พฤษภาคม 19, 2023

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 147 : คุณ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ วิเคราะห์ทักษะการสื่อสาร ภาษากาย และบุคลิกใน งานแถลงข่าว (Press conference) ตอนที่ 1

ณ เวลานี้คงไม่มีใครไม่พูดถึงว่าที่นายกคนต่อไปของประเทศไทย คุณ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (ทิม)

หลายคนบอกว่า “ไม่นึกไม่ฝันว่าจะได้นายก(ดี)แบบนี้”

VDO นี้เป็น Press conference (การแถลงข่าว) และเป็น VDO ที่มีคนพูดถึงมากมายทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับบุคลิก ภาษากาย และการสื่อสารที่น่าประทับใจของคุณพิธา

บทความนี้ผมตั้งใจเขียนขึ้นมาวิเคราะห์ว่าสิ่งที่ปรากฎใน VDO ว่ามีสิ่งใดน่าสนใจบ้างให้เราได้เรียนรู้ร่วมกัน

เนื่องจากบทความนี้มีความยาวค่อนข้างมา ผมจึงขอแบ่งออกเป็นสองตอน โดยตอนที่ 1 จะวิเคราะห์ในส่วนการสื่อสารด้วยการพูด (วัจนะภาษา) และตอนที่ 2 เกี่ยวกับภาษากาย (อวัจนะภาษา)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด

 ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์

วิเคราะห์การสื่อสาร – การพูด (วัจนะภาษา)

ส่วนตัวผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษ จึงขอแบ่งปันในแง่มุมของการสื่อสารในภาพรวมเป็นหลัก นะครับ

1.ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ

จาก VDO ข้างต้น ผมมีโอกาสถามฝรั่งอเมริกันท่านหนึ่งว่า “คุณพิธาพูดภาษาอังกฤษอยู่ในระดับใด ?”

ฝรั่งท่านนั้นออกความเห็นว่า คุณพิธาพูดได้ชัด ไหลรื่น และใช้คำพูดได้สละสลวย ส่วนตัวเขาชื่นชมและมองว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงเจ้าของภาษา หรือ Native speaking

คนที่พูดได้ในระดับนี้มักจะมีประวัติการเรียนและเติบโตที่เมืองนอก ไปตั้งแต่เด็ก (ได้สำเนียง)และใช้ชีวิตที่นั่นนาน ทำให้สามารถพูดได้อย่างกลมกลืนไปกับสังคมและวัฒนธรรมในท้องถิ่นนั้น

คุณพิธามีโอกาสไปเรียนที่นิวซีแลนด์ตั้งแต่อายุ 11 ปีจนจบ High school กลับมาไทยสักพักเข้าเรียนและจบที่ธรรมศาสตร์แล้วไปเรียนต่อที่อเมริกาอีกหลายปีในมหาลัยระดับโลก คือ Havard และ MIT จึงสมแล้วที่เขาจะมีทักษะการพูดภาษาอังกฤษที่เด่น คุณพิธาสามารถใช้ศัพท์ยากๆ ที่คนไทยทั่วไปอาจจะฟังไม่เข้าใจโดยเฉพาะศัพท์ทางการเมือง (Political Terminology)

ทำไมผมถึงยกประเด็นของการพูดภาษาอังกฤษว่ามีความสำคัญ ?

และเราอาจจะเคยได้ยินคนไทยบางคนเคยพูดว่า “สนใจทำไม มันไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่เราสักหน่อย ?”

ความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษจะสำคัญมากโดยเฉพาะคนที่เป็นผู้นำประเทศ และ ความสามารถในการสื่อสารจะแปรผันตรงกับความมั่นใจและบุคลิกภาพ เพราะคนที่มีทักษะการพูดที่ดีและพูดได้คล่องแคล้วจะสามารถสื่อสารทุกอย่างที่คิดอยู่ในหัวออกมาได้เต็มร้อยโดยไม่มีข้อจำกัดของการใช้คำและประโยค รวมถึงไม่มีความกังวลเมื่ออีกฝ่ายถามคำถามมา (เมื่อไม่กังวลจึงมั่นใจ)

เมื่อสื่อสารได้ดี ความมั่นใจจะตามมา และส่งผลให้บุคลิกโดยรวมดูดีและน่าเชื่อถือ (ซึ่งนี่คือเหตุผลหลักว่าทำไมคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา เวลาไปต่างประเทศจึงมีบุคลิกและความมั่นใจแตกต่างกับเมื่ออยู่ในประเทศไทย)

คุณพิธาสร้างความประทับใจให้ผู้สื่อข่าวต่างชาติอย่างมากในงานแถลงข่าว นักข่าวสามารถถามคุณพิธาโดยตรงโดยไม่ต้องพึ่งล่าม ทำให้เกิดความเข้าถึงและยึดโยง (Connected) ทำให้ฝั่งผู้สื่อข่าวก็ทำข่าวสะดวกและต่างฝ่ายถามตอบกันได้อย่างเต็มที่

2.Filler words

สำหรับคนใช้ภาษาอังกฤษไม่คล่อง(เช่น ผม) เวลาพูดจะแอบมีคำแทรกประเภท” อ่า… เออ … อืมม ” แทรกก่อน หลัง หรือระหว่างประโยคบ่อย ๆ

เพราะจากการที่ผมอาจจะรู้ศัพท์ไม่เยอะและไม่ได้พูดภาษาอังกฤษบ่อย ทำให้หลายคน(แบบผม) พูดได้ไม่คล่อง ตะกุกตะกัก เออๆ ออๆ เพราะสมองต้องใช้เวลาในการคิดคำและเรียบเรียงประโยค

ใน VDO นี้ตอนที่คุณพิธาพูดจะพบ Filler words ในระดับที่น้อย คือน้อยในระดับที่ถ้าฟังผ่าน ๆ อาจจะสังเกตไม่พบ

แสดงถึงความถนัดและความสามารถในการใช้ภาษาของคุณพิธา ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ช่วยเสริมในข้อ 1 ว่าเขาสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องมาก ๆ (และแน่นอนว่าคงได้ฝึกพูดสคริปที่ได้เตรียมไว้ด้วย)

ทั้งนี้ Filler words ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดถึงความคล่องแคล้วในการใช้ภาษาแต่อย่างเดียว แต่สามารถสะท้อนถึงความมั่นใจ สภาวะอารมณ์ และระดับความเข้าใจในสิ่งที่ต้องการสื่อ

3.การอธิบายได้สั้น กระชับ ได้ใจความ

คุณพิธามีชื่อเสียงมานานแล้วจากการอภิปรายในสภาที่ฟังเข้าใจง่าย กระชับ เช่น ตอนนำเสนอกรณีสุราพื้นบ้าน เขาจึงไม่เพียงแต่สำเนียงดีลื่นหู แต่เป็นคนที่สื่อสารเก่งอีกด้วย

สื่อสารเก่งคืออะไร ?

คุณพิธาได้ตอบคำถามนักข่าวน่าจะเกือบทุกคำถาม แม้แต่คำถามที่มีความละเอียดอ่อน (Sensitive) เช่น ม.112 ประเด็นการจับมือกับพรรคอื่นเพื่อร่วมรัฐบาล ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และ ปัญหาในอนาคตกับ สว. ที่มีแนวโน้มอาจไม่สนับสนุนพรรคก้าวไกล

สังเกตว่าคุณพิธาตอบได้อย่างมั่นใจ ตอบตรงนั้น เดี๋ยวนั้น สั้นๆ ได้ใจความ กระชับ ไม่มีขอตัวช่วย ไม่เรียกใครมาตอบแทน ไม่ขอเวลานอกเพื่อตั้งตัว และไม่ใช้สคริปต์โพยใดๆ (มีก้มหน้าอ่านสคริปช่วงเดียวตอนอ่านชื่อพรรคที่จะร่วมรัฐบาล ซึ่งถ้าเขาท่องไว้ก่อนจะดูดีขึ้นไปอีก)

คุณพิธามีทักษะการตอบคำถามที่ดีเยี่ยม (และน่าจะเตรียมตัวมาอย่างดี) ซึ่งเป็นผลรวมของทักษะภาษาอังกฤษที่ดี เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองจะสื่อสารอย่างเข้าใจจริง บวกกับทักษะการคิดและการสื่อสารต่างๆ ของเขา ทำให้สื่อสารออกมาอย่างมีเสน่ห์และน่าประทับใจ

สิ่งที่พบใน VDO เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับนายกในอดีตบางท่านอย่างสิ้นเชิงที่มักตอบไม่รู้เรื่องโกรธและหงุดหงิดง่าย เมื่อนักข่าวจะถามอะไรต้องคอยหวาดผวาว่าวันนี้จะถูกโยนเปลือกกล้วย ถูกฉีดแอลกอฮอล์สเปรย์เข้าหน้าเข้าตา หรือถูกทุ่มด้วยโพเดียม

จาก 8 ปีที่ผ่านมา ในที่สุดที่นักข่าวไทยและเทศสามารถกลับมาทำข่าวได้อย่างมีสวัสดิภาพทั้งทางกายและใจเสียที

สรุป

จาก VDO นี้คุณพิธา มีจุดเด่นเรื่องการสื่อสาร เขาสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้คล่อง เข้าใจในสิ่งที่ตนจะสื่อสารและสามารถสื่อสารมันออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งหมดทำให้เขาดูโดดเด่นและมั่นใจ

ในบทความต่อไปผมจะพูดถึงภาษากายบ้าง นะครับ

สวัสดีครับ

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *