality , Politeness) ความสงบ หรือ การครองสติ (Patience) ทำให้มือไขว้หลังเป็นภาษากายที่มีความหมายกว้างและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยบริบทแวดล้อมและภาษากายอื่นๆ ที่เกิดไล่เลี่ยมาพิจารณาร่วมด้วยเสมอจึงจะมีความหมายที่แคบลง
- สีหน้าของคุณพิธาค่อนข้างนิ่ง (Blank/Neutral facial expression)
นาที 0:58 – 1:02 เป็นช่วงที่คุณพิธาพูดจบจะสังเกตภาษากายในลักษณะเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) ได้ดังต่อไปนี้
- ก้มศีรษะ (Head tilt down)
- ฟันกัดแน่น (Clenching) สัมพันธ์กับอารมณ์โกรธและมีการหดตัวของกล้ามเนื้อใบหน้าช่วงล่างอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะ Masseter กับ Buccinator
- ขากรรไกรล่างยื่นมาทางด้านหน้า (Jaw protrusion)
- ตามองบน (looking upward) ในจังหวะที่ยกป้ายชื่อและมองไปที่ประธานรัฐสภา
- เม้มปาก (Inward lip roll) การเม้มปากเป็นภาษากายที่เกิดโดยปราศจากการบังคับโดยเจ้าตัว (Subconcious) จะสัมพันธ์กับการสะกดอารมณ์ลบ หรือ กลั้นอารมณ์ลบที่เกิดขึ้น (Conceling strong negative emotion) เช่น การกลั้นอารมณ์
ทั้ง 5 ภาษากายนี้ถ้าวิเคราะห์ทั้งหมดจะพบว่าเจ้าตัวมีอารมณ์โกรธ (Anger) และมีความพยายามที่จะสะกดเอาไว้ และอาจเป็นความโกรธที่ค่อนข้างสูงเพราะเราสามารถสังเกตภาษากายได้หลายอย่างพร้อมกันและค่อนข้างเห็นได้ชัดเจน ดังที่ผมเคยเขียนไว้ในบทความอื่นๆ ว่า “ยิ่งภาษากายเข้มข้นและชัดจะสะท้อนอารมรณ์ใน intensity เดียวกัน”
ถัดมาคุณพิธาได้เอาป้ายชื่อของตนวางลงอย่างแรงและกระแทกจนได้ยินเสียงลอดผ่านไมโครโฟน และพบว่าป้ายชื่อถึงกับหล่นลงบนโต๊ะที่อยู่ด้านใน ลักษณะที่แสดงออกก็สอดคล้องกับอารมณ์ที่กำลังเกิด (โกรธ) ที่ผมเพิ่งได้วิเคราะห์ไป
ตามธรรมชาติถ้าคนเราโกรธมากก็อาจระบายออกมาไม่วิธีการใดก็วิธีการหนึ่ง แต่ด้วยบริบทแวดล้อมและมารยาททางสังคมก็ไม่ได้เอื้อให้เราทำตามอารมณ์อย่างตรงไปตรงมาเสมอไป
บริบทสังคมที่กล่าวมา (ได้แก่บทบาทหน้าที่ของการเป็นหัวหน้าพรรค การนั่งอนู่ในสภาฯ และการบันทึกถ่ายทอดสด) เสมือนคอยบีบและทำให้ต้องสะกดเก็บอารมณ์เอาไว้
แต่ในจังหวะนี้คุณพิธา “เผลอ” ระบายอารมณ์ลงไปกับป้ายชื่อ จึงวิเคราะห์ได้ว่าเขามีอารมณ์โกรธในระดับสูงอย่างชัดเจน และยังคงมีต่อเนื่องอยู่
สักพักพอคุณพิธาเดินออกมาจากที่นั่งก็ได้จับมือกับเพื่อนสมาชิกรัฐสภา ก็จะไม่พบลักษณะของภาษากายข้างต้นและทักทายยิ้มแบบ Sincere smile และใช้เวลาอีกหลายนาทีจับมือทักทายสมาชิกรัฐสภาที่มาให้กำลังใจ ในจังหวะนี้ไม่พบภาษากายใดที่สัมพันธ์กับความโกรธ
สรุป
เคสนี้เป็นตัวอย่างของภาษากายที่สัมพันธ์กับอารมณ์โกรธ และแม้จะเกิดความโกรธในระดับที่สูงแต่เจ้าตัวก็ยังสามารถควบคุมไว้ดี (แม้จะมีการระบายออกมาผ่านการวางป้ายชื่อเล็กน้อย) โดยเฉพาะถ้าเทียบกับนักการเมืองท่านอื่นๆ ที่ขาดความสามารถในการควบคุมอารมณ์ เราอาจจะพบการระเบิดอารมณ์และแสดงความไม่พอใจอย่างก้าวร้าว (Aggressive) เช่น การปาเก้าอี้ หรือ เข้าไปต่อยหน้าฝ่ายตรงข้าม ต่อหน้าสมาชิกรัฐสภาผู้ทรงเกียรติ
ภาษากายทำให้เราได้ยินในสิ่งที่เขาไม่ได้พูด และเห็นอารมณ์ที่เป็นนามธรรมผ่านรูปธรรมที่เรียกว่าภาษากาย การเฝ้าสังเกตและวิเคราะห์อย่างต่อเนื่องจะทำให้เราเข้าใจคนได้ละเอียดและลึกขึ้นอย่างมากมาย
ขอให้สนุกกับการเรียนรู้
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น