พฤษภาคม 28, 2023

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 149 : คุณ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ วิเคราะห์ทักษะการสื่อสาร ภาษากาย และบุคลิกใน งานแถลงข่าว (Press conference) ตอนที่ 2 (จบ)

บทความนี้เป็นบทวิเคราะห์ที่ต่อเนื่องจากบทความที่ผ่านมา โดยในบทความนี้จะพูดถึงภาษากายของคุณพิธาใน Press conference (งานแถลงข่าว)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด 

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์

วิเคราะห์การสื่อสารผ่านภาษากาย (อวัจนะภาษา)

ในส่วนของภาษากายคุณพิธามีจุดที่น่าสนใจหลายประการ

1.การยิ้ม (Sincere smile)

ในบุคคลที่ยิ้มไม่เป็น หรือ ไม่เคยฝึกยิ้ม มักจะยิ้มออกมาได้ไม่สวยและดูแปลกๆ เช่น

  • ยิ้มยิงฟันจนเห็นฟันเกือบทั้งปาก
  • ยิ้มแบบเกร็งไปทั้งใบหน้าไปจนถึงกล้ามเนื้อรอบลำคอ
  • ยิ้มแบบคิ้วขมวดหน้าผากย่นยับจนเป็นร่องลึกเพราะพยายามฝืนเค้นรอยยิ้มออกมา

เสน่ห์อย่างหนึ่งที่สำคัญของคุณพิธา คือ การยิ้มทั้งลักษณะที่ยิ้มและจังหวะการยิ้ม

รอยยิ้มที่ปรากฎของคุณพิธามีทั้งลักษณะ Polite smile คือยิ้มมารยาท หรือ การยิ้มเข้าสังคม เป็นการยิ้มที่ใช้กล้ามเนื้อแก้มที่ชื่อ Zygomatic major ดึงมุมปากขึ้นไปด้านหลังขึ้นบนเท่านั้น และหลายครั้งเราจะพบรอยยิ้มแห่งความสุข (Sincere smile, Real smile, Duchenne smile) คือตาก็ยิ้มด้วยจากการหดตัวของกล้ามเนื้อ Orbicularis oculi, pars orbitalis ที่อยู่รอบดวงตา ทำให้ตาหรี่เล็กลง

คุณพิธาเหมือนทราบดีว่าจังหวะใดควรยิ้มและทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่มีการเกร็งหรือฝืนยิ้ม

การยิ้มนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ถูกอกถูกใจแฟนคลับสาวๆ มี Viral ใน Tiktok ที่ประเทศเกาหลีใต้ก็มีกระแสพูดถึงคุณพิธาเยอะ (สาวเกาหลีใต้ชอบคุณพิธามากๆ)

นอกจากนี้อาจารย์สอนบุคลิกภาพบางท่านให้ความเห็นว่า “คุณพิธารู้มุมกล้องและโพสท่าเป็นราวดารานักแสดง” เป็นการยืนยันว่าคุณพิธา “เป็นงาน” พอสมควรเลย

2.การใช้มือประกอบการพูด (illustrator)

นาที 6:29 ช่วงที่พูดถึงมาตรการปลดปล่อยกลุ่มผู้เยาว์ที่ถูกจำคุกจากมาตรา 112 คุณพิธา มีการใช้มือช่วยในการสื่อสารที่เรียกว่า มือประกอบ (illustrator) และมีอีกช่วงหนึ่งตอนท้ายที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

การใช้มือประกอบในการพูด จะช่วยให้ประสิทธิภาพในการสื่อสารชัดเจนและดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะเวลาต้องสื่อสารเรื่องสำคัญ ต้องการย้ำ ต้องการสร้างความเชื่อมโยงและดึงดูดอารมณ์และความรู้สึก

ในการแถลงข่าวรอบนี้คุณพิธาใช้มือในการสื่อสารไม่เยอะเท่าไหร่ แต่ผมก็ไม่คิดว่าเป็นข้อด้อยแต่อย่างใดในการแถลงข่าวนี้ เพราะคุณพิธาจุดเด่นเรื่องการพูดตอบที่กระจ่างชัดมั่นใจนั้นเพียงพอแล้วกับการสื่อสารในการแถลงข่าวครั้งนี้

3.การสบตา (Eye contact)

การสบตาที่ดีและเหมาะสม เป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญอันดับต้นๆ ของการมีบุคลิกภาพที่ดี เพราะเป็นส่วนที่สะท้อนถึงความมั่นใจของผู้ที่พูดและความน่าเชื่อถือที่ผู้อื่นจะมอบให้

  • ถ้าสบตาน้อยเกินไปจะทำให้ดูขาดความมั่นใจ ไม่ให้เกียรติคู่สนทนาและขาดความน่าเชื่อถือ
  • กลับกัน ถ้าสบตามากเกินไปหรือนานเกินไป อีกฝ่ายจะรู้สึกอึดอัด รู้สึกเหมือนถูกจับจ้องคุกคาม (intiminating)

คุณพิธาบริหาร Eye contact ได้ดี สบตาคู่สนทนาตอนตอบคำถามในระดับที่เหมาะสม(ไม่มากไม่น้อย) ทำให้เราเห็นว่าเขาใส่ใจและตั้งใจที่จะฟังคู่สนทนา (Full attention and respect) และเป็นการให้เกียรติอีกฝ่ายด้วย

ผู้บริหารหลายท่านมีปัญหาเรื่องการสบตา เพราะสบตาไม่เป็น หรือพอสบตาใครได้ไม่นานเท่าไหร่ก็เริ่มตื่นเต้นและประหม่า ทำให้มักจะหลีกเลี่ยงการสบตาคู่สนทนา ทำให้บุคลิกดูไม่สง่างามไม่สมกับการเป็นผู้นำ

4.รูปร่างหน้าตา (Image)

ถ้าจะมีคำๆ หนึ่งมาตอบว่าบุคลิกและภาพลักษณ์ของคุณพิธา ว่าเป็นอย่างไร ผมนึกถึงคำว่า Look Smart (แปลเป็นไทยตรง ๆ คือดูดี)

คำว่า Smart ในที่นี้ไม่ได้แปลตรงตัวว่าฉลาด แต่ Look Smart จะมีความหมายรวมไปถึงภาพลักษณ์ด้วย (Appearance , image) ได้แก่ แต่งตัวดี สะอาดสะอ้าน หุ่นดี รูปร่างหน้าตาดี เฉลี่ยวฉลาด พูดจามีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์ มีไหวพริบ มารยาทดี และการศึกษาดี ในระดับผู้นำประเทศตัวอย่างคนที่ได้ชื่อว่า Look Smart ที่สังคมกล่าวถึง ก็เช่น Justin Trudeau, David Cameron Bill Clinton และ Barack Obama

ผมคิดว่าคุณพิธา ก็มีภาพลักษณ์และบุคคลคล้ายผู้นำกลุ่มนี้

สรุป

ถ้าพิจารณาจากบุคลิกภาพ ผมเชื่อว่าทุกคนมองว่าเขามีความเหมาะสมที่จะเป็นตัวแทนของประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี และสามารถยืนเคียงคู่เข้ากลุ่มกับผู้นำต่างประเทศได้อย่างไม่อายชนชาติและประเทศใด

ส่วนฝีมือการทำงานและการบริหารประเทศจะเป็นอีกประเด็นที่เราต้องรอชมกันต่อไป

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *