พฤษภาคม 28, 2023

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 148 : นั่งไขว่ห้าง ? เป็นภาษากายที่ไม่สุภาพ จริงๆ หรือ ? , คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ ประยุทธ์ จันทร์โอชา (Still Image)

คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นำทีมเศรษฐกิจพบสภาอุตสาหกรรมฯ และมีชาวโซเชียวสงสัยว่าการนั่งไขว่ห้าง (ตามภาพ เครดิตจาก เพจ ตุ๊ดรีวิว) ของคุณพิธา และของคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา สุภาพหรือไม่อย่างไร ?

และท่านั่งนี้มีความหมายในทางภาษากายอย่างไร ?

เนื่องจากช่วงนี้คุณพิธา เป็นที่สนใจของสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเอามือทำท่าอะไรหรือหยิบจับอะไร ยืน หรือ นั่งแบบใด ก็ล้วนแต่จะมีคนอยากตีความ เอาไปทำข่าว หาคำอธิบาย หรือออกความเห็นกันในแง่มุมต่างๆ

ในส่วนของบทความนี้ผมอยากมานำเสนอแง่มุมความรู้ของภาษากายสำหรับท่านั่งนี้ครับ เพราะมีคนพูดถึงเยอะเหมือนกัน

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด 

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์

ท่านั่งไขว่ห้างในมุมของวัฒนธรรมไทย

สำหรับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย “เท้า” ถือว่าเป็นอวัยวะที่ “ต่ำ” ที่สุด หรือ “สกปรก” ที่สุด จึงทำให้การใช้เท้าชี้ไปที่บุคคลใด (โดยเฉพาะการชี้ไปที่หน้า) มีความหมายว่าไม่เคารพ ไม่ให้เกียรติ (Disrespect) รวมถึงกับสิ่งเคารพบูชาเช่นพระพุทธรูป และภาพบุคคลพิเศษ

ท่านั่งที่เรียบร้อยจะออกในลักษณะที่ “เก็บมือเก็บเท้า”

เช่นการนั่งพับเพียบกับพื้นและกุมมือไว้บนตัก ถ้านั่งบนเก้าอี้ก็จะรวบขาชิดและวางขาท่อนล่างหดเข้าสู่ลำตัว

ส่วนท่านั่งที่จัดว่า “ไม่สุภาพ” หรือ “ไม่เรียบร้อย” ก็เช่น การนั่งยืดขา และการยกขาขึ้นมาไขว้ห้างกระดิกเท้าจะถือว่าไม่สุภาพอย่างยิ่ง เป็นต้น

การนั่งแบบไขว่ห้างนั้นมีโอกาสที่เท้าจะชี้ไปที่คนที่อยู่รายรอบได้ และถ้ายิ่งยกเท้าสูงขึ้นเท่าใดก็ยิ่งดูไม่สุภาพขึ้นเท่านั้น

เพราะฉะนั้นการนั่งไขว่ห้างนั้น จึงไม่ใช่ท่านั่งที่จัดว่า “สุภาพเรียบร้อย” ในมุมของวัฒนธรรมไทย และอาจถึงขั้นถูกโจมตีว่า “ไม่สุภาพ” ถ้าอยู่ในบริบทที่อยู่ร่วมกับบุคคลที่มีฐานะ วัยวุฒิ หรือ ผู้ใหญ่กว่า

ทั้งนี้ในวัฒนธรรมของฝรั่งไม่ได้มีมุมมองแบบไทย เขามองว่าเป็นท่านั่งทั่วไปที่สุภาพ เป็นท่านั่งปกติธรรมดาและดูมีความมั่นใจ ดูมีความเป็นมืออาชีพ (โดยเฉพาะถ้าเป็นผู้หญิง) เป็นท่านั่งที่นิยมกันทั่วไป

ภาษากายของการนั่งไขว่ห้าง

ถ้าพิจารณาในเชิงของภาษากายและความสัมพันธ์กับอารมณ์นั้น การนั่งไขว่ห้างมักจะสัมพันธ์กับการป้องกันตัวเอง (Defensive posture) เป็นการปิดกั้น และไม่ต้องการจะเปิดเผยหรือหลบเลี่ยงที่จะแสดงความจริงใจ

แต่ทว่าการนั่งไขว่ห้างเป็นภาษากายกลุ่มที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมและบริบทอยู่มาก (Culture & Context Dependent) จึงทำให้การวิเคราะห์นั้นชี้เฉพาะเจาะจงให้แม่นยำนั้นทำได้ยาก

การวิเคราะห์ภาษากายกลุ่มที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมจะตีความแตกต่างจากภาษากายกลุ่มที่เป็นสากล เพราะภาษากายกลุ่มที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมจะมีความหมายที่กว้างขึ้นทำให้การตีความมีความซับซ้อนและไม่อาจบ่งบอกความรู้สึกหรืออารมณ์ได้แม่นยำนัก อันเป็นปลายทางของสิ่งที่เรามุ่งหวังจะอ่านในความหมายนั้นมีโอกาสผิดและเพี้ยนไป

ท่านั่งไขว่ห้างจัดเป็นภาษากายแบบ Culture dependent จะแตกต่างจากภาษากายกลุ่ม Universal เช่น สีหน้า ทำให้การตีความและอ่านภาษากายของการนั่งไขว่ห้างจึงมีข้อจำกัดอยู่มาก ในมุมของการวิเคราะห์ภาษากายเรามักไม่ค่อยให้น้ำหนักในการวิเคราะห์ในเชิงของภาษากายเพื่อสะท้อนความคิดและอารมณ์สักเท่าใดนัก และต้องพึ่งภาษากายส่วนอื่น ๆ เพื่อร่วมวิเคราะห์ด้วยเสมอ

แต่ในเชิงของการเรียนเพื่อปรับบุคลิกภาพของตนเอง ผมคิดว่าการนั่งไขว่ห้างอาจจะต้องตระหนักถึงความเหมาะสมในการเลือกท่านั่งนี้ โดยเฉพาะถ้าอยู่ในวัฒนธรรม สังคมที่เคร่งครัดยึดมั่น และต่อต้านวัฒนธรรมตะวันตก

สรุป

แม้การนั่งไขว่ห้างคือท่านั่ง มีความหมายสัมพันธ์ไปกับวัฒนธรรมและบริบทเสียมาก แต่เราต้องตระหนักว่าวัฒนธรรมต่าง ๆ บนโลกใบนี้ไม่ได้หยุดนิ่ง มีการผสมผสานและเคลื่อนไหว ปะปน กันอยู่เสมอ ถ้าย้อนไปสัก 200 ปีก่อนท่านั่งนี้อาจจะไม่สุภาพ ดูเย่อหยิ่ง และไม่ให้เกียรติคนรอบข้าง แต่ทุกวันนี้ที่ประเทศไทยก็รับวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามามาก เช่น ในบริบทของคนทำธุรกิจก็พบการทักทายด้วยการจับมือ พูดไทยปนฝรั่ง ใส่สูทผูกเนคไท

การนั่งในท่าไขว้ห้างจึงไม่อาจตีความถึงความไม่สุภาพหรือไม่ให้เกียรติเช่นในอดีตโบราณแต่อย่างเดียวอีกต่อไป แต่ทางที่ดี ผู้ที่จะใช้นั่งท่านี้อาจจะต้องคำนึงถึงบริบทแวดล้อมร่วมด้วยจะดีมาก โดยเฉพาะบริบทแวดล้อมที่ต้องการรักษาธรรมเนียมเดิม ๆ

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *