พฤศจิกายน 3, 2022

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 114 : รอยยิ้มของคุณชัชชาติ มีความหมายอะไร ? กรณี ผบตร.ถูกถามเรื่องบ่อนเถื่อน

ล่าสุดคุณ ชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. ได้ประชุมร่วมกับทางข้าราชการตำรวจ เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ในคลิปนี้เป็นจังหวะที่สังคมสนใจค่อนข้างมากถึงรอยยิ้มของคุณชัชชาติ ว่าเขายิ้มเพราะอะไร ? หลังจากนักข่าวถามท่าน ผบตร.ว่า “บ่อนพนันใน กทม. ผุดขึ้นเหมือนดอกเห็ด 1 พื้นที่ 1 บ่อน 1 สน.”

และท่าน ผบตร. ตอบว่า “ยืนยันไม่มีบ่อนตั้งแต่มารับตำแหน่ง”

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด 

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
Smile

ตามเทปที่บันทึกในช่วงเวลา 17:07 จะพบภาพนี้ในจังหวะที่นักข่าวถามประเด็น 1 บ่อน 1 สน.

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ คุณชัชชาติ ยิ้มทำไม ? หรือ มีประเด็นอะไรทำให้เกิดการยิ้มออกมา ?

ในบทความนี้ จะขอกล่าวถึงการยิ้ม

การยิ้ม (Smile)

การยิ้ม เป็นภาษากายในกลุ่มของสีหน้า (Facial expression) การยิ้มมีหลายแบบ และหลายความหมาย

ในภาษากายเราสามารถจำแยกการยิ้มได้ตามอารมณ์และสถานการณ์ เช่น

ยิ้มแบบมีความสุข (Joy , Happy smile , Duchenne’s smile) เป็นการยิ้มที่สัมพันธ์กับอารมณ์ที่มีความสุข หรือ สนุก กรณีนี้เราจะพบการยิ้มที่คู่กับตายิ้มคือการหดตัวของกล้ามเนื้อรอบดวงตา obicularis oculi ทำให้เห็นรอยตีนกาเล็ก ๆ ที่หางตา

ยิ้มสังคม , ยิ้มตามมารยาท (Polite smile , Social smile) จะเป็น 90% ของรอยยิ้มที่เราพบตามภาพถ่ายใน Social media รวมถึงพนักงานต้อนรับพยายามยิ้มให้เราเพื่อทักทายสวัสดี หรือ ขอบพระคุณ

เป็นการฉีกยิ้มเพื่อให้มุมปากทั้งสองข้างยกขึ้น ถ้าฝืนมาก ๆ และฉีกยิ้มมากเกินไปอาจจะเห็นฟันหน้าล่าง (Lower anterior teeth) ร่วมด้วย รอยยิ้มชนิดนี้แม้บางคนจะยิ้มได้สวย หรือ ดูดี แต่ก็เป็นไปแบบตั้งใจหรือฝืนกระทำออกมา (Deliberate) โดยไม่สัมพันธ์ใด ๆ กับความสุข เป็นรอยยิ้มที่เข้าข่าย “การแสดงทางสังคม”

ยิ้มเพราะอาย , เขิน (Shy , Embarrassment) เป็นการยิ้มที่คล้ายมีความสุข แต่จะมีอารมณ์อื่นมาผสมร่วม และมักพบหน้าแดงร่วมด้วย (Blushing) เข้าประโยคที่เรียกว่า “อายจนหน้าแดง” และจะพบภาษากายอื่น ๆ (Gesture) ประกอบด้วยเสมอ ตัวอย่างเคสคุณทิม พิธา เป็นตัวอย่างที่ชัด

อีกชนิดคือ กลั้นยิ้ม (Suppressed smile) เป็นสภาวะที่เราไม่ต้องการให้รอยยิ้มปรากฎออกมาจากสีหน้า และร่างกายพยายามสะกดเอาไว้ เช่น เราเห็นเพื่อนหกล้มต่อหน้าเราและรู้สึกตลกขบขันแต่ก็ไม่อยากยิ้มออกมาเพราะกลัวเพื่อนจะรู้สึกโกรธเราจึงฝืนเกร็งและเก็บสีหน้าเอาไว้ทั้งที่ในใจรู้สึกตลกขบขัน มักจะพบการเกร็งของกล้ามเนื้อรอบปาก (Obicularis oris) และริมฝีปากเกร็งจนยืดบาง และอาจจะพบการกัดฟันด้วย (Clenching)

และมีอีกรอยยิ้มหนึ่งที่พิเศษกว่าทุก ๆ แบบที่กล่าวมาทั้งหมด คือ ยิ้มเยาะเย้ย , ดูถูก , สะใจ (Contempt smile) รอยยิ้มชนิดนี้มีอารมณ์ลบและบวกร่วมกันเป็นส่วนประกอบ เช่น อารมณ์เกลียด รังเกียจ เหยียดหยาม รอยยิ้มชนิดนี้สังเกตง่ายเพราะมุมปากสองข้างที่ยกจะยืดไม่เท่ากัน (asymmetry) จะเห็นบ่อยในการแข่งขันกีฬาเวลาฝ่ายที่ชนะยิ้มดีใจ

แล้วรอยยิ้มของคุณชัชชาติ น่าจะหมายถึงอะไร ?

จากบริบทแวดล้อม จะพบว่าคุณชัชชาติยิ้มหลังจากได้ยินคำถามจากนักข่าว ผมคิดว่าเขารู้สึกขันหรือ(แอบ)รู้สึกตลกกับคำถามของสื่อมวลชนที่ถามตรง ๆ แบบนี้ และมีจังหวะที่คุณชัชชาติก้มหน้าและมองด้านหน้าล่างพร้อมรอยยิ้มเสมือนกำลังตั้งใจฟังว่า ผบตร. จะตอบว่าอะไร

ก้มหน้า ยิ้ม

รอยยิ้มของคุณชัชชาติในจังหวะนี้เข้าองค์ประกอบของการเป็น Duchenne’s smile อาจเป็นไปได้ว่าเขาอาจจะรู้สึกตลก หรือ ขำเล็ก ๆ ในใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้ นะครับ

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฏในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *