จากเหตุการณ์เศร้าสลดของคุณแตงโม (นิดา พัชรวีระพงษ์) เสียชีวิตจากการจมแม่น้ำจากการไปเที่ยวบนเรือกับเพื่อน ก็มีคำถามมากมายถึงคดีความ โดยเฉพาะกับเพื่อนสนิทของเขา คุณกระติก (อิจศรินทร์ จุฑาสุขสวัสดิ์)
คลิปนี้เป็นการแถลงข่าวเต็มของคุณกระติกซึ่งข้อแรกเลยที่ผมคิดว่าเขาไม่ควรทำ คือการพยายามปกปิดใบหน้ามากเกินไป (ดังภาพข้างล่าง)
ภาษากายคือข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว จึงเป็นชุดของข้อมูลสำคัญที่สามารถใช้ตีความว่าส่วนตัวเราจะให้ระดับความความเชื่อถือกับเหตุการณ์ที่ปรากฎอย่างไรเท่านั้น การวิเคราะห์ภาษากายจึงไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินว่าใครโกหกหรือหลอกลวง
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
จากภาพคุณกระติกและคุณแซน (ขวามือ) จาก VDO ของ The Reporters นอกจากจะใส่แมสที่มีขนาดใหญ่ที่คลุมตั้งแต่คางถึงสันจมูก ทั้งคู่ยังใส่แว่นตากันแดดโดยน่าจะมีจุดประสงค์เพื่อปิดบังใบหน้า (เพราะ ณ ตอนนั้นไม่ได้อยู่กลางแจ้งที่มีแดดจ้า) ในทางจิตวิทยา การใส่แว่นตากันแดดหลายครั้งจะช่วยทำให้เจ้าตัวรู้สึกปลอดภัยเพราะเสมือนได้ซ่อนใบหน้าและดวงตาเอาไว้ และยังเป็น Eyes Blocking แบบนึง
ทั้งนี้ในการแถลงข่าวโดยทั่วไปเราไม่มีความจำเป็นต้องปิดบังใบหน้า (นอกจากใส่แมสซึ่งเป็น policy การป้องกันโรค) นอกเสียจากเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาและไม่อยากให้ใบหน้าของตนปรากฎออกสื่อเพราะจะเกิดความอับอายดังที่เรามักพบตามข่าวอาชญากรรม คดีลักทรัพย์ พรากผู้เยาว์ ค้ายา เป็นต้น
คุณกระติกอาจลืมไปว่าในการแถลงข่าวครั้งนี้ นอกจากมาอธิบายเรื่องราวที่เกิด ยังจำเป็นจะต้องแสดงให้สังคมรับรู้ถึงความบริสุทธิ์ สุจริต และจริงใจ เพื่อลบข่าวที่กำลังเป็นประเด็นของตัวเธอเอง
คุณกระติกมีโจทย์จะต้องสื่อสารออกมาทั้งภาษาพูดและภาษากาย แต่ดันไปใช้อุปกรณ์เพื่อปิดบังใบหน้าทำให้ดูคล้ายมีเจตนาที่จะซ่อนเร้นและปิดบังมากกว่าที่จะแสดงความเปิดเผยตรงไปตรงมา
นาที 15:51 ที่คุณกระติบพูดถึงความเศร้าของตนเอง
“คนอื่นเขาเสียเพื่อนไป เขายังได้ร้องไห้คิดถึงอาลัยเพื่อน แต่ของติกจะต้องเตรียมตัวตอบคำถามมาเช็คไทม์ไลน์…”
จนถึงประโยคหลัง “…..ติกก็ตอบอะไรไม่ได้มาก เพราะไม่ได้เห็นเขาลงไป”
ซึ่งประโยคหลังโทนเสียงของคุณกระติกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วจากเสียงเศร้าเป็นเสียงปกติซึ่งจุดนี้หลายคนในโซเชียล(รวมถึงผม) ก็ตั้งข้อสงสัยว่า เขารู้สึกเสียใจจริงๆหรือเปล่า ? เพราะด้วยนำ้เสียงจะพบว่าเดี๋ยวก็เสียใจ เดี๋ยวก็ปกติ สลับไปมาเร็ว (ตาม comment ด้านบน)
โดยทั่วไปคนเราที่อยู่ในห้วงอารมณ์เสียใจและอาจจะถึงขั้นร้องไห้ออกมา อารมณ์จะค้างนานและค่อยๆเฟดออกไป แล้วแต่ความรุนแรงของอารมณ์ (Intensity) แต่เมื่อน้ำเสียงได้เปลี่ยนไปเร็วคนจึงตั้งข้อสงสัยว่าจริงๆแล้วนำ้เสียงของอารมณ์เศร้าสลดที่นำมาเป็นความเสียใจจริง ๆ หรือไม่ ?
เราสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ คือ การดูภาษากายอื่นๆร่วมกันว่ามีจุดใดที่เก็บข้อมูลเพิ่ม โชคดีที่มุมกล้องของ VDO ตามลิ้งบนสุดได้ถ่ายไว้ด้วยมุม close up จึงเห็นกล้ามเนื้อส่วนหน้าผากได้ชัด (แต่ส่วนอื่นจะไม่เห็นเลย)
ช่วงนาที 15:52 ถึง 16:10 ที่บริเวณหน้าผาก จะพบการหดตัวของกล้ามเนื้อ Frontalis , Corrugator Supercilii และ Depressor Supercilii ทำให้เห็นหน้าผากย่น และหัวคิ้วสองข้างชี้ขึ้น เป็นสีหน้าของอารมณ์เสียใจ (Sadness)
สีหน้า (Facial expression) ของความเสียใจจะแสร้งทำค่อนข้างยาก จึงเป็นภาษากายที่อยู่ในกลุ่มที่ถือว่าแม่นยำ ทั้งนี้จะพบว่าแว่นและแมสปิดใบหน้าเกือบทั้งหมด ก็เลยทำให้ไม่สามารถเห็นส่วนอื่นๆ เช่น ปากและตา คุณกระติกจึงไม่สามารถสื่อสารภาษากายที่สำคัญออกมาดังที่ผมเคยอธิบายไป
สรุป
และจากภาษากาย(ที่พอจะสังเกตได้) ผมคิดว่าเธอเสียใจกับการจากไปของเพื่อนรัก เพียงแต่พฤติการณ์หลายอย่างตั้งแต่หลังเกิดเหตุรวมถึงบุคลิกส่วนตัวที่แข็ง และการพูดไม่สุภาพจนเป็นนิสัยส่วนตัว(ที่เธอได้อธิบายไว้ในรายการโหนกระแส )ทำให้สังคมมองเธอไปในทิศทางอื่น ส่วนสุดท้ายคดีจะออกมาอย่างไรคุณกระติกจะบริสุทธิ์แค่ไหน อย่างไร ก็ย่อมเป็นเรื่องในอนาคตที่ศาลจะตัดสิน ภาษากายที่เรามาเรียนรู้กันในบทนี้จะไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์บนเรือ
เคสนี้ถ้าปราศจากการสังเกตกล้ามเนื้อบริเวณหน้าผาก (Forehead) เราจะไม่สามารถวิเคราะห์ได้แม่นยำว่าเจ้าตัวเกิดอารมณ์อะไร แม้ว่าน้ำเสียงจะเป็นเสียงที่เศร้าแต่ระยะของการ Fade out ค่อนข้างสั้นจนทำให้เหมือนไม่ได้มีความเศร้าหรือเสียใจอยู่ในนั้น การวิเคราะห์กับสีหน้าร่วมด้วยจึงสำคัญในการวิเคราะห์ภาษากาย
การแถลงข่าวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ และต้องการจะพูดความจริง ควรควบคู่กับการแต่งกายที่เปิดเผย เพราะใบหน้าคือส่วนสำคัญจะทำให้การสื่อสารของเราครบถ้วนและสื่อสารได้ถึงอารมณ์และเจตนาที่แท้จริง
ขอไว้อาลัยแด่คุณแตงโมและครอบครัว ครับ
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น บุคคลอ้างอิงในเวปไซด์จะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube) เป็นต้น การตีความและอธิบายภาษากายไม่มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนในเชิงการเมือง หรือ มีจุดประสงค์ที่จะละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น
อยากให้ ทำเรื่องคุณแตงโมขึ้นอีกค่ะ ขอเป็นความรู้