บทความนี้จะขอพูดถึงเรื่องมือในภาษากาย
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
ขอเริ่มต้นด้วยการอธิบายเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมาไม่นานมานี้ เป็นการแถลงข่าวรวมจัดตั้งรัฐบาลลิ้ง มีคนสงสัยเยอะว่าทำไมคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถึงมีการใช้มือขวาขึ้นมาสัมผัสมือคุณหมอชลน่าน(ดังภาพ) ซึ่งอาจจะดูผิดที่ผิดทาง หรือแปลกๆ ชอบกล
ส่วนตัวผมในครั้งแรกที่เห็นก็ไม่ได้ให้น้ำหนักอะไร เพราะคิดว่าคงเป็นจังหวะที่คุณพิธาไม่ทันตั้งตัวที่จะโพสท่าถ่ายภาพ ก็เลยอาจจะวางมือและจัดท่าจัดทางไปอย่างงั้นแบบเฉพาะหน้า แต่ผมพอได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากการสัมภาษณ์ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ซึ่งคุณสรยุทธก็ได้ถามคุณพิธาว่าทำไมไปจับมือแบบนั้น (นาที 56:35)
คำถามของคุณสรยุทธถือว่าตรงกับที่ผมอยากถาม เพราะผมก็อยากทราบเหมือนกันว่าตอนนั้นคุณพิธา คิด หรือ รู้สึกอย่างไร (ถึงได้ยกมือขวาขึ้นมาในลักษณะนั้น) เพราะเมื่อพิจารณาแล้วเป็นการสัมผัสมืออีกฝ่ายที่ฝืนธรรมชาติ และไม่ได้เป็นภาษากายที่พบเห็นบ่อย นอกจากจะเป็นลักษณะการสัมผัสแนว Empathy หรือ Romantic relationship (ตามภาพที่แนบจาก Shutterstock )
ในรายการคุณพิธาก็ได้ให้คำอธิบายโดยมีใจความว่า ช่วงนี้มีคนจับจ้องเยอะ ทำอะไรนิดหน่อยก็เป็นข่าว และเขาคิดว่าถ้ามือที่ไม่ได้จับนั้นอยู่ไขว้หลังอาจจะมีคนมาตีความว่าเตรียมแทงข้างหลัง หรือ มีเจตนาแอบแฝงว่าจะหักหลังกัน ก็เลยตัดสินใจยกมือขึ้นมาให้เห็นทั้งสองข้าง (จากแนวทางการตอบของคุณพิธาทำให้ทราบว่าคุณพิธาเป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจในภาษากายเป็นอย่างดี)
ผมขอขยายความถึงเรื่องของมือสักหน่อย
มือในภาษากาย
มือคือส่วนที่สำคัญของร่างกายในการสื่อสารรองจากการพูดด้วยปาก
และสำคัญเป็นอันดับหนึ่งในกรณีบุคคลที่ไม่สามารถพูดได้ เช่น มีภาวะหูหนวกและเป็นใบ้ เป็นต้น
สำหรับบุคคลทั่วไปที่สามารถสื่อสารด้วยการพูด จะพบการใช้มือร่วมในการสื่อสาร เช่น มือประกอบ (illustrator) ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ในกรณีที่ไม่ตั้งใจ (Subconcious) จะแปรผันไปตามอารมณ์ และ เจตนาในชั่วขณะนั้น มือจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มาเสริมการสื่อสารให้มีความหมายให้ละเอียดและลึกขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพและศักยภาพของการสื่อสารนั้นสูงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ต้องเน้นการสื่อสารเป็นพิเศษ เช่น ในการเจรจาต่อรอง การโน้มน้าว การประนีประนอม การสารภาพ การแถลงการณ์เรื่องสำคัญ หรือ การแก้ไขความขัดแย้ง
มือยังเป็นอวัยวะสำคัญที่แสดงถึงความเปิดเผยจริงใจ ยกตัวอย่าง วัฒนธรรมการทักทายด้วยการจับมือก็มีนัยยะนี้ซ่อนอยู่หลายประการ เช่น เป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ พิสูจน์ว่าตนมามือเปล่าไร้อาวุธ (Peace) อีกทั้งการจับมือเป็นการเชิญให้บุคคลอีกฝ่ายเข้าสู่ Personal space ของตนเอง (Agreement) เป็นการให้เกียรติ (Respect) เป็นต้น ในทางศาสนาก็มีคำอธิบายในแบบของเขา
กลับกันเมื่อคนเรารู้สึกไม่มั่นใจ กังวล หรือ กลัว เพราะกำลังโกหก ปกปิด หรือ อำพรางบางสิ่งบางอย่าง การเคลื่อนไหวและท่าทางจะผันแปรไป และสามารถแสดงออกผ่านมือได้บ่อย ๆ เช่น การซ่อนมือไว้ใต้โต๊ะ เอามือไขว้หลัง หรือ ล้วงกระเป๋า ตัวอย่างเคสที่ผมเคยเขียนที่น่าศึกษา ลิงก์ รวมถึงมืออารมณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฎออกมาแบบไม่มีความหมายและผิดที่ผิดทางและทำให้เสียบุคลิกอย่างไม่รู้ตัว
กลับมาที่คุณพิธา ในนาที 57:05 คุณพิธาพูดว่า “Body language มันสำคัญ” ในฐานะที่ผมมีบทบาทเป็นอาจารย์และนักวิเคราะห์ภาษากาย ผมดีใจที่คุณพิธาได้กล่าวเช่นนี้ เพราะภาษากายเป็นเรื่องที่สำคัญมากไม่ว่าจะทั้งเรื่องการสื่อสาร บุคลิกภาพ และการทำความเข้าใจผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง
สรุป
มือเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่ช่วยในการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ถ้าอยากสื่อสารเก่งจะต้องเรียนหรือฝึกในส่วนนี้ด้วย ภาษากายเป็นเรื่องที่สำคัญ แม้แต่ว่าที่นายก คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็ให้ความสำคัญกับสิ่งนี้
และเช่นเดียวกับทุกท่านที่ติดตามเว็บไซต์มาตลอด ก็ย่อมเข้าใจในความสำคัญไม่แพ้กัน
ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น