เมษายน 4, 2022

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 90 : PTSD กับเด็กน้อยฝาแฝดจากสงครามรัสเซีย ยูเครน

ภาพจาก Twitter ของผู้ประกาศข่าว Kasia Madera โดยมีข้อความว่า

“This is Olena with her 5-year-old twins, Nazar and Timur. All three were blinded when a bomb fell on their home near Dnipro in eastern Ukraine. It took them seven days to reach Poland, where they received sight saving surgery.” (ข่าวเต็ม ลิ้ง)

ตั้งแต่ประธานาธฺกีบดี ปูติน ยกทัพรุกรานยูเครน ก็จะเห็นว่ามีผู้บริสุทธิ์ไม่ว่าจะทางฝั่งรัสเซียและยูเครนเสียชีวิตไปจำนวนมาก จากสื่อข่าวหลักจะพบข่าวเด็กผู้หญิงและผู้สูงอายุหลายคนก็ถูกลูกหลง หรือ แม้แต่ถูกจงใจสังหารก็มีไม่น้อย

ในภาพเราจะเห็นเด็กฝาแฝดและคุณแม่ยืนอยู่ตรงกลางภาพ ใบหน้ามีสะเก็ดแผลเต็มไปหมดซึ่งเกิดจากสะเก็ดระเบิด หนูน้อยทั้งสองก้มหน้ามองต่ำ (Diminished eye contact / Looking downward to the left) ลักษณะคล้ายอาย หรือ ขาดความมั่นใจ เป็นภาพที่สะเทือนใจมาก

ถ้าในสภาพทั่วไป การไม่มองกล้องของหนูน้อยทั้งสองเราอาจจะมองว่าแค่อาย หรือ เขิน

แต่ถ้าเราเรียงร้อยเหตุการณ์ที่เกิด ความบาดเจ็บที่ได้รับ ความทรมานที่ต้องหลบหนีจากสงคราม และความสูญเสียต่อสภาพจิตใจที่ได้รับ ทำให้ผมนึกถึงบาดเจ็บทางจิตใจชนิดหนึ่งที่เป็นสภาวะช็อคกับเหตุการณ์ขั้นรุนแรง สิ่งนี้เรียกว่าภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง หรือ  PTSD

เราอาจจะเคยได้ยินบ่อยๆถึงทหารที่กลับมาจากการทำสงครามโลกครั้งที่สอง หลายคนจะพบว่ามีสภาพจิตใจที่ไม่เหมือนเดิม เพราะเผชิญกับเหตุการณ์ที่รุนแรง เช่น เพื่อนเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา ถูกทำร้ายร่างกายแสนสาหัสโดยที่ตนไม่มีทางสู้ อยู่ในสภาวะเครียดและกดดันเป็นเวลายาวนาน เป็นต้น

หลังจากสงครามและกลับมาใช้ชีวิตปกติ บางคนก็มีอาการทางจิตแตกต่างกันไป (ลิ้ง) บางคนไม่กล้าขับรถ หวาดผวาเมื่อได้ยินเสียงอะไรดังๆกลางคืน บางคนพกปืนไปไหนมาไหนด้วยตลอดเวลาแม้แต่ตอนอาบน้ำ

หลายคนนอนไม่หลับ ท้องใส้ปั่นป่วน ท้องอืดเพราะอาหารไม่ย่อย อารมณ์ฉุนเฉียวและเครียดง่าย อารมณ์ต่างๆตีรวนกันจนแยกไม่ออก และที่สำคัญเหตุการณ์ในอดีตมักจะฉายกลับไปกลับมาในสมองเหมือนโฆษณาอยู่เรื่อยๆ (Flash back)

PTSD จะรักษายากในเด็ก (ลิ้ง) เพราะเด็กอาจจะไม่สามารถให้ความร่วมมือในการรักษาได้เหมือนผู้ใหญ่ เด็กมีแนวโน้มที่จะหนีและไม่อยากคิดถึงอดีตที่โหดร้าย การรักษาจึงต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญร่วมกับผู้ปกครองที่เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง

ในแง่มุมของภาษากาย สำหรับคนที่เป็น PTSD เมื่อเราสังเกตจากภายนอก อาจดูเหมือนว่าไม่มีความมั่นใจ ดูซึมและไม่มีชีวิตชีวา (Lack of positive emotions) บางรายอาจดูตื่นกลัวในบางคราว กลัวสถานที่และกลัวคนแปลกหน้า ทั้งนี้ก็แล้วแต่ว่าประสบการณ์เก่าที่ได้รับมาเป็นในแง่มุมใด บางทีความไม่มั่นใจหรือภาษากายที่ผิดไปจากคนปกติอาจจะมาจากสภาพจิตใจของเขาก็เป็นได้

กลับมาที่เด็กน้อยสองท่าน ส่วนตัวผมสงสารเขามาก และน่ากังวลเหมือนกันว่าความทรงจำเลวร้ายครั้งนี้จะรุนแรงในระดับที่ทำให้เขามีบาดแผลทางใจ (Psychological trauma) และพัฒนาจนเป็น PTSD หรือไม่

ทั้งนี้ไม่ใช่เฉพาะแต่เด็กที่ในสภาวะสงครามเท่านั้นที่น่าสงสาร แต่เด็กไทยและประเทศอื่นๆที่ถูกกระทำชำเรา ถูกทุบตีทำร้ายร่างกาย และถูกผู้ปกครองบังคับเคี่ยวเข็ญก็ล้วนสามารถก่อตัวจนเป็นโรคทางจิตได้เช่นกัน

ปล. สำหรับท่านที่สนใจหัวข้อนี้เป็นพิเศษ มีหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่อง PTSD มากมาย เช่นเล่มนี้ครับ

สวัสดีครับ

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น บุคคลอ้างอิงในเวปไซด์จะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube) เป็นต้น การตีความและอธิบายภาษากายไม่มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนในเชิงการเมือง หรือ มีจุดประสงค์ที่จะละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *