มีนาคม 19, 2021

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 11 : Diane Downs คุณแม่ที่ยิงลูกตัวเองสามคน เขามีภาษากายอะไรให้ศึกษาบ้าง

Diane Downs เป็นผู้หญิงที่น่ากลัวที่สุดคนหนึ่งในอเมริกา ย้อนไปเมื่อปี 1983 เธอยิงลูกตัวเองสามคนในรถยนต์ โดยคนหนึ่งเสียชีวิต อีกสองบาดเจ็บสาหัส เธอยิงแขนตัวเองและแจ้งความโดยโกหกว่ามีผู้ชายหยุดรถเธอและพยายามฆ่า ปัจจุบันถูกจำคุกตลอดชีวิตอยู่ที่อริโซน่า

Diane Downs เป็นโรคจิต (Psychopathy) มีประวัติชีวิตที่น่ากังวลหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์แบบสำส่อน หนีตามผู้ชายออกจากบ้าน เรียนไม่จบ แต่ก็มีปมในวัยเด็กที่น่าสงสาร เธออ้างว่าถูกพ่อล่วงละเมิดทางเพศ ลูกคนที่สามของเธอเป็นลูกที่เกิดจากผู้ชายคนอื่นที่ไม่ใช่สามี เป็นเหตุทำให้สามีเธอฟ้องหย่าในปี 1980 จากนั้นในปี 1983 จึงเกิดคดีพยายามฆ่าลูกตัวเอง

หลังเกิดเหตุไม่มีใครคิดว่าเธอจะยิงลูกตัวเอง แต่พอทำการสืบสวนลึกขึ้นและสัมภาษณ์ครั้งแล้วครั้งเล่า ความผิดปกติในตัว Diane Downs ก็ปรากฎออกมาให้เห็น นอกจากผลการสืบสวนและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ หลักฐานในรถ ลำดับเหตุการณ์ และสถานที่เกิดเหตุพบว่าขัดแย้งกับการให้การของเธอ

วีดิโอนี้รวมการให้สัมภาษณ์ของ Diane Downs ภาษากายของเธอตอนให้สัมภาษณ์ก็ชวนให้สังเกตและเรียนรู้ ผมจึงอยากนำมาเรียนรู้กัน วาภาษากายของ Diane Downs ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตจะมีอะไรให้เราสังเกตเป็นความรู้กันบ้าง

ส่วนตัวผมดูแล้วถึงขั้นขนลุกเลยครับ

ในวีดิโอเป็นการสัมภาษณ์เธอหลังเกิดเหตุลูกคนหนึ่งเสียชีวิต อีกสองยังสาหัส เธอพูดถึงเหตุการณ์ที่ลูกเธอโดนยิงฉากต่อฉาก ผมยกมาแค่ช่วงหนึ่งของวีดิโอ คือ 6:17 – 6:39

6:17 – 6:39 ช่วงต้น

นาที 6:17 เธอเล่าถึงความคิดถึงของเธอที่มีต่อลูกชายที่เสียชีวิตว่าเธอฝันถึง แค่หลับตาก็คิดถึงทุกๆคนอย่างไร

สำหรับคนทั่วไปควรที่จะรู้สึกเศร้าหรือเสียใจ (Sadness) และอาจจะรู้สึกโกรธ (Anger) กับฆาตกรหรือกับเหตุการณ์ แต่สำหรับ Diane Downs เธอพูดไปพลางยิ้มไปด้วย ลักษณะแบบนี้ในภาษากายเราเรียกว่า Duping Delight หรือถ้าจะแปลเป็นไทยคือ ความสุขที่ซ่อนเร้น เดี๋ยวผมจะมาอธิบายคำนี้ในบทความนี้

6:39 Duping Delight

อันนี้เป็นรอยยิ้มที่ฉายออกมาชัดเจนในนาทีที่ 6:39 หลังจากที่เธอพูดถึงอาการบาดเจ็บของลูกชาย เลือดที่ไหลออกมาจากปากดังสายน้ำ มันเป็นรอยยิ้มที่ขัดบริบทที่เล่าโดยสิ้นเชิง (Smiling out of context)

แม่ที่กำลังบรรยายสภาพลูกก่อนตายกลับยิ้มออกมา !! ทางฝ่ายสืบสวนและตำรวจแทบจะรวบตัวเธอทันทีจากบทสัมภาษณ์ครั้งนี้

Duping Delight เป็นอารมณ์ของความสุขที่ซ่อนเร้นเวลาโกหก หรือ ปกปิดอะไรไว้

ยกตัวอย่าง ถ้าผมเอารถของภรรยาไปขับแล้วบังเอิญไปเฉี่ยวชนเสาไฟฟ้า มีรอย และผมโกหกกับภรรยาว่าผมไม่ได้ทำ ผมเพียงจอดไว้เฉยๆแล้วใครก็ไม่รู้มาชน

สมมุติว่าภรรยาผมเชื่อสิ่งที่ผมพูด เธอย่อมโกรธรถคันนั้นแทนที่จะโกรธผม(ที่ผมปั้นน้ำเป็นตัวขึ้นมา) และตัวผมเองก็คงมีความสุขเพราะรู้สึกปลดปล่อย (Relieve) ผมอาจจะรู้สึกสนุก หรือ สะใจที่เห็นภรรยาถูกผมหลอก (joy) หรือ อาจจะเป็นความรู้สึกดูถูกภรรยาว่าโง่กว่าผมและผมภูมิใจที่หลอกเขาสำเร็จ (Contempt)

ความรู้สึกดีใจที่ซ่อนเร้นนี้มาจากสมองส่วนกลางที่จะไปกระตุ้นให้ใบหน้าแสดงความรู้สึกออกมาแบบอัตโนมัติ เราจะพบเป็นรอยยิ้มที่เก็บไว้ไม่อยู่นั้นฉายออกมาบนใบหน้า อาจเป็นรอยยิ้มครึ่งปาก (Smug smile) รอยยิ้มบางๆ (Subtle smile) แล้วแต่ว่ามีอารมณ์อะไรมาผสมโรง ณ วินาทีนั้น ส่วนใหญ่จะเรียกรวมๆว่าการเก็บกดรอยยิ้ม(Suppress smile)

ในกรณีของ Diane Downs ซึ่งมีความผิดปกติทางจิต เธอยิ้มเพราะมีความสุขกับความทรมาณและการตายของลูก

คำแนะนำของผมคือ เราต้องเตือนและสอนลูกหลานของเราให้ระวังบุคคลกลุ่มนี้ เช่นเมื่อสนทนากับใครโดยเฉพาะคนแปลกหน้า ให้ลองสังเกตภาษากายว่ามี Duping Delight หรือไม่ เพราะคนที่มีความผิดปกติทางจิตมักจะยิ้มมีความสุขกับความรุนแรง การคุกคาม การทำร้ายร่างกายและการเห็นผู้อื่นมีความทุกข์

สมมุติว่าคุยกันถึงเรื่องที่ไม่ดีและแย่มากๆ เช่น สงคราม ผู้เคราะห์ร้ายจากอุบัติเหตุหรือถูกกระทำชำเรา แล้วพบว่าอีกฝั่งยิ้มแบบ Duping Delight อยากแนะนำให้ลูกหลานคนรีบถอยห่างออกมาเพื่อความปลอดภัย เพราะไม่ใช่ทุกรอยยิ้มที่เป็นมิตร

โลกเรายุคนี้เต็มไปด้วยคนไม่ดีและคนไม่ปรกติ เราต้องเรียนรู้และระวังกันมากยิ่งขึ้นครับ

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ

หมอมด (ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น บุคคลอ้างอิงในเวปไซด์จะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube) เป็นต้น การตีความและอธิบายภาษากายไม่มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนในเชิงการเมือง หรือ มีจุดประสงค์ที่จะละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

1 Response

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *