ภาพสื่อโฆษณาของ The standard ภาพนี้ถือว่ารวมผู้นำของแต่ละพรรคใหญ่ที่กำลังจะลงเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2566 นี้ ความน่าสนใจคือภาพนี้รวมสีหน้า (Facial expression) ไว้หลายแบบ ผมจึงมีความคิดที่จะนำมาขยายความและลงรายละเอียดเพื่อให้ได้เข้าใจสีหน้ากันได้มากขึ้น
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbral communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
ขอพูดเกริ่นถึงสีหน้า (Facial expression) สักหน่อย
สีหน้าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของอวัจนะภาษา (nonverbal communication) และสื่อสารอารมณ์ของบุคคลได้หลากหลาย เช่น ความสุข ความเศร้า ความโกรธ ความกลัว ความตื่นตระหนก หรือ ตกใจ และรวมถึง ความเกลียด
การแสดงออกทางสีหน้าบางอย่างมีความแม่นยำสูงและเป็นสากล (Universal) และการแสดงออกทางสีหน้าบางอย่างอาจได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมและสังคมแวดล้อม เพราะแต่ละสังคมย่อมมีความหมายในแบบของมัน และแม้แต่ถ้าพิจารณาเป็นรายบุคคลก็อาจพบได้ว่าแต่ละคนจะมีสีหน้าบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง
มาเริ่มที่ภาพแต่ละบุคคลเลยนะครับ
เริ่มจากคุณอนุทิน มีสีหน้าที่เด่นชัดคือคืออารมณ์เกลียด หรือ ไม่ชอบ (Disgust / Dislike) เอกลักษณ์ของสีหน้าชนิดนี้ คือมุมปากตกจากการหดตัวของกล้ามเนื้อ Depressor Anguli Oris และกล้ามเนื้อ Mentalis ตรงคางทำให้เห็นริมฝีปากเป็นรูปยิ้มกลับหัว ส่วนเปลือกตาจะหรี่เล็กลงทำให้เห็นตาดำน้อยลง
ส่วนภาพของคุณประวิตรก็มี disgust แต่ในระดับน้อยกว่า และพบการหดตัวของมัดกล้ามระหว่างคิ้วด้วยเล็กน้อยซึ่งเป็นส่วนประกอบของสีหน้าโกรธ (Anger)
คุณ เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ก็คล้ายกับคุณประวิตร คือ มีสีหน้าที่ควบรวมทั้ง Disgust และ Anger ทำให้เกิดสีหน้าคล้ายคนหงุดหงิด (irritable / moody) บางคนที่มีอารมณ์เบื่อ (Bored) ก็มีสีหน้าแบบนี้
ทั้งนี้สีหน้าที่ปรากฎของทั้งสามท่านนี้อยู่ในระดับที่แสดงอารมณ์ออกมาน้อย ซึ่งอาจแปลว่ามีอารมณ์ชนิดนั้นอยู่แต่ไม่รุนแรง (Low intensity)
อีกสิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตได้ในภาพคือคุณประวิตรกำลังสวมนาฬิกาและแหวน ซึ่งทำให้เราหวนนึกถึงข่าวในอดีตในประเด็น “แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน” ในส่วนนี้อาจจะเป็นชั้นเชิงของความครีเอทีฟของทีมกราฟิก
คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่เด่นบนใบหน้าคือสีหน้าของความโกรธ (Anger) และส่วนของ Anger มี intensity มากกว่าของคุณประวิตร โดยเทียบจากการมีขอบตาบนและล่างที่ดูหดเกร็ง (Tense upper snd lower eyelid) และกล้ามเนื้อระหว่างคิ้วก็ตึงมากกว่า ส่วน Disgust อาจจะไม่เด่นเท่าไหร่
อยากให้ระลึกว่าความเข้มข้นของอารมณ์ จะแปรผันตรงกับความแรงของการหดตัวของกล้ามเนื้อ ยิ่งอารมณ์รุนแรง กล้ามเนื้อก็หดตัวแรงตาม
ส่วนตาที่มองไปทางขวามือของภาพ(ซึ่งเป็นศัตรูทางการเมือง)ก็น่าจะเป็นความตั้งใจของฝ่ายกราฟิกที่เลือกให้ภาพออกมาแบบนี้ ถือว่าเป็นการสร้างสีสันให้กับภาพโฆษณานี้อย่างมีศิลป์มีสไตล์
คุณวราวุธ ศิลปอาชา ก็มีสีหน้าของ Anger เล็ก ๆ ซึ่งข้อดีคือช่วยขับให้สีหน้าดูเข้ม จริงจัง และเมื่อบวกรวมกับมุมภาพที่ถ่ายจากมุมเฉียงขึ้นบนก็เพิ่มความเด่นมากยิ่งขึ้น
คุณแพทองธาร โดยรวมเหมือนจะมีสีหน้าที่เรียบเฉย (Blank face) แต่ถ้าสังเกตลึก ๆ จะพบที่ริมฝีปากว่ามีรอยยิ้มเล็กน้อยที่ซ่อนเอาไว้ (Suppressed smile) ลักษณะเช่นนี้พบได้บ่อยกับคนที่มักมีรอยยิ้มเป็นบุคลิกพื้นฐาน (Baseline behavior) ทำให้แม้จะพยายามเกร็งหรือทำหน้านิ่ง ๆ เข้ม ๆ เพื่อถ่ายภาพก็ยากที่จะซ่อนรอยยิ้มไว้ให้สนิท
คุณสุดารัตน์ ยิ้มในลักษณะ “ยิ้มเข้าสังคม” หรือ Social smile คือการยิ้มแต่ปากจากกล้ามเนื้อ Zygomatic major ส่วนกล้ามเนื้อ Orbicularis oculi ไม่ได้หดตัว
ภาพนี้เจ้าตัวเงยหน้าเล็กน้อย(สังเกตจากรูจมูกที่ดูใหญ่และชัด) การเงยหน้าในลักษณะนี้เป็นภาษากายที่แสดงถึงสถานะที่สูงกว่า (Supriority) ซึ่งข้อดีคือช่วยขับภาพลักษณ์ให้ดูมั่นใจและสง่า (แต่ถ้าการเงยหน้าที่ควบคู่กับสีหน้า Contempt อาจทำให้ดูหยิ่งและผยอง)
คุณกรณ์ จาติกวณิช มีรอยยิ้มที่ค่อนข้างฝืนยิ้ม (Force smile) เพราะกล้ามเนื้อส่วน 1/3 ล่างของใบหน้ามีการหดตัวหลายมัด เช่น Masetter มุมปากจึงยิ้มไม่สุดและดึงไปทางด้านหลัง (Pulled back)
Force smile มักพบได้ทั่วไปกับคนที่ยิ้มไม่เก่งแล้วถูกบังคับให้พยายามฝืนยิ้มเพื่อจะถ่ายภาพ
เพราะฉะนั้นใครอยากยิ้มให้ออกมาดูดีควรจะต้องฝึกยิ้มกับกระจกจนกล้ามเนื้อสามารถจดจำลักษณะการยิ้มไว้ได้ (วิธีเดียวกับนางงามฝึกยิ้ม)
สองท่านสุดท้ายมีสีหน้าที่เรียกว่า Contempt เอกลักษณ์ของสีหน้านี้คือการยิ้มด้วยมุมปากข้างเดียวที่คำไทยเรียกว่าแสยะยิ้ม และเปลือกตาจะหรี่เล็ก ในส่วนของคุณ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จะไม่ชัดนัก แต่ของคุณประยุทธ์จะชัดเจน
ภาพยิ้มด้วยมุมปากข้างเดียวไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้เป็นภาพหาเสียง เพราะมีความหมายในแง่ลบและพลอยทำให้ภาพลักษณ์ของเจ้าตัวลบตามได้เช่นกัน
สรุป
บทความนี้น่าจะช่วยให้ผู้ที่สนใจภาษากายได้เปรียบเทียบสีหน้าและทราบรายละเอียดจากภาพได้มากยิ่งขึ้น และอยากย้ำว่าภาษากายเป็น “ทักษะ” จึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยการฝึกฝน เฝ้าสังเกต และฝึกวิเคราะห์จนสามารถสังเกตในรายละเอียดเล็ก ๆ ที่คนทั่วไปมองข้ามได้
สวัสดีครับ
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)