VDO นี้คือการให้แถลงข่าวของคุณโบ (สุรัตนาวี ภัทรานุกุล) ในฐานะพยานที่ได้คุยกับผู้จัดการของคุณแตงโมในคดีที่คุณแตงโมเสียชีวิต สิ่งที่น่าสนใจใน VDO คือภาษากายของคุณโบโดยเฉพาะการใช้มือร่วมในการสื่อสาร รายละเอียดใน VDO พิจารณาแล้วเหมาะที่จะใช้เป็นตัวอย่างของสิ่งที่เรียกว่า illustrator หรือ“การใช้มือเพื่อประกอบการสื่อสาร”
ในบางคราว หรือ หลายคราว เมื่อคนเราพูด เช่นในการแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์ตาม VDO นี้ อาจจะพบการพูดควบคู่กับการใช้มือร่วมด้วย โดยสังเกตได้จาก VDO นี้ตั้งแต่นาทีที่ 1:20 เป็นต้นไป
ผม Capture บางจังหวะไว้พร้อมระบุ Time stamp ให้ดังภาพต่อไปนี้
นาที 1:27 พูดว่า : ก็ได้เจอกับเพื่อนทุกๆ คนที่อยู่ในข่าว
- พบการใช้มือขวา กางนิ้วและกวาดไปทางซ้ายขวาที่สอดคลองกับคำว่า “เพื่อนทุกๆคน”
นาที 1:31 พูดว่า : แล้วโบก็นั่งอยู่ที่ท่าเรือ NBC
- พบการใช้มือขวาชี้ลง ตอนจังหวะพูดคำว่า “นั่งอยู่ที่ท่าเรือ”
นาที 2:21 พูดว่า : ขออนุญาตย้อนกลับไป……
- พบการใช้มือขวากางนิ้วชี้ กลางและโป้ง พร้อมทำท่าวนเป็นวงกลมหมุนในอากาศในระดับสายตา
- ตามองเฉียงขึ้นไปทางซ้าย (Looking to the Upper left Quadrant) ซึ่งตาม eyes pattern จะเป็นการกลอกลูกตาเมื่อกำลังนึกถึงเรื่องราว หรือ ภาพในอดีต (Recall)
นาที 2:39 พูดว่า : ตอนนั้นกระติกโทรศัพท์บอกโบ
- พบใช้มือขวาทำท่าเหมือนการโทรศัพท์
จากตัวอย่างทั้งหมดจะพบการสื่อสารที่น่าสนใจ คือ เจ้าตัวมีการใช้มือที่สอดคล้องไปกับประโยคที่พูดอย่างต่อเนื่อง ราวกับมือและปากกำลังแสดงออกร่วมกับอย่างกลมกลืน (Syncronize) ลักษณะการแสดงออกของมือที่กล่าวมาคือ illustrator (Ekman : 1972) ถ้าแปลเป็นไทยให้ได้ความหมายที่ครบถ้วน คือ “การใช้มือเพื่อประกอบการสื่อสาร”
illustrator อาจจะสอดคล้อง หรือ ไม่สอดคล้อง (Unsynchronize) กับสิ่งที่พูดก็ได้ ถ้าเจ้าตัวกำลังคิดอีกอย่างแต่พูดอีกอย่างเราอาจสังเกตความผิดปกติของมือได้เพราะจะดูขัดแย้ง
นอกจากนี้การใช้ illustrator จะมีความถี่ที่ลดลงถ้าอยู่ในสภาวะอารมณ์หรือร่างกายที่ไม่ปกติ เช่น เครียด กังวล เป็นทุกข์ เหนื่อยเพลีย ป่วย เบื่อหน่าย เป็นต้น และจะเพิ่มขึ้นถ้าเจ้าตัวมีความตื่นเต้น จดจ่อกับสิ่งที่พูด มีอารมณ์ร่วม หรือสิ่งที่จะอธิบายนั้นอธิบายด้วยคำพูดยาก เช่น คนที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษและกำลังพยายามสื่อสารกับฝรั่งให้เข้าใจ เรามักพบว่าเขาจะใช้มือช่วยในหลายๆทาง จนมีคำแซวกันว่า “ฉันพูดกับฝรั่งคนนี้จนเมื่อยมือไปหมด”
ในกรณีที่ illustrator มีลักษณะที่ขัดแย้งกับสิ่งที่พูด มักเป็นสัญญาณที่น่าวิเคราะห์ต่อว่า ณ วินาทีนั้นเจ้าตัวคิดอะไร รู้สึกอย่างไร หรือเชื่ออย่างไร อาจเป็นไปได้ที่กำลังพูดเท็จ หรือปิดบังความจริงอยู่ หรืออาจจะกำลังคิดเรื่องอื่นและเกิดความตื่นเต้นสับสนอลหม่านก็เป็นไปได้ เป็นต้น ทั้งนี้ illustrator ไม่ใช่ภาษากายที่จะนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดที่แม่นยำในการจับผิดหรือจับโกหก (Siegfried L. : 2007) แต่จะต้องประกอบด้วยข้อมูลอื่นร่วมด้วยเสมอทั้งสิ่งที่เป็นภาษากายและไม่ใช่ภาษากาย
ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น บุคคลอ้างอิงในเวปไซด์จะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube) เป็นต้น การตีความและอธิบายภาษากายไม่มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนในเชิงการเมือง หรือ มีจุดประสงค์ที่จะละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น