พฤษภาคม 16, 2023

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 145 : ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล แถลงลาออก

ผมมีโอกาสเขียนภาษากายในกรณีการแถลงการณ์ลาออก หรือการแสดงความรับผิดชอบมาบ้างในบทความเก่า ๆ และเคสนี้ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่น่าเรียนรู้ด้านภาษากายของนักการเมืองพรรคก้าวไกล คุณ ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด 

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
Beta posture

ช่วงแรกที่แนะนำตัวกับสื่อมวลชน ในนาที 1:10 คุณ ณธีภัสร์ ยืนในท่า Beta posture แปลเป็นไทยคือท่าทางในลักษณะที่ขาดความมั่นใจ อันได้แก่การเอามือทั้งสองประสานไว้เบื้องหน้าในระดับต่ำ แขนสองข้างชิดลำตัว และไหล่ตก

Beta posture ไม่ใช่ภาษากายแบบเดียวโดดๆ แต่จะพิจารณารวมเป็นกลุ่มก้อนเสมอ (Cluster of body language) ทั้งนี้ การไม่มี หรือ ขาดความมั่นใจ ก็มีภาษากายที่เหมือนกับการมีบุคลิกที่นอบน้อมเรียบร้อยและหลายครั้งก็แยกจากกันไม่ได้จึงต้องพิจารณาบริบทและบุคลิกพื้นฐานร่วมด้วยเสมอ

Prolong eye closure
Facial expression of emphasizing

นาที 1:12 ถึงนาที 1:19 “อ่า……(*)ต่อกรณีที่ อ้อ ได้มีข่าวว่า .. มีกรณีที่ … (**)เมาแล้วขับนะครับ”

จังหวะนี้มีภาษากายอย่างน้อยสามอย่าง

  • (*) หลบตาด้วยการหลับตาที่นานขึ้น (Prolong eye closure) แสดงถึงความไม่ชอบ และกลัว เพราะธรรมชาติคนเราจะหลีกเลี่ยงที่จะมองในสิ่งที่กลัว หรือ ไม่ชอบ
  • กระพริบตาถี่ขึ้น (Increase blinking rate) แสดงถึงความตื่นเต้น (Anxiety) ซึ่งโดยเฉลี่ยจะกระพริบตาเพิ่มขึ้นได้ถึง 5-10 เท่าจากสภาวะปกติ
  • จังหวะ (**) จะพบสีหน้าของการเน้นย้ำ (Facial expression of emphasizing) มีการยกคิ้วขึ้นทั้งสองข้างร่วมกับพบรอยย่นบนหน้าผากชัดจากกล้ามเนื้อ Frontalis muscle เปลือกตาเปิดกว้างชิดขอบด้านบนของม่านตา เป็นสีหน้าที่จะพบได้เวลาต้องการพูดย้ำ หรือแสดงความชัดเจนในสิ่งที่พูด ทั้งนี้สีหน้านี้อาจแสดงได้ไม่เต็มที่ถ้าเจ้าตัวมีประวัติของการฉีดโบท้อกในบริเวณหน้าผาก

ในส่วนภาษาพูดก็มีจุดที่น่าสนใจ สังเกตว่าเขาไม่พูดคำว่า “ผม” ในประโยค เช่น ข่าวของผม หรือ ผมเมาแล้วขับ

การหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงโดยตรงแบบเจาะจงว่าในลักษณะว่า “ผมทำ , ข่าวของผม ,ผมเมาแล้วขับ ” เป็นกลไกป้องกันตัวทางจิตใจรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า Avoiding explicit self-disclosure คล้ายกับเวลาเรามีแผล เราก็คงไม่เอามือไปจิ้มแผลตัวเองให้เจ็บมากขึ้น แต่จะหลีกเลี่ยงที่จะไปจับหรือสัมผัส

ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าเจ้าตัวต้องการปกปิดหรือโกหก แต่เป็นเพียงกลไกจากจิตใต้สำนึกที่ต้องการหลบหลีกเพื่อรักษาสภาพจิตใจ (พูดง่าย ๆ คือไม่อยากซ้ำเติมตัวเองไปมากกว่านี้ ก็ไม่ผิด)

inward lip roll

“ผมอย่างแรกเลย ผม กราบขอโทษพี่น้องประชาชนทุกท่าน นะครับ และ น้อมรับ ความผิดที่เกิดขึ้นทั้งหมด และจะเข้าสู่ อ่า (*)..กระบวนการทางกฎหมาย เฉกเช่นประชาชนคนหนึ่งเหมือนประชาชนทั่วไป ครับ “

ถัดมาในจังหวะนี้ ในวินาทีที่ 1:32 จะพบภาษากายดังนี้

  • เม้มปาก (Inward lip roll) การเม้มปากเป็นภาษากายที่เกิดโดยปราศจากการบังคับโดยเจ้าตัว (Subconcious) จะสัมพันธ์กับการสะกดอารมณ์ลบ หรือ กลั้นอารมณ์ลบที่เกิดขึ้น (Conceling strong negative emotion) เช่น การกลั้นอารมณ์เสียใจ ในจังหวะนี้เป็นการกลั้นอารมณ์เสียใจและจวนเจียนจะร้องไห้ออกมา
  • กระพริบตาถี่ขึ้น ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
  • มีน้ำตา (Tears) โดยสังเกตจากแววตาจะสังเกตได้ว่ามีน้ำตาคลอ ในส่วนนี้สัมพันธ์ความความเสียใจ

จังหวะนี้จะสังเกตได้ว่าเจ้าตัวพยายามที่จะกลั้นอารมณ์และไม่ปล่อยให้ความเสียใจระเบิดออกมา

Facial expression of Anger

หลังนาที 2:26 เป็นต้นไป นักข่าวได้ถามการลาออกนี้เป็นการตัดสินใจของคุณ ณธีภัสร์ หรือ ของพรรค ?

ในจังหวะที่นักข่าวกำลังถามคำถามอยู่นั้น คุณ ณธีภัสร์ มีสีหน้าและท่าทางปรากฎออกมาดังนี้

  • รูจมูกทั้งสองข้างใหญ่ขึ้น (Enlargement of the nasal hole) คือการขยายใหญ่ของรูจมูกเพื่อเร่งการเติมออกซิเจนเข้าสู่ปอด
  • ใบหน้าแดงก่ำจากการขยายตัวของเส้นเลือดบนใบหน้า
  • ขอบตาบนและล่างหดเกร็ง
  • เงยหน้า
  • กัดฟันแน่นเกร็งจนกล้ามเนื้อปูดเกร็งออกมาอย่างเห็นได้ชัดจากกล้ามเนื้อ massester
  • การกดตัวของ Orbicularis oris และ Depressor Anguli Oris ทำให้การเม้มปากมีลักษณะเป็นตัว U กลับหัวที่มีลักษณะมุมปากทั้งสองข้างตกลง
  • ขยับต้วก้าวขาไปมาคล้าย ๆ ฟุตเวิร์ค แสดงถึงตื่นเต้นและร่างกายต้องการเผาผลาญอะดรีนาลีนที่พุ่งขึ้น

ทั้งหมดบ่งบอกถึงความโกรธ (Anger) อย่างเห็นได้ชัดไม่ว่าจากสีหน้าและท่าทาง แสดงว่าเกิดความโกรธเมื่อถูกถามคำถามนี้ แต่ทั้งนี้ก็ปรากฎขึ้นแค่ช่วงสั้น ๆ (2-3 วินาที) แปลว่าเจ้าตัวสามารถควบคุมอารมณ์ไว้ได้อยู่ และไม่ระเบิดออกมา

Looking to the lower right side

นาทีที่ 2:29 เมื่อตอบคำถามข้างต้น เจ้าตัวพูดว่า “(*)ก็…อ่า…การตัดสินใจ…ร่วมกัน..ครับ(**) ”

ในจังหวะ (*) จะพบภาษากายของการมองลงล่างขวา (Looking to the lower right side) มักสัมพันธ์การเกิดอารมณ์ลบ เช่น รู้สึกผิด หรือ ไม่มั่นใจ และพบได้บ่อยในกรณีที่โกหก หรือ ปกปิด ส่วนในจังหวะ (**) จะพบการเม้มปากดังที่กล่าวไปแล้ว

ในส่วนของการตอบคำถามนี้ก็น่าวิเคราะห์ เพราะคำตอบนั้นมีแค่ 3 คำตอบเท่านั้นคือ

  1. ตัดสินใจลาออกเอง
  2. พรรคขอ หรือ สั่งให้ลาออก
  3. หรือ ทั้งคู่

ทั้งนี้ แทนที่เจ้าตัวควรจะตอบคำถามนี้ได้ทันที แต่ทำไมกลับลังเลและพูด “คำประกอบ” ที่เรียกว่า filler words เช่น ก็ …เออ…อ่า ….อืมม …แบบว่า….

filler words เป็นคำที่พูดออกมาเพราะยังไม่สามารถพูดสิ่งที่ต้องการพูดจริง ๆ เพราะสมองยังไม่สามารถคิดคำตอบออกมาได้ทันท่วงที จึงต้องพูดคั่นด้วยคำเหล่านี้

ทำไม คุณ ณธีภัสร์ จึงตอบทันทีไม่ได้ ? ทั้งที่คำตอบก็แสนจะเรียบง่ายตรงไปตรงมา ?

อาจเป็นเพราะเขาไม่ได้ตัดสินใจลาออกเอง และอาจจะถูกบีบให้ต้องลาออกทั้งที่เจ้าตัวอาจจะไม่ได้เห็นด้วยเท่าใดนัก จึงทำให้คำตอบออกมาไม่หนักแน่นและลังเลก่อนที่จะตอบ

สรุป

ส่วนตัวผมค่อนข้างเสียดายที่ คุณณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ จะไม่ได้เป็น สส.แล้ว เพราะความผิดที่เขาได้ทำนั้นไม่ใช่เหตุร้ายแรง เจ้าตัวก็ไม่ได้เมามายไร้สติจนเกิดอุบัติเหตุหรือความเสียหาย แต่เพื่อแสดงมาตรฐานและสปิริตของนักการเมืองพรรคก้าวไกลที่มีนโยบายว่าจะไม่ทำตัวเหมือน สส.ในแบบที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบ และต้องการเป็นแบบอย่างของนักการเมืองที่ดี ก็ย่อมถือว่ากล้าหาญมากที่แสดงออกอย่างมืออาชีพ

เพราะเชื่อว่าถ้าเหตุการณ์นี้เกิดกับเป็นนักการเมืองในพรรคการเมืองอื่นคงไม่มีใครเลือกที่จะลาออกแน่ๆ

เคสนี้มีความน่าสนใจและมีสิ่งให้เรียนรู้มากมายทั้งในประเด็นภาษากายและภาษาพูด และผมคาดหวังว่า คุณณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ จะไม่ไปไหนและจะยังมุ่งพลักดันสิ่งที่ตนอยากทำในส่วนของนโยบายสมรสเท่าเทียม

แม้จะไม่มีตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ แล้วก็ตาม ณ วันนี้

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้ นะครับ

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *