ห้วงเวลานี้เป็นช่วงสำคัญของทุกพรรคที่จะลงพื้นที่และทำการตลาดเพื่อหาเสียง ในเวทีสัมภาษณ์แต่ละแห่งก็จะเริ่มยิงคำถามสำคัญกับตัวแทนพรรคโดยเฉพาะเรื่องจุดยืนทางการเมือง
VDO นี้คุณ เคน นครินทร์ ได้สัมภาษณ์คุณแพทองธาร ชินวัตร ในประเด็นทางการเมืองสำคัญหลายประเด็น และหนึ่งในคำถามที่สำคัญคือจุดยืนของพรรคการเมือง
ซึ่งเป็นคำถามที่ถือว่าสำคัญมากเพราะนักการเมืองไทยมักถูกตราหน้าว่าไม่รักษาคำพูด กลับคำ และเปลี่ยนขั้วอยู่บ่อย ๆ คุณแพทองธารซึ่งเป็นนักการเมืองใหม่ที่ยังไม่มีประวัติทางการเมืองในแง่ลบ ก็อาจมีความกดดันกับประเด็นคำถามพอสมควร เพราะคำพูดที่ออกมาย่อมผูกไปกับภาพลักษณ์ในอนาคตของตัวเองและของพรรคเพื่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
VDO ชุดนี้จึงเหมาะที่จะใช้เป็นการเรียนรู้ภาษากายในสภาวะที่อยู่ภายใต้ความกดดัน การตอบสนอง และปฎิกิริยาร่างกาย และเนื่องจาก VDO มีความยาวมากกว่า 1 ชั่วโมง จึงขอนำแค่บางส่วนของ VDO มาวิเคราะห์เท่านั้น คือช่วงนาที 11:48 ถึง 23:24
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
เมื่อคุณเคนเริ่มเข้าประเด็นถึงจุดยืนของพรรค ในนาที 12:47
คุณเคน “ผมจะลองไล่ดูทุกเซนาริโอ้ ว่าคุณอิ้งคิดยังไงก็แล้วกันนะครับ”
คุณแพทองธาร “โอเค”
ภาพแรกจะพบคุณแพทองธารเม้มปาก (Inward lip roll) 2 ครั้งติด ๆ กัน ในภาษากายเป็นการแสดงออกเมื่อมีความกดดันและเครียด จะปรากฎออกมาเมื่อต้องการเก็บ หรือกด อารมณ์ลบที่กำลังปะทุขึ้นมา (concealing strong negative emotion) ทั้งนี้จะต้องแยกให้ออกระหว่างการเลียริมฝีปากเพราะปากแห้ง
ท่านั่งของคุณแพทองธารก็จะพบการประสบมือวางไว้บนตัก โดยมือขวาอยู่บนมือซ้ายทำให้แขนทั้งสองข้างแนบชิดลำตัว และห่อไหล่เล็กน้อย ท่านั่งลักษณะนี้ดูแล้วเหมือนท่านั่งทั่วไปที่ดูสุภาพเรียบร้อย แต่จะสะท้อนสภาวะทางจิตใจที่ต้องการป้องกัน และเป็นท่ากลุ่ม Beta posture ที่ดูมีความมั่นใจน้อยกว่าท่านั่งแบบอื่น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ ท่านั่งของคุณ เคน นครินทร์ ที่นั่งตรงกันข้ามกับคุณแพทองธาร เขาจะนั่งในลักษณะไหล่เปิดกว้าง ใช้มือประกอบการพูด และขาทั้งสองข้างแยกห่างจากกันทำให้ดูหนักแน่นและมั่นใจ
ทั้งนี้ถ้าพิจารณาร่วมกับสภาวะที่คุณแพทองธารกำลังท้องแก่ อาจเป็นข้อจำกัดในท่านั่ง ก็เป็นอีกส่วนที่เป็นไปได้
และหลังจากที่คุณแพทองธารพูดว่า “โอเค” จะพบว่าเขายกมือขวาขึ้นมาสัมผัสริมฝีปาก ซึ่งอาจจะเพราะก่อนหน้าเพิ่งจะทำ inward lip roll สองครั้งติด ๆ กันจนกังวลว่าลิปสติกที่ทาไว้จะหลุด หรือ ไม่ การใช้มือขึ้นมาสัมผัสจึงเป็นการ “เช็คร่างกาย”
ในภาษากาย การเช็คความพร้อมของร่างกายมักจะเกิดบ่อยเมื่อตื่นเต้น โดยมือมักจะเคลื่อนไหวโดยไม่ได้มีเหตุผลนัก เช่น เกาหู เอามือเช็ดนาฬิกา ขยับเน็กไท เอามือขึ้นมาเสยผม หรือ ทัดผม
ในจังหวะนี้พอจะสะท้อนได้ว่าจากภาษากายที่ปรากฎ คุณแพทองธารตื่นเต้นพอสมควร และความมั่นใจที่จะตอบคำถามอาจไม่เต็มร้อย
นาที 14:55 ในจังหวะนี้คุณแพทองธารพูดแทรกคุณเคนว่า “อิ้งขอตอบในส่วนที่อิ้งตอบได้เลยนะ”
คุณแพทองธาร ทำท่าเหมือนสับหมูและชี้ไปข้างหน้า ลักษณะนี้คือมือประกอบแสดงถึงการยืนยันสิ่งที่พูดตอนนั้น
ทั้งนี้ ถ้าวิเคราะห์คำพูดของคุณแพทองธาร ว่าจะขอตอบเฉพาะส่วนที่ตัวเองตอบได้ เป็นการออกตัวเพื่อกำหนดเงื่อนไข เพื่อวางกรอบของสิ่งที่ตัวเองจะตอบว่าจะขอตอบแค่ไหน และสื่อความหมายว่าเขาไม่ประสงค์จะตอบทุกคำถาม
และก่อนจะตัดภาพไปที่คุณเคน เราจะพบ การก้มหน้ามองไปด้านล่างขวา (Diminished eye contact – at lower right Quadrant) เป็นลักษณะการหลบตาแบบหนึ่งมักสัมพันธ์กับความรู้สึกผิด ละอาย ไม่มั่นใจ หรือ อยากหนีออกจากสถานการณ์นั้น (Guilt , Shame , Deception , low-confident , Fear) และกลืมน้ำลายก้อนใหญ่ (Hard swallowing)
การกลืนน้ำลายก้อนใหญ่ (Hard swallowing) มักพบเวลามีอาการตื่นเต้น เครียด และหวาดกลัว จึงสัมพันธ์กับการเก็บอั้นอารมณ์ลบและจะชัดเจนและถี่มากยิ่งขึ้นตามความรุนแรงของอารมณ์ สามารถอธิบายจากการร่างกายจะลดการทำงานของระบบย่อยอาหารทำให้ลดการหลั่งน้ำลายและน้ำย่อย น้ำลายจะเหนียวและข้นทำให้ต้องพยายามกลืนน้ำลายจนเห็นการเคลื่อนไหวของลูกกระเดือกที่ลำคออย่างชัดเจน พร้อมกับกล้ามเนื้อบริเวณคอจะมีการหดเกร็งกว่าในสภาวะปกติ ทั้งนี้จะต้องแยกออกจากความผิดปกติที่เรียกว่าภาวะกลืนลำบาก (Dysphagia)
นาที 18:29
คุณเคน : เอาพรรครวมไทยสร้างชาติก่อน จุดยืนยังเหมือนเดิมไหมครับ กับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
คุณแพทองธาร : คะ (หมายถึงไม่จับมือ)
คุณเคน : พลังประชารัฐ ละครับ
คุณ แพทองธาร : เออ …(นาน 6 วินาที)… คืองี้
ในตอนที่คุณแพทองธาร ตอบว่า “คะ” จะสังเกตเห็นการหลับตาอยูราวเกือบครึ่งวินาที เป็นลักษณะการหลบตาแบบหนึ่ง (Dininished eye contact) มักจะพบเวลามีความรู้สึกที่ไม่ชอบ หรือ อึดอัดใจ ในส่วนนี้น่าคิดว่าทำไมถึงมีความรู้สึกอึดอัดเมื่อตอบว่ามีจุดยืนที่จะไม่จับมือกับประยุทธ์ ในส่วนนี้ทำให้ “ขาดความหนักแน่น” ของคำตอบที่ว่าจะไม่จับมือกับคุณประยุทธ์
และเมื่อถูกถามการจับมือกับพลังประชารัฐ คุณแพทองธารทำท่าคิดในลักษณะตามองขึ้นบนและเฉียงไปทางขวา (looking to the upper right quadrant) รูปแบบของการเคลื่อนไหวของลูกตาเช่นนี้มักจะเกิดเมื่อเราจินตนาการถึงภาพ หรือ คิดคำที่จะตอบ ที่น่าสนใจคือหยุดคิดอยู่นานถึง 6 วินาที ซึ่งถือว่ายาวนานมาก
คุณแพทองธารย่อมต้องมีคำตอบในใจแต่น่าแปลกที่ไม่ได้เตรียมคำตอบเอาไว้ หรือกังวลกับคำตอบ
ทั้งที่คำตอบย่อมมีอยู่แค่สองอย่าง คือ “จะจับมือกับพลังประชารัฐ ด้วยเหตุผล XXXX” หรือ “ไม่จับมือด้วยเหตุผล XXXX”
และต่อมาคุณแพทองธารได้อธิบายช่วงนาทีที่ 19:08 ในทำนองว่า “ไม่อยากพูดอะไรให้ผูกมัดตัวเองเพราะการตัดสินใจในอนาคตเป็นสิ่งที่ยืนยันไม่ได้”
แปลได้ว่าพรรคเพื่อไทยมีจุดยืนที่ “ยืดหยุ่น” และพร้อมเจรจาต่อรองในอนาคตเสมอ
นาที 18:59 คุณแพทองธารอธิบายว่า “มันจะมีดีเทลอีก” และแสดงการหลบตาแบบ Prolong eye closure ตรงนี้น่าสนใจว่า คำว่า “มีดีเทลอีก” ของคุณแพทองธารหมายถึงอะไร ? (ผมเดาว่าคนส่วนใหญ่น่าเข้าใจว่าหมายถึงตำแหน่งรัฐมนตรี )
สรุป
จากการตอบและภาษากายของคุณแพทองธาร ชินวัตร อาจตีความได้ว่า
- พรรคเพื่อไทยมีจุดยืนที่ “ยืดหยุ่น” มากกว่าการมีจุดยืนที่ “ชัดเจน” และพร้อมปรับเปลี่ยนสำหรับการต่อรองทางการเมืองในอนาคตเสมอ
- พรรคเพื่อไทยยินดีจับมือกับพรรคที่สามารถ “คุยกันได้”
- พรรคเพื่อไทย พร้อมจับมือกับพลังประชารัฐที่นำโดยคุณประวิตร วงค์สุวรรณ ถ้า “คุยกันได้”
ดูแล้วเหมือนว่าการเมืองไทยเรายังวนเวียนกับการเจรจาต่อรองและยืดหยุ่น มากกว่าที่จะยึดหลักการและมีอุดมการณ์ที่หนักแน่น
จึงไม่แปลกที่แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปแค่ไหนแต่การเมืองไทยยังคงกลิ่นอาย “แบบเดิมๆ” เสมอ
บทความนี้ก็ได้เรียนรู้ภาษากายในบริบทของการสัมภาษณ์เรื่องที่เครียดและตอบค่อนข้างยาก และได้เกร็ดความรู้ที่น่าสนใจหลายประเด็น
ขอให้สนุกกับการเรียนรู้
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น