พฤศจิกายน 24, 2022

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 120 : สี จิ้นผิง ตำหนิ จัสติน ทรูโด เกี่ยวกับการรั่วไหลของข้อมูลระหว่างประเทศ – คุณสี จิ้นผิงถูกรุก personal space ?

เป็นคลิปวีดิโอนี้น่าสนใจมากเพราะเป็นการเผชิญหน้าของสุดยอดผู้นำคือคุณจัสติน ทรูโด และคุณสี จิ้นผิง

ทั้งสองประเทศออกตัวชัดเจนว่าต่างฝ่ายไม่พอใจกันอย่างมากในหลายคดีความที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศทั้งสอง บังเกิดเป็นความขัดแย้งและมีการตอบโต้กันอยู่เรื่อย ๆ ช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนล่าสุดแคนาดาเองก็เริ่มวางแผนที่จะขยายคู่ค้าและพันธมิตรเพิ่มเพื่อชดเชยและสร้างความเสฐียรภาพแก่ประเทศตน จากเดิมที่มีจีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งและกินส่วนแบ่งที่สูงมาหลายสิบปี

VDO นี้จะได้เห็นภาษากายของผู้นำทั้งสองว่ามีสิ่งน่าสนใจและน่าเรียนรู้อะไรบ้าง

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด 

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
นาที 0:24-0:35
นาที 0:24-0:35
0:24

นาที 0:24-0:35 เป็นช่วงหลังจากคุณ สี จิ้นผิง ได้ตำหนิทางรัฐบาลแคนาดาเรื่องข้อมูลรั่ว ช่วงวินาทีที่ 0:24 เป็นต้นไปจะเป็นช่วงที่คุณจัสตินเป็นฝ่ายพูดเป็นระยะเวลา 9 วินาที ระหว่างนั้นเราจะพบภาษากายของคุณ สี จิ้นผิง ดังนี้

  • ลิ้นงู (Loose tongue jut) – ภาพที่ 1 ซ้ายสุด เป็นภาษากายมักพบบ่อยเวลากำลังคิดหรือกำลังพูดในสิ่งที่ตนคิดว่าไม่ดี และมักสัมพันธ์และพบได้บ่อยในคนที่กำลังโกหก ปิดบัง หรือเล่าความจริงที่บิดเบือน เติมแต่ง (ซึ่งล้วนก็เข้าข่ายโกหก) หรือการพูดความจริงแต่เป็นสิ่งที่ตนเองทำไม่ดีเอาไว้ (Deception) ทั้งนี้ต้องแยกแยะให้ออกกับการเลียริมฝีปากเพราะปากแห้ง
  • เม้มปาก (inward lip roll) – ภาพกลาง  เป็นภาษากายที่เกิดโดยปราศจากการบังคับโดยเจ้าตัว (Subconcious) จะสัมพันธ์กับการกลั้นอารมณ์ลบ (Conceling strong negative emotion) เช่น การกลั้นอารมณ์เสียใจ ความเครียด ความกลัว หรือความโกรธ
  • หลบตา / ไม่สบตาคู่สนทนา (Diminished eye contact) เป็นภาษากายที่พบบ่อยและสามารถสัมพันธ์กับสภาวะอารมณ์หลายอย่าง เช่น ไม่ชอบ อึดอัด กลัว ตื่นเต้น อาย ไม่มั่นใจ ทั้งนี้เป็นภาษากายที่มีความหมายกว้าง ในกระบวนการวิเคราะห์จึงต้องพิจารณาร่วมกับภาษากายอื่นควบคู่ด้วยเสมอ และเมื่อเทียบการสบตาของทั้งคู่จะพบว่าคุณจัสตินทำได้ดีกว่าคุณสี จิ้นผิง
  • พบ Facial expression ของ Anger and disgust สะท้อนอารมณ์เกลียดและโกรธ
  • หันข้าง (Turned away) คุณสี จิ้นผิง ไม่ได้ยืนหันตรงเผชิญหน้ากับคุณจัสตินตรง ๆ แต่จะสังเกตการขยับตัวไปมาของคุณสี จิ้นผิง ในจังหวะนี้คล้ายกับตื่นเต้น อึดอัด มีการขยับยกย้ายตัวเป็นจังหวะเท้าเล็ก ๆ เพื่อจะขยับตัวออกมาให้ห่าง ตรงนี้อาจจะพิจารณาร่วมกับ Anger ที่เกิดข้างต้นสะท้อนถึงสภาวะที่มี Adrenaline สูบฉีดมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากช่วงแรกที่เขาเป็นฝ่ายต่อว่าคุณจัสตินซึ่งจะดู Relax กว่ามาก อาการตื่นเต้นของคุณสี จิ้นผิง จะเกิดชัดเจนเมื่อคุณจัสตินก้าวขาเข้ามาใกล้มาขึ้นในนาทีที่ 0:27 อาจเพราะเริ่มรุกล้ำ Personal space หรือ พื้นที่ส่วนตัวของคุณ สี จิ้นผิง
Proxemics ภาพจาก wikipedia

ขออธิบายเกี่ยวกับ Personal space สักหน่อยตามทฤษฐี Proxemics

ธรรมชาติของคนเรา เราจะเว้นระยะห่างจากคนแปลกหน้าและยอมให้คนที่เราคุ้นเคยหรือใกล้ชิดเข้ามาใกล้ได้ จนถึงระดับที่ใกล้ชนิดสัมผัสหรือถูกเนื้อต้องตัวกัน

สัตว์ทุกชนิดก็มีลักษณะแบบนั้น เพราะเป็นระบบพื้นฐานตามสัญชาตญาณในการป้องกันอันตรายของสิ่งมีชีวิต ตัวอย่างที่เราเห็นประจำคือ สุนัขจะระวังคนแปลกหน้าที่เข้าใกล้ (ขู่เพื่อไล่ หรือ วิ่งหนี) แต่จะยอมให้เจ้านายหรือคนที่เลี้ยงดูถึงเนื้อถึงตัวได้

ตามทฤษฐี Proxemics จะมีขอบเขต (Zone) หลายระดับ แนวคิดคือยิ่งเรารู้สึกสนิทและปลอดภัยเพียงใด เราจะยอมให้อีกฝ่ายเข้าใกล้เท่านั้น

ในระยะที่เรียกว่า Personal space เป็นระยะประมาน 1 ช่วงแขน (เฉลี่ย 60-45 เซนติเมตร) เป็นโซนที่เราจะยินยอมให้เฉพาะญาติ คนรู้จัก หรือ เพื่อน มาเข้าในพื้นที่นี้ และถ้าเป็นคนแปลกหน้าที่บังเอิญรุกเข้ามาเราจะเกิดความรู้สึกอึดอัดเป็นอย่างมาก (ให้นึกถึงตอนเข้าลิฟต์ที่มีคนแน่น ๆ จะรู้สึกแบบนั้นเลย)

ประกอบกับคุณจัสตินเป็นคนตัวสูง (1.88 เมตร) จึงยิ่งที่ทำให้คุณสี จิ้นผิง อึดอัดมากยิ่งขึ้นเมื่อยืนเผชิญหน้าแบบใกล้ชิด จาก VDO ตั้งแต่ต้นจะพบว่าคุณจัสตินขยับเข้ามาใกล้คุณสีจิ้นผิงสองครั้งและจะเห็นอาการตื่นเต้น และอึดอัด ของคุณสีจิ้นผิงแสดงออกมามากขึ้นตามระยะที่แคบลง และปรากฎภาษากายของการหลบตาและหันข้าง

palm down

นาที 0:36 คุณสี จิ้นผิง ก็ตัดบทโดยการแทรกพูดว่า “เราค่อยมาคุยกันนะ” และพบภาษากายของการคว่ำมือ (Palm down) และใช้มือทั้งสองข้างทำท่ากดลง

ภาษากายของการคว่ำมือจะแสดงถึงการบังคับ การสั่ง แสดงการใช้อำนาจและต้องการควบคุม ซึ่งก็ตรงกับเจตนาที่คุณสี จิ้นผิง ต้องการคือให้อีกฝ่ายหยุดพูดและจบการสนทนา

สรุป

ในเคสนี้มีอีกหลายประเด็นให้วิเคราะห์ เช่น

  1. โอกาสนี้เหมาะสมที่จะหารือประเด็นการเมืองไหม ? เพราะประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศที่มีความอ่อนไหวและส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์โดยมากจะไม่คุยกันในบริบทนี้ คุณสี จิ้นผิง ไม่ได้แคร์ในประเด็นนี้และเลือกที่จะตำหนิอีกฝ่ายในที่สาธารณะที่มีกล้อง VDO บันทึกภาพ การกระทำที่ขัดกาละเทศะของฝั่งผู้นำจีนอาจตีความได้ว่า ไม่ได้แคร์ความรู้สึกอีกฝ่าย ต้องการตอบโต้ให้เสียหน้าและต้องการแสดงอำนาจ ที่ผ่านมาคุณ สี จิ้นผิง ก็แสดงอำนาจ(ผ่านกล้อง)ในรัฐสภากับผู้นำคนเก่าคุณหู จิ่นเทา จนเป็นข่าวดังทั่วโลก แต่พอเริ่มมีการสนทนาที่มากขึ้นและอีกฝ่าย(ผู้นำแคนาดา)ใช้โอกาสนี้ตอบโต้กลับด้วยการพูดอธิบายและรุกเข้าพื้นที่ Personal space กลับเป็นฝ่ายคุณสี จิ้นผิง ที่ถูกกดดันจนมีภาษากายของความตื่นเต้นและอึดอัดปรากฎออกมา และต้องพาตนเองออกจากสถานการณ์ด้วยการพูดแทรกเพื่อให้อีกฝ่ายหยุด
  2. อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ คุณสี จิ้นผิง น่าจะมีทักษะทางภาษาอังกฤษในเกณฑ์ที่ไม่สูง เพราะไม่เคยมีรายงานหรือปรากฎการพูดภาษาอังกฤษของผู้นำจีนท่านนี้ในที่สาธารณะหรืองานประชุมใดแม้แต่งานเดียว แม้ในสื่อจีนบางแห่งจะเคยให้ข้อมูลว่าผู้นำจีนปัจจุบันรู้ทั้งภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ แต่ทั้งนี้ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์แม้แต่ชิ้นเดียว เช่น คลิป VDO ใน youtube แต่สิ่งที่เราล้วนพบเห็นคือการมีล่ามประกบติดตัวและคอยแปลตลอดเวลาเมื่อเยือนต่างประเทศ การพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ หรือ ไม่คล่องย่อมเป็นปมด้อยส่วนตัวในภาพลักษณ์เวทีผู้นำระดับโลก คุณสี จิ้นผิง อาจจะเริ่มรู้สึกไม่อยากคุยต่อเพราะข้อจำกัดด้านภาษาของตนทำให้ต้องพูดน้อย ๆ ไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัยทางจิตใจ

คลิป VDO นี้ถือว่ามีจุดน่าศึกษา และเราไปแตะถึงเรื่องทฤษฐีพื้นที่ส่วนตัวในทางจิตวิทยาที่เรียกว่า Proxemics การมีล่ามติดตัวและต้องอาศัยล่ามในการสื่อสารย่อมส่งผลต่อความมั่นใจของผู้นำ ในมุมของภาษากายก็ทำให้ผู้นำจีนดูมีบุคลิกภาพที่ไม่ดีนัก เพราะต้องหันไปมองล่ามและคอยเงี่ยหูฟังเป็นช่วง ๆ ดังที่ปรากฎใน VDO

ภาษากายมีประโยชน์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการอ่านคนให้ลึกขึ้นให้ถึงอารมณ์และเจตนา และการนำมาประยุกต์เพื่อพัฒนาบุคลิกภาพตัวเอง สวัสดีครับ

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *