**บทความนี้ผมเขียนให้กับทาง Netflix Thailand เพื่อทางทีมงานจะได้เอาไปใช้โปรโมตหนังเรื่อง Glass onion ผ่านช่องทางสื่อสารต่าง ๆ ผมจึงนำเอาบทความมาลงในเวปไซด์ของผมมาด้วย ณ ที่นี้
การเฝ้าสังเกตภาษากายผ่านหนังจะมีบางอย่างที่แตกต่างจากในชีวิตจริง เพราะบทหนังประเภทสอบสวน สืบสวน มักต้องการให้มีการหักมุม หรือ หลอกคนดูให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิด เป็นต้น แต่ก็มีมุมที่สามารถใช้ศึกษาเรียนรู้ภาษากายได้เช่นกัน
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)
“หนังสืบสวนหรือฆาตกรรมเป็นหนังแนวที่ผมชอบมาก โดยเฉพาะหนังที่ถ่ายทำโดยนักแสดงที่เล่นได้สมบทบาทและสามารถถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครผ่าน คำพูด น้ำเสียง ภาษากายต่างๆ และสีหน้าได้อย่างกลมกลืนสอดคล้อง ทำให้ชมแล้วเหมือนราวกับการพาเราไปนั่งในเหตุการณ์จริงและอินไปกับเรื่องราวและทุกความรู้สึกตั้งแต่ต้นจนจบ
หนังเรื่อง Glass Onion: A Knives Out Mystery หรือ Knives Out ภาคใหม่ เป็นหนังเรื่องหนึ่งที่ใครหลายคนติดตามรอชม ถ้าย้อนไปในส่วนของภาค 1 ก็นับว่าเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จอย่างดี เป็นหนังที่จัดว่า rating สูง และเป็นหนังในดวงใจของใครหลายคน (รวมถึงผมด้วย)
หลังจากที่ผมได้ชมหนังตัวอย่างที่ปล่อยออกมาแล้ว แม้จะเป็น VDO สั้นๆ เพียงไม่กี่นาที
ผมอยากพูดถึงภาษากายของนักแสดงแต่ละท่านสักหน่อย เป็นการช่วยเรียกน้ำย่อยผ่านบทความนี้ ด้วยการถอดรหัสภาษากายของตัวละครแต่ละตัวที่ล้วนมีความน่าสงสัยใกล้เคียงที่จะเป็นฆาตกรได้ทั้งนั้น ก่อนที่เราจะได้รับชมหนังตัวเต็มกันในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ นะครับ”
Lionel (Leslie Odom Jr.) : ยิ้ม (Duping Delight Smile)
การยิ้มเพราะมีความสุข ….. บางครั้งอาจจะเกิดกับฆาตกรได้
เพราะเขามีความสุขที่ได้ฆ่าคน ได้กระทำความชั่วบางอย่าง ได้แก้แค้น รู้สึกสะใจ
รู้สึกถึงชัยชนะ รู้สึกว่าตนเองฉลาดกว่าและอยู่เหนือผู้อื่น
รวมถึงมีความมั่นใจว่าจะพาตัวเองรอดออกจากสถานการณ์ตรงหน้าและอนาคตได้ ทั้งหมดล้วนเป็นบ่อเกิดแห่งความสุข
รอยยิ้มจึงเป็นภาษากายหนึ่งที่สามารถปรากฎออกมาให้เห็นในคนที่กระทำหรือมีความคิดที่ไม่ดีดังที่กล่าวมาและรอยยิ้มจะแตกต่างจากรอยยิ้มที่จริงใจ (Sincere Smile) ตรงที่เปลือกตาบนและล่างจะหรี่ลง (Relaxed Eyelid) เช่นในภาพ และปากที่ฉีกยิ้มไม่สุด เช่นในภาพ
- คุณคิดว่าระหว่างที่ผู้ชายคนนี้ยิ้มนั้นในใจเขาคิดอะไร?
- ทำไมเขาถึงรู้สึกแบบนั้น?
- เขาทำบางสิ่งบางอย่างสำเร็จหรือเปล่า?
- และเขากำลังทำอะไร? หรือ วางแผนจะทำอะไร?
Birdie Jay (Kate Hudson) : มือที่ครุ่นคิด (Thinking) หรือ กังวล (Worrying)
เมื่อคนเรากำลังใช้ความคิด แต่ละคนก็จะมีท่าทางเฉพาะตัวของตัวเอง เช่น ดีดเล็บ เขี่ยเล็บ เคาะนิ้ว เคาะโต๊ะ ควงปากกา เป็นต้น
ทั้งนี้ ถ้าเรากำลังใช้ความคิดแต่มีอารมณ์บางอย่างเกิดร่วมด้วย เช่น เมื่อกำลังคิดวางแผนที่จะโกหก หรือ วางแผนที่จะสร้างเรื่องเท็จขึ้นมาเพื่อจะปั่นหัวคนอื่นเพื่อเอาตัวรอด ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่มีอารมณ์เกิดขึ้นตามมาอัตโนมัติโดยปราศจากการควบคุม เช่น กลัว ไม่มั่นใจ กังวล ตื่นเต้น
มือที่เหมือนจะเป็นการเขี่ยเล็บก็จะมีความแตกต่างจากสภาพที่ผ่อนคลาย (Relax) อาจจะพบว่าเขี่ยด้วยแรงที่มากขึ้น หรือ ถี่ขึ้น
- ตัวละครนี้กำลังคิดอะไร?
- ทำไมหน้าตาเขาดูจริงจัง?
- อะไรทำให้เขาดูมีภาษากายของการคิดมากขนาดนี้? หรือจะเป็นแผนซ้อนแผนที่ต้องคิดอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อที่จะให้ตัวเองพ้นข้อกล่าวหาและไม่ตกเป็นที่สงสัยว่าเป็นฆาตกร?
Duke (Dave Bautista) : สีหน้าของความกลัว และโกรธ (Amalgamation of Fear and Anger)
เมื่อมีอารมณ์บางอย่างเกิดขึ้น เบื้องหลังจะเป็นสภาวะที่ซับซ้อนของการผสมผสานความหลากหลายของอารมณ์และความรู้สึกในระดับที่แตกต่างกันไป
ในภาพจะแสดงสีหน้าของความกลัวผสมกับความโกรธ สังเกตได้จากขอบตาบนและล่างหดเกร็งและพบรอยย่นระหว่างคิ้วอันเป็นผลจากการหดตัวของกล้ามเนื้อ Procerus และ Depressor Supercilii เป็นสีหน้าพื้นฐานของมนุษย์และยังพบในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ เช่น สุนัข ลิง หรือ แมว เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่อันตราย และต้องเอาตัวรอด
- เขากำลังเผชิญหน้ากับอะไร?
- เขากำลังสู้ หรือ กำลังหนี?
- เกิดอะไรขึ้นตอนนั้น?
Claire (Kathryn Hahn) : หลบตา มองต่ำ (Diminished Eye Contact / Looking Downward to the Lower Left)
ถ้าคุยกับใครแล้วเขาไม่กล้า ไม่อยาก หรือ รู้สึกอึดอัดที่จะสบตา
อาจแปลว่า ณ เวลานั้น เขากำลังมีความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้นภายในจิตใจ
ในภาษากาย การหลบเลี่ยงที่จะสบตาเป็นการกระทำเพื่อการประคองและควบคุมความรู้สึก ลดความตื่นเต้น และประหม่า
โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่กำลังโกหกและต้องการเอาตัวรอดในเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นเพื่อไม่ให้ถูกจับได้ คนเรามีแนวโน้มที่จะสบตาคู่กรณีน้อยลงและเลี่ยงที่จะสบตาจากคนตรงหน้าโดยการมองต่ำ ในภาษาไทยเราก็มีคำเฉพาะ เช่น ไม่กล้าสู้หน้า
ภาษากายของการหลบตามองต่ำ เป็นหนึ่งในภาษากายที่เราจะเฝ้าสังเกตได้ไม่ยาก และอาจทำให้รู้ว่าใครเป็นฆาตกรได้ผ่านภาษากายนี้ เช่น คนที่หลบตาบ่อยโดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญ ๆ หรือ การพูดคุยเพื่อสอบสวน
Whiskey (Madelyn Cline) : มือปิดหน้าอก (Hands Over Chest)
ในผู้หญิง เราจะคุ้นตากับการที่เขาใช้มือเพื่อปิดส่วนบนของหน้าอกบริเวณกระดูก manubrium ด้วยเหตุผลอย่างน้อยสองประการ
- หนึ่ง เพื่อปกปิดเนินหน้าอก (กันโป๊) เพราะชุดแต่งกายเป็นประเภทเปิดหน้าอกส่วนบน เช่น ชุดแหวกอก ชุดเปิดอก ชุดรัดทรง เกาะอก หรือ เดรสบางประเภท
- สอง เพราะเกิดความรู้สึกกลัวและประหม่า
เราจึงสามารถเห็นภาษากายของการใช้มือปิดหน้าอกได้ตั้งแต่เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันทั่วไป เช่น หญิงสาวที่ยืนโน้มตัวใกล้กับผู้ชาย การยืนในลิฟท์ที่อัดแน่นไปด้วยผู้คน เป็นต้น
หรือ เหตุการณ์พิเศษ เช่น กำลังซุกซ่อนความจริงว่าเพิ่งฆ่าเพื่อนสนิทไปและกำลังกังวลว่าความลับจะถูกเปิดเผย ก็ย่อมมีโอกาสเป็นไปได้
Peg (Jessica Henwick) : มือสั่น (Jittery Hands)
อาการมือสั่นเป็นได้หลายอย่าง เช่น ผู้ที่มีสภาวะป่วยหรือมีความผิดปกติของร่างกาย เช่น ผู้ป่วยพาร์กินสัน หรือ Essential Tremor ติดเหล้า ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือ อดนอน เป็นต้น
ส่วนในภาษากาย มือสั่นจะพบได้ในคนที่อยู่ในสภาวะตื่นเต้นมากๆ หรือมีอาการหวาดกลัว (ความกลัวและตื่นเต้นจะมาคู่กันเสมือนเหมือนเพื่อนสนิท) เป็นภาษากายที่สังเกตง่ายและเห็นได้ชัดถ้าในมือถือแก้วกาแฟ หรือ กำลังจับปากกา
- ถ้ามือสั่น เจ้าตัวตื่นเต้นจากอะไร?
- และมีอะไรเกิดขึ้นบ้างตรงนั้น?
- เขาแค่ป่วยหรือมีเหตุการณ์ใดไปกระตุ้นให้เกิดขึ้น?
Andi (Janelle Monáe) : มองด้วยหางตา (Gazing Sideway)
การมองด้วยหางตาเป็นภาษากายที่เราล้วนคุ้นเคย และเรารู้ความหมายของมันอย่างดีแม้ไม่เคยมีครูคนไหนมาสอนเราตอนเด็กๆ
การมองด้วยหางตาในลักษณะที่เปลือกตาหรี่เล็กลง (Partially Closed) สื่อถึงความรู้สึกไม่ชอบ (Dislike) หรืออารมณ์ดูถูกดูหมิ่น (Contempt)
หรือเป็นการเหล่แอบมองบางสิ่งบางอย่างด้วยสีหน้าที่เรียบเฉย (Blank Face) เพื่อกลบเกลื่อนว่าตนไม่สนใจ (แต่จริงๆ คืออยากเผือกมาก)
- เธอกำลังมองอะไร?
- ในใจเธอกำลังคิดและรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เธอกำลังจ้องมอง?
Miles (Edward Norton) : การไม่ใช้มือในการสื่อสาร (Lack of Illustrator)
เมื่อเรากำลังคุย หรือ สื่อสารกับใครและเรามีความรู้สึกอินกับสิ่งที่พูดจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Synchronizing อธิบายได้คือ เป็นความสัมพันธ์ที่สอดประสานกันของความคิด อารมณ์และการเคลื่อนไหวของร่างกาย และจะปรากฎออกมาได้ส่วนหนึ่งจากการเคลื่อนไหวของมือในการสื่อสาร หรือที่เรียกว่า มือประกอบ (Illustrator)
แต่กลับกัน ถ้าในการสื่อสารนั้นไม่มีการใช้มือ ซ่อนมือ มือที่เคลื่อนไหวไม่ได้สัมพันธ์กับสิ่งที่พูด หรือการลดหรือไม่เคลื่อนไหวของมือ ก็เป็นไปได้ว่ามีอะไรที่ขัดแย้งกันอยู่ในระดับความคิดและความรู้สึก เช่น กำลังเสแสร้ง ต้องการปกปิด หรือพยายามกลบเกลื่อนอะไร เพราะสภาพของความรู้สึกเราจะอยู่ในโหมดของการระวังภัย เราจะเคลื่อนไหวน้อยลง
เป็นไปได้ไหมที่เขากำลังปกปิดอะไรไว้ หรือเขากำลังระวังคำพูดเพราะต้องการหลอกใครอยู่หรือเปล่า?
สรุป
ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าหนัง Glass Onion: A Knives Out Mystery นี้จะเกิดอะไรขึ้น ใครเป็นคนฆ่า หรือ มีการฆ่ากันจริงๆ หรือเปล่า ก็ยังไม่มีใครทราบ
ในฐานะที่ผมสอนด้านภาษากาย ผมจะสนใจที่นักแสดงเป็นหลัก
เพราะนักแสดงที่เก่งจะสามารถแสดงได้สมจริง เข้าถึงบุคลิกของตัวละคร และเข้าถึงอารมณ์ตามบท ตามฉากที่ดำเนินไป (แน่นอนว่าต้องมีปัจจัยของการเขียนบท การถ่ายทำและตัดต่อที่ยอดเยี่ยมด้วย)
ผมก็คาดหวังว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นหนังที่ตื่นเต้น สนุก และมีภาษากายที่แนบเนียนสมจริงดึงดูดให้ผู้ชมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่องอย่างไม่รู้ตัว
รอชมพร้อมกันวันที่ 23 ธันวาคมนี้ที่ Netflix นะครับ
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฏในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น
ชอบอ่านและศึกษาเรื่องนี้มากๆ มีคอร์สเรียนไหมนิ ^^
สวัสดีครับ อนาคตจะมีคอร์สอบรมครับ
รอครับอาจารย์