เมษายน 24, 2023

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 141 : คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ภาษากายของการไม่มองหน้า/สบตา คุณ สุทธิชัย หยุ่น

นอกจากการแถลงข่าวกับผู้สื่อข่าวแล้วเรามักไม่ค่อยพบรายการสัมภาษณ์ของคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่าใดนัก ทำให้ VDO ชุดนี้มีความน่าสนใจเพราะเราจะสามารถได้สังเกตและเรียนรู้ภาษากายของคุณประยุทธ์ได้นานถึง 20 นาที

ทั้งนี้เนื่องจาก VDO มีความยาวพอสมควร บทความนี้ผมจึงขอเลือกประเด็นที่เด่นและที่น่าสนใจเพื่อหยิบยกขึ้นมาเรียนรู้กันนะครับ

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด 

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
Diminished eye contact
Looking away

ถ้าคุณสังเกตสิ่งที่เป็นรูปแบบ (Pattern) ของภาษากายคุณประยุทธ์ จะพบว่าตลอดระยะเวลาของ VDO ชุดนี้เขามักจะหลีกเลี่ยงที่จะสบตา และไม่หันหน้าไปที่คุณสุทธิชัย ซึ่งถ้าประเมินโดยเฉลี่ยจะอยู่ราว 70% ของเวลาที่สัมภาษณ์เลยทีเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามักไม่พบ

ทั้งนี้ในทางภาษากาย เราสามารถแปลความหมายได้อย่างไรบ้าง ?

  • ตื่นเต้น (Anxiety) บางคนที่เกิดความตื่นเต้นในการสัมภาษณ์มักจะสบตาอีกฝ่ายน้อยลง สิ่งที่เป็นไปอย่างธรรมชาติ เพราะการสบตาจะก่อให้เกิดความเครียดและกดดัน โดยเฉพาะถ้าสภาวะนั้นมีความเครียดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น การสอบสวน หรือ สัมภาษณ์คัดเลือก
  • ความมั่นใจต่ำ (Lack of confident) เมื่อมีความมั่นใจต่ำจะมีอารมณ์ลบบังเกิดอย่างซับซ้อนหลายอย่าง เช่น กลัว อาย ประหม่า และตื่นเต้น ทำให้พบภาษากายของลดการสบตาและหันหน้าไปในทิศทางอื่น
  • อาย (Shyness) ความอายก็จะลดการสบตา แต่จะต้องควบคู่กับหน้าที่แดงขึ้นด้วยเสมอ (Blushing)
  • กำลังโกหก หรือ ปกปิด (Deception) ในสภาวะที่กำลังโกหกก็จะพบบ่อยที่มีอารมณ์ต่าง ๆ บังเกิดขึ้นมาโดยเฉพาะความตื่นเต้นและความกลัว
  • ความรังเกียจ หรือ ไม่ชอบ (Dislike , Disrespect) โดยทั่วไปถ้าเราไม่ชอบอะไร เราก็จะหลีกเลี่ยงที่จะมองสิ่งนั้น
  • เป็นวัฒนธรรม (Culture) เช่น ในบางประเทศการมองหน้าอีกฝั่งจัดว่าไม่สุภาพโดยเฉพาะถ้าอีกฝ่ายมีสถานะทางสังคมที่สูงกว่า
  • นอกจากนี้อาจจะเป็นพยาธิสภาพ เช่น สภาวะโรคออทิสติก (Autism – ASD) ผู้ที่มีสภาวะนี้จะไม่สามารถสบตาใครได้นาน (Limited eye contact) 

ทั้งนี้ผมอยากจะย้ำว่าภาษากายที่ปรากฎจะไม่ได้มีต้นตอมาจากสิ่งใดหนึ่งสิ่งใดที่ชัดเจน แต่มักจะเป็นการผสมกันของอารมณ์ที่หลากหลายอันเป็นปัจจัยภายในและแม้แต่ปัจจัยภายนอกอื่น ๆ เช่น มีสิ่งที่ดึงความสนใจทำให้มองไปทางอื่น (Distraction)

ถ้าพูดถึงส่วนของบุคลิกภาพ ลักษณะของการสบตาที่ไม่ดี (Poor eye contact) ทำให้คุณประยุทธ์ดูไม่สง่างามและขาดความมั่นใจ พลอยทำให้สิ่งที่พูดนั้นขาดน้ำหนักและความน่าเชื่อถือ ซึ่งตรงกันข้ามกับคุณสุทธิชัยที่บุคลิกเหนือกว่า ดุมีความมั่นใจ นิ่ง สุขุม และเนี้ยบกว่ามาก

สรุป

สำหรับใครที่อยากขึ้นมาเป็นผู้นำจะต้องให้ความสำคัญกับบุคลิกภาพ เพราะจะสะท้อนถึงตัวตน ความน่าเชื่อถือ และความมั่นใจของตนและของคนอื่น การสบตาเป็นสิ่งที่สำคัญอันดับต้น ๆ และข่าวดีคือเป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนกันได้

ถ้าอนาคตคุณประยุทธ์ได้บังเอิญขึ้นมานั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งไม่ว่าจะผ่านกระบวนการเลือกตั้ง หรือ การยึดอำนาจด้วยการรัฐประหาร ก็ควรอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับแผนพัฒนาบุคลิกภาพของตนเอง

การบ้าน

ในนาทีที่ 10:51 ซึ่งตรงกับช่วงที่คุณสุทธิชัยถามว่า “คุณไม่กลัวหรือว่า มีรัฐมนตรีบางคนไปมีเรื่องคอรับชั่น”

คำถาม

  • คุณประยุทธ์แสดงภาษากายอะไรออกมาบ้างระหว่างที่ตอบคำถาม
  • ภาษากายเหล่านั้นมีความหมายที่เกี่ยวโยงกันอย่างไร
  • คุณจะวิเคราะห์ถึงความน่าเชื่อถือของคำตอบคุณประยุทธ์เพียงใด

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *