คุณ แอมานุแอล มาครง ประธานาธิบดีประเทศฝรั่งเศสมาเยือนที่สหรัฐอเมริกา และภาพนี้ที่ถ่ายคู่กับ โจ ไบเดน ก็ปรากฎออกมาสู่สาธารณชนตามสื่อต่าง ๆ สิ่งที่น่าสนใจสำหรับเคสนี้คือรอยยิ้ม
รอยยิ้มของคุณ โจ ไบเดน
จากภาพรอยยิ้มของคุณ โจ ไบเดน มีองค์ประกอบที่เข้าลักษณะรอยยิ้มที่เรียกว่า Sincere smile หรือ Duchenne’s smile ในภาษากายจะนับว่าเป็นรอยยิ้มที่แท้จริงซึ่งเป็นรอยยิ้มของความสุข (Joy) ที่ออกมาจากใจ
องค์ประกอบของรอยยิ้มชนิดนี้เราจะพบการหดตัวของกล้ามเนื้อสองมัด คือกล้ามเนื้อที่ดึงมุมปากไปทางขมับ (Zygomatic major) ทำให้เกิดการฉีกยิ้มและแก้มยกขึ้น อีกมัดที่สำคัญมากคือกล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆดวงตา (Orbicularis oculi) ทำให้พบรอยย่น หรือ ตีนกาที่หางตา พร้อมกับดวงตาที่ดูหรี่ลง ในภาษาไทยเราจะใช้คำว่า “ยิ้มจนตาหยี”
รอยยิ้มของคุณ แอมานุแอล มาครง
รอยยิ้มของคุณ แอมานุแอล มาครง จะแตกต่างจากคุณโจ ไบเดน หลายประการ
- มีการหดตัวของกล้ามเนื้อ obicularis oris ทำให้มุมปากฉีกขึ้นไม่สุดและส่วนล่างของกล้ามเนื้อมัดนี้หดเกร็งจนทำให้สังเกตเห็นฟันหน้าล่างเล็กน้อย
- เปลือกตาบนและล่างทั้งสองข้างไม่ได้หรี่เล็กลง แต่กลับเบิกกว้างคล้ายกำลังจ้องมองบางสิ่งบางอย่าง
- คิ้วทั้งสองข้างยกขึ้นจากการหดตัวของกล้ามเนื้อบริเวณหน้าผากที่ชื่อ fontalis muscle
- มีรอยย่นบนหน้าผาก (Furrow) จากการหดตัวของกล้ามเนื้อ fontalis muscle
จากสีหน้าและรอยยิ้มที่ปรากฎ สามารถอธิบายได้ว่า คุณ แอมานุแอล มาครง ไม่ได้มีความสุข (Joy) แต่เขาพยายามที่จะแสดงออกให้ดูมีความสุข (พยายามยิ้ม) เมื่อคนเราพยายาม หรือ ฝืนที่จะยิ้มเราจะพบการหดตัวของกล้ามเนื้อมากกว่า 2 มัดของ Duchenne’s smile
รอยยิ้มในลักษณะนี้เราจะพบเห็นได้บ่อย เช่น ในชีวิตประจำวันที่เรายิ้มให้แก่กันเพื่อแสดงไมตรี หรือ การต้อนรับ เป็นกระบวนการใช้รอยยิ้มในบริบทของสังคมและไม่ได้สัมพันธ์ใด ๆ กับความสุข เพราะมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม และเรามักจะต้องแสดงออกให้ล้อไปกับบริบทที่เป็นและสถานการณ์ที่เผชิญเพื่อให้ดำเนินกิจกรรมนั้นให้สำเร็จลุล่วงและผ่านพ้นไปได้ หลายครั้งการแสดงออกก็อาจจะขัดแย้งกับอารมณ์และความรู้สึก
ในสถานการณ์ของ คุณ แอมานุแอล มาครง เขาอาจจะเฉย ๆ หรือ ไม่ได้มีความสุขเมื่อเทียบกับคุณ โจ ไบเดน แต่ด้วยสถานการณ์และบทบาทในขณะนั้นไม่สามารถเอื้อให้เขาทำตามความรู้สึกที่แท้จริง จึงเกิดภาษากายที่ปรากฎ
ส่วนตัวผมอยากจะแนะนำว่า ถ้าเราต้องการแสดงรอยยิ้มเพื่อแสดงมารยาททางสังคม เราไม่จำเป็นจะต้องเกร็ง หรือ ฝืนกล้ามเนื้อบนใบหน้าในลักษณะที่ คุณ แอมานุแอล มาครง กำลังแสดงออก แต่อาจจะแค่เพียงยิ้มด้วยปากก็พอ หรือ “ยิ้มอ่อน” ดีกว่าการพยายามฉีกยิ้ม ฉีกตา เช่นนี้
ภาษากายที่ดี คือ บุคลิกภาพที่ดี และจัดว่าเป็นทักษะชีวิต (Life skill) แขนงหนึ่ง
ถ้าไม่ฝึกไม่เรียนรู้คุณอาจจะพลาดและสูญเสียบางสิ่งบางอย่างไปอย่างน่าเสียดาย โดยที่คุณไม่รู้ตัว
ขอให้สนุกกับการเรียนรู้
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น