มกราคม 29, 2023

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 132 : บิว จักรพันธ์ ประกาศลาออกจากค่าย ภาษากายที่ผสมผสานของความโกรธแค้น เกลียดชัง

**VDO ที่ผมใช้เพื่อเขียนบทความถูกจำกัดการเข้าถึงจากเจ้าของ VDO ผมจึงแนะนำให้ดูผ่าน VDO ของสำนักข่าวแทนตามที่ปรากฎข้างต้น ทั้งนี้ในส่วนของ time mark จะมีความคลาดเคลื่อนไปบ้าง**

เป็นข่าวดังเมื่อคุณบิว จักรพันธ์ พุทธา ได้ถูกแฉจากแฟนเก่าในประเด็นการทำร้ายร่างกาย และต่อมาก็เกิดกระแสสังคมรุมโจมตีคุณบิวจนในที่สุดเจ้าตัวก็ตัดสินใจยุติการเป็นนักแสดงตามที่ปรากฎใน VDO นี้ แฟนคลับหลายท่านหลังจากได้เห็นก็ได้แจ้งกับผมว่ามีภาษากายที่น่าสนใจ ผมจึงตัดสินใจยกขึ้นมาทำเป็นบทเรียนกัน นะครับ

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbral communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด 

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์

ในเคสนี้ผมจะวิเคราะห์ภาษาพูดที่เขาใช้ด้วย เพราะมีจุดที่น่าเรียนรู้พอสมควรครับ

นาที 5:19 “จากเรื่องราวที่เกิดขึ้น จากข้อผิดพลาดทางสังคมที่เกิดขึ้นตอนนี้”

จังหวะนี้ผมสนใจภาษาพูดที่คุณบิวใช้พูดว่า “ข้อผิดพลาดทางสังคม”

คำนี้แปลก ๆ เพราะไม่ได้สื่อถึงอะไรที่ชัดเจน ฟังดูแล้วคล้ายเป็นการอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดกับตนให้ดูห่างไกลตัวออกไป (Distancing) และไม่ได้มุ่งเป้าในรายละเอียดของตนเอง เป็นลักษณะการใช้คำพูดเพื่อเบี่ยงและปฎิเสธรูปแบบหนึ่งเพื่อให้ตนเองดูราวไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์

ถ้าคุณบิวจะสื่อสารให้ตรง ๆ ก็น่าจะพูดว่า “จากข่าวที่เกี่ยวกับผมในช่วงนี้”

ซึ่งในจุดนี้จึงเป็นไปได้ว่าเจ้าตัวพูดแบบท่องบท หรือ ท่องสคริป และน่าจะมีคนช่วยเตรียมให้ถึงมีการใช้ภาษาแปลก ๆ และขัด ๆ

Facial expression of Anger

6:01 “สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ (*)ผมขอยืนยันว่าผมพูดจากใจจริง และผมขอพูดเลยว่าผมพูดสัตย์จริงทุกประการ”

ในส่วนของภาษากาย จะพบว่าในจังหวะ (*) เจ้าตัวขยับตัวขึ้นยืดหลังตรงและใบหน้ามีลักษณะของ Anger หรือความโกรธ

ความโกรธเป็นสีหน้าที่สังเกตไม่ยาก ความรุนแรงของอารมณ์จะแสดงออกผ่านใบหน้าว่ามีการหดเกร็งมากน้อยเพียงใด และส่วนใด หลัก ๆ ในเคสนี้คุณบิวจะมีสีหน้าของความโกรธฉาบไว้เกือบจะตลอด 3 นาทีที่แถลงข่าว และมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงที่พูด รวม ๆ คือจะมีส่วนของเปลือกตาบนและล่างที่หดเกร็ง (Tense upper and lower eylid) และในจังหวะนี้ จะพบการหดเกร็งที่ริมฝีปากจนทำให้ปากดูเรียวและบางลงจาก กล้ามเนื้อ Orbicularis oris สีหน้าจึงเหมือนไปโกรธใครมา หรือ ไม่พอใจอะไรบางอย่างอยู่

ผมอยากให้สังเกตภาษาพูดที่เขาว่ามีการ “ย้ำ” ว่าตัวเองกำลังพูดความจริง ในส่วนนี้น่าวิเคราะห์ว่าทำไมเจ้าตัวจะต้อง “ย้ำ” ขนาดนี้ ? เพราะอยากให้คนเชื่อ ? หรือ ลึก ๆ มีความกังวลใจว่าสังคมจะไม่เชื่อสิ่งที่ตนเองสื่อสารหรือเปล่า ?

อีกประเด็นคือ “น้ำเสียง” ของคุณบิวที่ตลอดช่วง 3 นาทีจะมีน้ำเสียงที่แข็งห้วน สะท้อนอารมณ์โกรธ หรือ ความไม่พึงพอใจได้ชัดเจน

(*) ลิ้นงู
(**) Disgust + Anger
(***) disgust + anger

นาที 6:21 ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตผมมาสักระยะหนึ่งแล้วครับ (*) จนถึงวันนี้ (**)ผมตัดสินใจว่า ผมต้องออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องตนเองบ้าง (***)

ช่วงนี้พบภาษากายหลายอย่าง

  • ในจังหวะ (*) พบลิ้นงู ลิ้นงู เป็นภาษากายที่พบเวลาคนเรากำลังคิดในสิ่งที่ตนมองว่าไม่ดี (Deception) ซึ่งเป็นได้ทั้งเรื่องจริงและเท็จ ทั้งนี้ต้องแยกแยะให้ออกกับการเลียริมฝีปากเพราะปากแห้ง (ทั้งนี้ในจังหวะนี้เป็นไปได้ว่าจะเป็นลักษณะปากแห้ง เพราะระยะเวลาที่แสดงออกของการแลบลิ้นนานกว่าลักษณะของลิ้นงูที่ใช้เวลาสั้นกว่า)ทั้งนี้หลายคนมักจะวิเคราะห์ผิดว่า ลิ้นงู = โกหก เราจะวิเคราะห์ภาษากายแบบนั้นไม่ได้แต่จะต้องดูองค์ประกอบอื่นผสมไปด้วย เพราะหลายครั้งลิ้นงูไม่ได้แปลว่าโกหกเสมอไป
  • ในจังหวะ (**) เป็นต้นไปจะพบสีหน้าของความเกลียด หรือ ไม่ชอบ (Disgust) ร่วมด้วย จากมุมปากล่างที่ตกลงเล็กน้อยจากกล้ามเนื้อ Depressor Anguli Oris และ Mentalis
  • อีกภาษากายที่น่าสนใจของความโกรธ คือ การขยายตัวของรูจมูก (Nasal flaring) ในจังหวะ (***)ก็จะพบได้เสมอเวลามีความโกรธเกิดขึ้น ร่างกายจะต้องการออกซิเจนมากขึ้น จึงยิ่งชัดว่าจังหวะนี้เจ้าตัวเกิดอารมณ์โกรธที่รุนแรง (ซึ่งก็สอดคล้องกับที่พูดว่า จะปกป้องตัวเอง)
  • มีการเคลื่อนขยับของขากรรไกรล่างมาทางด้านหน้า (Jaw protrusion) สัมพันธ์กับอารมณ์โกรธ

6:45 “ผมเองก็แค่มนุษย์คนหนึ่ง ผมยอมรับว่าผมไม่ใช่คนที่สมบูรณ์แบบ แม้สิ่งที่ปรากฎจะตีความว่าผมแย่แค่ไหนก็ตาม”

ประโยคนี้เป็นเทคนิคการพูดที่เรียกว่า Normalization (ผมไม่แน่ใจว่าในภาษาไทยควรแปลว่าอะไร ถ้าผู้อ่านท่านใดแนะนำเข้ามาได้จะเป็นพระคุณยิ่ง)หรือ การหาเหตุผลมาอ้างเพื่อให้ตนเองไม่แตกต่างจากคนปกติทั่วไป มันก็เป็นประโยคเดียวกับประเภทเพื่อจะเบี่ยงประเด็นเพื่อปกป้องตนเองและมุ่งให้เกิดภาพลักษณ์ว่า “ฉันก็แค่คนธรรมดา…ที่ทำผิดพลาด…เหมือนคนทั่วไปที่ก็ทำผิดได้….”

Sadness + anger

7:09 “ชีวิตผมต้องพังทลายลง” ในจังหวะนี้เจ้าตัวมีสีหน้าของความเศร้า (Sadness) ปรากฎขึ้นมาจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เปลือกตาบนที่หดเกร็งน้อยลงและมุมปากตกเล็กน้อยจากกล้ามเนื้อ Depressor Anguli Oris

ลิ้นงู

7:20 “แม้กระทั้งตอนนี้ที่ผมนั่งหายใจอยู่ ผมก็ยังผิด ผมไม่สามารถทำอะไรมากไปกว่านี้ได้แล้วครับ (*)”

ประโยคนี้ผมไม่ทราบว่าใครแนะนำให้พูด หรือ เขียนให้ แต่จุดประสงค์เหมือนการเล่นบทให้ตนเองเป็นเหยื่อ (Victim) ร่วมกับประโยคข้างต้นที่พูดว่า “ผมไม่เหลืออะไร” และสังเกตมีลิ้นงูปรากฎออกมาตอนจังหวะ (*)

Jaw protrusion

7:48 “ผมจะต่อสู้เพื่อคนที่ผมรัก คนที่ยังรักผม คนที่เชื่อมั่นในตัวผม รวมถึงครอบครัวและตัวผมเองด้วย (*) ผมขอให้ทุกคนอดทน และผมก็จะเข้มแข็งและอดทนเพื่อรอคดีในชั้นศาล”

จังหวะ (*) มีการเคลื่อนขยับของขากรรไกรล่างมาทางด้านหน้า (Jaw protrusion) และการขยายตัวของรูจมูก (Nasal flaring)สัมพันธ์กับอารมณ์โกรธ ส่วนสีหน้าก็พบเป็น anger + disgust

น้ำเสียงในจังหวะนี้ก็ชัดเจนว่าเสียงดังขึ้นและมีความแข็งกร้าวมาก ๆ

เม้มปาก
เกร็งริมฝีปาก

8:05 “(*) จากนี้.(**).ผมเชื่อว่า ความจริงจะชนะในที่สุด” จะพบภาษากายคือ

  • ในจังหวะ (*) มีการเม้มปาก (Inward lip roll) เป็นภาษากายที่เกิดโดยปราศจากการบังคับโดยเจ้าตัว (Subconcious) จะสัมพันธ์กับการกลั้นอารมณ์ลบ (Conceling strong negative emotion) เช่น การกลั้นอารมณ์เสียใจ ความเครียด ความกลัว หรือความโกรธ ทั้งนี้จะต้องแยกออกจากสภาวะปากแห้ง หรือ ริมฝีปากแห้ง
  • พบเกร็งริมฝีปาก (Lips compression)  ในส่วนนี้จะเป็น Facial expression ของ Anger หรือความโกรธ เวลาคนเราโกรธเราจะพบการเกร็งริมผีปากในลักษณะนี้
  • อยากให้สังเกตที่ดวงตา จะพบเงาสะท้อนในแววตาชัดซึ่งเป็นสภาวะที่มีน้ำตาคลอ (แต่ไม่ถึงกับออกมาเป็นหยด) ตรงนี้เจ้าตัวกำลังมีอารมณ์ลบที่รุนแรงเกิดขึ้นและพยายามอย่างมากที่จะกลั้นและเก็บเอาไว้ไม่ให้ระเบิดออกมา

สรุป

คุณบิวออกมาแถลงข่าวรอบนี้ด้วยอารมณ์โกรธแค้นและมีความเกลียดชังผสมกับช่วงท้ายที่มีความเศร้าเสียใจปนมา

ทั้งนี้ความเสียใจอาจไม่ใช่ความเศร้าในสิ่งที่ตนเองทำผิดอะไรขนาดนั้น แต่อาจจะเศร้าเสียใจกับชะตากรรมที่ตนเองกำลังประสบที่เจ้าตัวมองว่าไม่แฟร์และไม่เป็นธรรม

และจากการแถลงข่าวก็จะเห็นว่าคุณบิวเข้าสู่โหมด”พร้อมรบ” และต้องการจะต่อสู้เพื่อตนเองและคนรอบข้าง

ทั้งนี้ผมอยากฝากให้กับคุณบิวว่าที่ตัดพ้อว่าตนเอง “ไม่เหลืออะไร” นั้นไม่เป็นความจริงเสียทีเดียว

เพราะคนเราล้วนเกิดมาตัวเปล่า ไม่มีเงินทอง ไม่มีอะไรเลยสักอย่าง และพอเราตายไปก็เอาไปไม่ได้สักอย่างเช่นกัน ทุกอย่างเราเพียงแค่หยิบยืมมาใช้ชั่วคราวก่อนตายจากกันไปก็เท่านั้น สิ่งที่คุณคิดว่าสูญเสียมันล้วนไม่มีจริง (พูดง่ายๆ คือ อย่ายึดติด)

ในส่วนของภาษากายในเคสนี้ถือว่าน่าเรียนรู้ ขอบคุณแฟนคลับที่แนะนำเข้ามาครับ

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฏในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

3 Responses

  1. R. พูดว่า:

    Normalization อาจจะแปลเป็นไทยได้ว่า การทำให้เป็นปกติมั้ยคะ

  2. Rebell Fox พูดว่า:

    ขออนุญาตเสริมเรื่อง Normalization ค่ะ

    “อาการที่เราเริ่มคุ้นเคย หรือเกิด “ความรู้สึกด้าน” กับ สิ่งที่เคยรู้สึกแปลกๆ หรือ สิ่งที่เคยไม่ยอมรับมาก่อน จนชักจะเห็นเป็นของธรรมดาที่พอยอมรับได้ เรียกว่า “normalization”

    Normalization ในทางสังคมถือเป็นเรื่องทั้งดีและไม่ดี ขึ้นอยู่กับว่า สิ่งที่จะรับได้นั้นเป็นเรื่องบวกหรือลบ เช่น ยอมรับได้ว่า “ใครๆก็เป็นโรคซึมเศร้าได้ ไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย” ก็น่าจะเป็นสิ่งดี แต่ถ้าเป็นการยอมรับว่า “คนโกงคนไม่ดีก็เป็นผู้นำได้” ก็น่าจะเป็นปัญหา “(cr.จุดไม่ยืน : เรื่องของ normalization
    : สุรพร เกิดสว่าง)

    การพูดแบบ normalization เราขออนุญาตแปลโดยส่วนตัวว่า “การพูดเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่อยู่นอกเหนือบรรทัดฐานสังคมกลายเป็นเรื่องที่ปกติที่สังคมสามารถยอมรับได้” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ก็ตาม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *