พฤศจิกายน 29, 2022

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 122 : 8 ภาษากายที่มักพบเวลาเขินอาย : คุณ ณภัทร เสียงสมบุญ กับการรายงานว่ายกระดับความสัมพันธ์กับคุณใบเฟิร์น พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์

คุณ ณภัทร เสียงสมบุญ ดารานักแสดงที่จัดว่ามีชื่อเสียงที่สุดท่านหนึ่งในยุคนี้ ก็ได้คบหากับคุณใบเฟิร์น พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์ โดยเริ่มต้นในฐานะคนรู้จักสู่การเป็นเพื่อนสนิท

แต่ก็มีเสียงจากสังคมตั้งข้อสงสัยว่าจะเป็นแค่เพื่อนจริงหรือ…หรือมากกว่านั้น ?

จนวันนี้คุณ ณภัทร ก็มาบอกความคืบหน้าล่าสุดว่าเขายกระดับความสัมพันธ์และสารภาพกับคุณใบเฟิร์นว่าชอบคุณใบเฟิร์น (จะเรียกว่า “บอกรัก” ก็ไม่ผิด)

VDO นี้เป็นบันทึกเทปที่คุณณภัทรออกมาเล่าเรื่องราวและเฉลยความในใจชนิดสิ้นข้อสงสัย และเจ้าตัวก็พูดไปเขินไปตลอดการให้สัมภาษณ์ (คนดูหลายคนก็บอกว่า…ฉันดูไปนี่ก็เขินเหมือนกันนะ…^^)

ซึ่งเคสนี้ผมเอาภาษากายมาศึกษากันว่าในสภาวะที่คนเราอายจะมีภาษากายอะไรบ้าง ?

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด 

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์

แรกสุดต้องบอกว่าความอาย หรือ เขิน (Shy) มีหลายระดับและไม่ได้มีเส้นแบ่งชัดเจน เช่น

  • เขิน และ อาย (Shy) สองคำนี้มีความหมายไม่ได้แตกต่างกัน จะเป็นสภาวะที่ตนเองมีความมั่นใจที่ลดลงและมีหลากหลายอารมณ์ผสมปนเป เช่น มีความสุข ตื่นเต้น ประหม่า รวมถึง กลัว ผสมกันชนิดแยกไม่ออก พบได้ในหลายเหตุการณ์ เช่น เขินเวลาอยู่ใกล้ผู้หญิงที่ตัวเองแอบชอบ เขินเวลาคุยกับผู้ชาย หรือเหตุการณ์ต้องเผชิญหน้าผู้คนเยอะ หรือ คนแปลกหน้า เช่น อายที่จะขึ้นร้องเพลง อายที่จะออกไปพูดหน้าห้องหรือที่ประชุม
  • ขายหน้า (Embarrassment) จะเป็นสภาวะที่เป็นขั้นกว่าของอายกับเขิน แต่ความรุนแรงของอารมณ์จะหนักหน่วงกว่า เช่นเหตุการณ์ Janet Jackson กับ Justin Timberlake ในงาน Super Bowl ปี 2004

บทความนี้ผมจะยก 8 ภาษากายที่พบจากใน VDO นี้ โดยเป็นภาษากายที่สัมพันธ์กับอารมณ์ “อาย” หรือ “เขิน”

1.ยิ้ม (Sincere smile)

นาที 1:48 ยิ้ม / หัวเราะ

รอยยิ้มจะพบได้เสมอเวลาเขิน หรือ อาย ในนาที 1:48 คุณ ณภัทร ยิ้มแก้มปริ และองค์ประกอบบนใบหน้าก็ครบองค์ประกอบของ “รอยยิ้มที่จริงใจ” (Sincere smile หรือ Duchenne’s smile) คือมีการหดตัวของกล้ามเนื้อ Zygomatic major และ Orbicularis oculi, pars orbitalis เท่านั้น (ย้ำว่าเท่านั้น) ซึ่งสัมพันธ์กับความสุข (Joy )

ในกรณีอื่นถ้าพบมีการหดตัวของกล้ามเนื้อมัดอื่นร่วมด้วย เช่น Fontalis หรือ Depressor labii จะไม่นับเป็น Sincere smile

นอกจากนั้นเราจะพบคุณณภัทรหัวเราะร่วมด้วย อธิบายได้ว่าเป็นอาการ “ตลกขบขัน” ในตัวของตัวเองที่ต้องมาพูดอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้

ในใจกำลังพูดประมาณว่า “นี่ฉันกำลังทำอะไรอยู่เนี่ย ฉันอายนะโว้ย !”

2.หน้าแดง (Blushing)

Blushing

คนเราหน้าแดงได้เมื่อโกรธ หรือ รู้สึกร้อนเพราะอุณหภูมิสูงเช่นตากแดดหรือเล่นกีฬา และอาย

หน้าแดงเกิดจากการขยายตัวของเส้นเลือดบนใบหน้าร่วมกับการเต้นของหัวใจในอัตราที่เร็วขึ้น ใบหน้าและใบหูที่แดงขึ้นจะสังเกตได้ชัดในคนที่ผิวสuอ่อนเมื่อเทียบกับคนผิวเข้ม

ใน VDO อาจจะสังเกตสีที่เปลี่ยนบนใบหน้ายากสักหน่อยเพราะมีปัจจัยเกี่ยวกับกระบวนการบันทึกเทปว่ามีการปรับค่าแสงหรือสีอย่างไร(บางกระบวนการมีการปรับค่าแสงและอุณหภูมิแสงแบบอัตโนมัติ)

การสังเกตอาการ “หน้าแดง” ในสถานที่จริงแบบเจอตัวเป็น ๆ จะสังเกตได้ชัดเจนและแม่นยำกว่า

3.หลบตามองต่ำ (Diminished eye contact)

นาที 1:48 – 2:30 Diminished eye contact

ช่วงเริ่มเกริ่นนำนาที 1:48 – 2:30 ที่ท้าวความและพูดถึงการปรึกษาปัญหาหัวใจกับคุณหนุ่มกรรชัย จะพบว่าคุณณภัทรจะก้มหน้ามองลงล่างซ้ายบ้าง ขวาบ้าง (Diminished eye contact) เป็นระยะเวลายาวนาน และขึ้นมาสบตาให้กับผู้สื่อข่าวเพียงน้อยนิด

การหลบตาในลักษณะนี้จะสัมพันธ์กับความไม่มั่นใจ ประหม่า กลัว และกังวล เพราะการละสายตามองลงล่างจะช่วยทำให้เราประคองสติและสะกดอารมณ์ที่กำลังปั่นป่วนได้มากกว่าการเงยหน้าขึ้นมาสบตาคู่สนทนา

4.นวดมือ (Adaptor / Pacifier)

3:27 adaptor

ในวินาที 3:27-3:28 จะเห็นได้ชัดถึงการนวดนิ้วของคุณณภัทร

คุณคิดว่าจู่ ๆ เขาเมื่อยมือหรือเปล่า ?

การเคลื่อนไหวของมือที่ไม่ได้สัมพันธ์กับสิ่งที่พูดในรูปแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการนวดมือ นวดนิ้ว ประสานนิ้ว หักข้อนิ้วจะสัมพันธ์กับสภาวะทางอารมณ์ประเภท ตื่นเต้น กลัว และประหม่า เป็นการปลอบประโลมทางจิตให้คลายความเครียดและตื่นเต้น ในภาษากายเรามีคำเฉพาะเรียกว่า Adaptor หรือ Pacifier

ในวีดิโอนี้จะพบคุณณภัทรทำลักษณะนี้เกือบตลอดทั้งเทป

5.เอามือป้องปาก (Hand covering mouth)

3:14 hand covering mouth

นาที 3:14 จะพบการเอามือป้องปาก

ในจังหวะนี้ไม่ได้แปลว่าเจ้าตัวลืมแปรงฟันนะครับ (อิอิ) แต่การเอามือป้องปากในจังหวะนี้เป็นเพราะเจ้าตัวพยายามกลั้นการหัวเราะ ทั้งนี้จะต้องแยกแยะให้ออกกับการเอามือขึ้นมาเช็ดจมูกหรือเกาใบหน้าเพราะเป็นภาษากายที่มีความหมายแตกต่างกัน

6.เหงื่อออก (Sweating)

นาที 4:44 จะพบคุณณภัทรขยับคอเสื้อ

ตอนนี้เจ้าตัวคงเหงื่อออกเยอะเพราะยืนให้สัมภาษณ์มานาน และอยู่ในสภาวะที่ตื่นเต้น อุณหภูมิในร่างกายจะเริ่มสูงขึ้นและเริ่มอึดอัดจนต้องขยับคอเสื้อเพื่อช่วยระบายความร้อน บางคนอาจจะใช้วิธีขยับแขนเสื้อ หรือ ยกมือขึ้นมาเช็ดเหงื่อถ้ามีเหงื่อออกตามใบหน้า

7.กระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข (Anxiety)

นาที 5:46 – 5:48 ตอนพูดประโยคเด็ดว่า “เอาจริง ๆ นะครับ ไม่ได้ใช้สมองเลย ใช้ความรู้สึกล้วน ๆ”

เจ้าตัวจะมีอาการอยู่ไม่สุข ขยับตัวไปมาคล้ายทำฟุตเวิร์ค (Footwork) ของนักมวย อันนี้เป็นสภาวะตื่นเต้น (Anxiety) ร่างกายจะหลั่งอะดรีนาลีนออกมามากกว่าปกติ (adrenaline surge) ร่างกายจึงต้องเผาทิ้งโดยการขยับเขยื้อนตัว คุณพิมรี่พายก็มีท่าทางแบบนี้ตอนไฟล์ขอโทษคุณทักษิณ

8.ยกมือขึ้นเช็ดจมูก (Facial touching)

นาที 7:12 คุณณภัทรพูดว่า “เขา(พี่หนุ่ม)คงรู้ (*)รับรู้ถึงความรู้สึก ความอัดอั้นของผมมานาน”

ในจังหวะ (*) จะพบการเอามือขึ้นมาเช็ดจมูก

ภาษากายอันนี้ผมขออนุญาตไม่วิเคราะห์ต่อนะครับ ขอเก็บเป็นการบ้านให้แก่ท่านที่สนใจเพื่อลองวิเคราะห์เอง (ลอง search ดูในเว็ปไซต์นี้ได้เลยเพราะมีบทความเกี่ยวกับ Facial touching / scratching เยอะครับ)

สรุป

เป็นเคสศึกษาที่ออกแนวน่ารักและทำให้อมยิ้มได้ คิดว่าคงถูกอกถูกใจใครหลายคนนะครับ

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *