หลังจากที่น้าเน็กขอโทษคุณไพรวัลย์ไปใน VDO อย่าหาว่าน้าสอน EP74 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2565 ก็มีกระแสลบจากสังคมค่อนข้างมาก ซึ่งน้าเน็กเองก็สารภาพภายหลังว่าจริงๆก็ไม่ได้อยากจะขอโทษหรอกแต่อยากจะตอบโต้เสียมากกว่า (ส่วนผมได้วิเคราะห์ภาษากายของน้าเน็กใน VDOวันที่ 29 มกราคม 2565 ในลิ้งนี้)
ถัดมาไม่กี่วันจาก VDOขอโทษ น้าเน็กได้ออกมาคลี่คลายกระแสลบต่างๆที่เกิดขึ้นด้วย VDOขอโทษครั้งที่ 2
สำหรับบทความนี้ผมทำเป็นสองช่วง คือ ถอดรหัสภาษากายไว้บางส่วนของวีดิโอ และบทวิเคราะห์พิเศษถึงวิธีการสังเกตการขอโทษแบบใดที่จริงใจและเสแสร้ง
ถอดรหัสภาษากาย น้าเน็ก เมื่อขอโทษรอบ 2
นาที 1:33 – 1:43 “พี่เริ่มอย่างงี้เลยละกันครับ (*) เริ่มต้นจากวันศุกร์ที่ผ่านมาในรายการนินทาประเทศไทย..(**)..”
ในจังหวะ (*) จะพบภาษากายสี่อย่างอย่าง คือ
- การก้มหน้ามองไปด้านล่างขวา (Diminished eye contact – at lower right Quadrant) เป็นลักษณะการหลบตาแบบหนึ่งมักสัมพันธ์กับความรู้สึกผิด ละอาย ไม่มั่นใจ หรือ อยากหนีออกจากสถานการณ์นั้น (Guilt , Shame , Deception , low-confident , Fear)
- พร้อมกันนั้นจะพบร่วมกับลิ้นงู (Loose tongue jut) เป็นภาษากายมักพบบ่อยเวลากำลังคิดหรือกำลังพูดในสิ่งที่ตนคิดว่าไม่ดี ทั้งนี้ต้องแยกแยะให้ออกกับการเลียริมฝีปากเพราะปากแห้ง ทั้งนี้หลายคนมักจะวิเคราะห์ผิดว่า ลิ้นงู = โกหก คุณวิเคราะห์ภาษากายแบบนั้นไม่ได้ แต่จะต้องดูองค์ประกอบอื่นผสมไปด้วย เพราะหลายครั้งลิ้นงูไม่ได้แปลว่าโกหกเสมอไป
- จะพบน้าเน็กใช้มือถูกอะไรสักอย่างในลักษณะขยับแขนไปซ้ายทีขวาทีช้าๆ เนื่องจากกล้องจับภาพไม่ถึงเราจึงไม่ทราบว่าเอามือถูโต๊ะหรือสัมผัสตัวเอง แต่ผมคาดว่าเอามือถูกบริเวณต้นขา และถ้าเป็นต้นขาก็จะเป็นภาษากายอย่างหนึ่งในกลุ่มที่เรียกว่า Pacifying Behavior คือการปลอบประโลมตนเองในทางจิตวิทยาเพื่อลดความเครียดและกลัว หรือบางครั้งเป็นการเช็ดเหงื่อที่ออกมาจากฝ่ามือเพราะตื่นเต้น
- จังหวะ (**) จะพบ กลืนน้ำลายก้อนใหญ่ (Hard swallowing) การกลืนน้ำลายก้อนใหญ่มักพบเวลามีอาการตื่นเต้น เครียด และกลัว จึงสัมพันธ์กับการเก็บอั้นอารมณ์ลบ จะชัดเจนและถี่มากยิ่งขึ้นตามความรุนแรงของอารมณ์ที่เกิด ณ เวลานั้น สามารถอธิบายจากการร่างกายจะลดการทำงานของระบบย่อยอาหารทำให้ลดการหลั่งน้ำลายและน้ำย่อย น้ำลายจะเหนียวและข้นกว่าปกติทำให้ต้องพยายามกลืนน้ำลายจนเห็นการเคลื่อนไหวของลูกกระเดือกที่ลำคออย่างชัดเจน พร้อมกับกล้ามเนื้อบริเวณคอจะมีการหดเกร็งผิดไปจากสภาวะปกติ ทั้งนี้จะต้องแยกออกจากความผิดปกติที่เรียกว่าภาวะกลืนลำบาก (Dysphagia) และการพูดเยอะ ยาว อย่างต่อเนื่อง เช่น บรรยายสอนหนังสือนานจนน้ำลายแห้ง
นาที 5:46 – 6:01
“กูไม่ได้พูดอย่างที่คนควรมีมารยาท หรืออย่างพิธีกรให้เกียรติเพื่อนร่วมงานเลยเอี้ย…พูดเอี้ยอะไรก็ไม่รู้….”
จังหวะนี้พบภาษากายหลายอย่างร่วมกันและต่อเนื่องกัน
- เกือบตลอดช่วงรายการทั้ง 13 นาที เราจะพบสีหน้า (Facial expression) ที่ชัดเจนของความเสียใจ (Sadness) ซึ่งจะประกอบการหดตัวของมัดกล้ามเนื้อ Action Unit 1 ,4 และ 15 คือ Frontalis และ Depressor Supercilii ทำให้เห็นลักษณะของคิ้วที่หดตัวเข้าหากันและหัวคิ้วยกขึ้น และที่มุมปากทั้งสองข้างจะถูกดึงลงจากกล้ามเนื้อ Depressor Anguli oris และเปลือกตาบนบริเวณ 1/2 Lateral จะหย่อนกว่าปกติทำให้ปกคลุมม่านตา (Iris) ราว 1/3
- ตามีเงาแสงสะท้อนคล้ายลักษณะน้ำตาคลอที่ชัด แต่ไม่พบในระดับที่ไหลลงมาเป็นหยด และไม่พบการยกมือขึ้นมาเช็ดน้ำตา
- ลิ้นงู (Loose tongue jut) เป็นภาษากายมักพบบ่อยเวลากำลังคิดหรือกำลังพูดในสิ่งที่ตนคิดว่าไม่ดี ดังที่กล่าวไปข้างต้น
- ใช้มือถูกอะไรสักอย่างในลักษณะขยับแขนไปซ้ายทีขวาทีช้าๆ ดังที่กล่าวไปข้างต้น
ตลอดทั้ง 13 นาทีของวีดิโอชุดนี้ จะพบภาษากายที่ผมกล่าวมาวนซ้ำไปซ้ำมา นอกจากนั้นโทนเสียงของเขาจะต่ำลง นุ่มนวลขึ้น และพูดด้วยจังหวะที่ช้าลง ซึ่งแตกต่างกับการขอโทษในครั้งแรกมากมาย
โดยรวมจากภาษากาย จะพบลักษณะของความเสียใจ (Sadness) รู้สึกผิดและละอาย (Guilt & Shame) ที่ชัดเจน
การสังเกตว่าแบบใดที่จริงใจและเสแสร้ง
มีคนถามมาว่า เป็นไปได้ไหมที่เจ้าตัวอาจจะไม่ได้รู้สึกผิดจริงๆ แต่จำเป็นต้องทำเพื่อแก้ไขสถานการณ์ไม่ให้แย่ลง เหมือนเป็นการดำเนินกลยุทธ์เพียงเพื่อไม่ให้ภาพลักษณ์ตนเองเสียมากขึ้นเท่านั้น ?
โดยทั้งหมดอาจเป็นเพียงการเล่นละครและตีบทขอโทษที่แนบเนียน ?
ผมคิดว่าเป็นคำถามที่มีประโยชน์และน่ายกขึ้นมาเรียนรู้ร่วมกัน (จุดประสงค์ของคำถามไม่ได้มีเพื่อจะดูหมิ่นน้าเน็กใดๆทั้งสิ้น) ถ้ามาวิเคราะห์กันในเชิงทฤษฎีและใช้เหตุผลเพื่อพิจารณา ร่วมกับเปรียบเทียบ VDO “ขอโทษ” ต่างๆทั้งของไทยและเทศ ผมมีแนวคิดดังนี้
เริ่มจากตั้งคำถามว่า เป็นไปได้ไหมที่เจ้าตัวจะแค่เล่นละครเก่ง ?
ในทางทฤษฎี คำตอบคือเป็นไปได้ เพื่อให้เห็นภาพชัดผมขอยกตัวอย่างการเล่นละครและหนังของนักแสดงอาชีพ เช่น หนังคู่กรรมที่ ณเดชน์ เล่นคู่กับ ริชชี่
ในการถ่ายทำจะพบฉากหลายแบบหลายอารมณ์ เช่น
- ฉากที่สองคนทะเลาะกัน ทั้งคู่ก็ต้องเล่นละครให้สมจริงว่าเกลียดกันเพื่อจะได้ทะเลาะกันเนียน
- ในฉากรักก็ต้องแสดงว่ารักให้สมบทบาท แม้ว่าทั้งคู่ไม่ได้รู้สึกหลงรักกันแต่อย่างใด
- ในฉากเศร้าเสียใจก็ต้องแสดงแบบนั้นเพื่อให้คนดูอินไปด้วย โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้อยู่ในสภาวะเศร้าสลด
เพราะฉะนั้นคนที่จัดว่าเล่นละครเป็น หรือเป็นนักแสดงอาชีพที่เก่งและประสบการณ์สูง จะมี สีหน้า ท่าทาง คำพูด น้ำเสียง และอารมณ์ที่สอดคล้องกลมกลืน (Concordant) ตามบทที่ต้องแสดง ณ เวลานั้น
และยิ่งถ้าฉากใดที่เน้นใช้อารมณ์ลบมากๆ (High intensity of negative emotion) เช่น โกรธจัดแบบอยากจะฆ่า เศร้าแบบคนรักตาย หรือเสียใจแบบไม่มีอะไรหลงเหลือในชีวิต จะยิ่งยากขึ้น ซึ่งนักแสดงอาชีพมักจะแสดงบทพวกนี้ได้แนบเนียนกว่านักแสดงหน้าใหม่
เพราะฉะนั้น ถ้าน้าเน็กไม่ได้รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิด และไม่ได้รู้สึกผิด เขาก็จะต้องสวมบทไม่ต่างจากนักแสดงอาชีพเพื่อให้ สีหน้า ท่าทาง คำพูด น้ำเสียง และอารมณ์ นั้นสอดประสานไปด้วยกัน เพื่อให้คนที่ชม (พวกเรา) เชื่อ
ตรงกันข้าม ถ้าน้าเน็กรู้สึกเสียใจจริงๆ รู้สึกผิดจริงๆ เขาก็ไม่มีความจำเป็นต้องสวมบทเล่นละครใดๆ ไม่ต้องเหนื่อยกับการเสแสร้งแกล้งทำ เพราะทุกอย่างมันจะออกมาจากใจตรงไปตรงมา
และมีประเด็นอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับภาษากายที่ผมเอามาใช้พิจารณาร่วมด้วย 5 ข้อ
- เป็นไลฟ์ หรือ VDOตัดต่อ ถ้าเป็น VDO ที่บันทึกไว้และนำมาตัดต่อ จะดูน่าเชื่อถือน้อยกว่า VDOที่ไลฟ์สด เพราะเจ้าตัวมีโอกาสที่จะตัดส่วนที่พูดผิด หรือ edit ภาษาพูด ภาษากาย และอัดใหม่กี่รอบก็ได้ ยกตัวอย่าง VDO ขอโทษของฌอนที่ตัดต่อถึง 240 ครั้ง ที่ทุกวันนี้คนกลุ่มใหญ่ๆในสังคมยังกังขาในเงินที่รับบริจาคไปดับไฟป่า
- พูดสด หรือ อ่านสคริปต์ การพูดสดออกจากใจย่อมมีความจริงใจมากกว่าการถือสคริปต์มาพูดขอโทษ
- ดราม่า หรือ ไม่ บาง VDO ที่ขอโทษดราม่ามากเกินไปจนดูเหมือนเสแสร้ง เช่น กล่าวโทษตัวเองมากเกินจริง ร้องไห้คร่ำครวญตาแดงขี้มูกไหลสกปรกไปหมด ตีอกชกตัว บางคนทำร้ายร่างกายตัวเอง ตบปากตัวเองหน้ากล้อง ตัวอย่างที่ดราม่าและกลับกลายเป็นที่ขบขันไปทั่วโลกก็มีได่แก่ R Kelly ที่ดราม่าน้อยใจว่าไม่มีใครเชื่อสิ่งที่เขาพูด ดูนาที 4:30 เป็นต้นไป
- เบี่ยงประเด็น บางคนเวลาขอโทษจู่ๆก็ดันเปลี่ยนประเด็นซะงั้น เช่น มาร่ายธรรมะ เปลี่ยนตัวเองมาเป็นอาจารย์สั่งสอนสังคมว่อย่าทำแบบตน ฝากบทเรียนนี้ให้สังคมเพราะตัวเองอยากให้สังคมดีขึ้น คือดูเผินๆเหมือนจะสร้างสรรค์และก็น่าจะเกิดประโยชน์กับสังคม ดูและเหมือนอยากจะรักษาหน้าตัวเองมากกว่า
- ออกทะเลผสมดราม่า เช่น การทวงบุญคุณ การคร่ำครวญถึงความดีความชอบที่ตนเองทำมาทั้งชีวิต กลุ่มนี้คิดว่าจะเอาความดีในอดีตมากลบความผิดเหมือนเอาน้ำเปล่ามาเจือจางน้ำเกลือ
ถ้าพิจารณาทั้ง 5 ข้อที่มีตั้งข้อสังเกตไว้ร่วมกับภาษากายที่วิเคราะห์ จะเห็นได้ว่า VDO ขอโทษครั้งที่ 2 ของน้าเน็กครั้งนี้ดูจริงใจที่จะขอโทษกว่าครั้งแรกมาก ถ่ายทีเดียวครั้งเดียวไม่มีตัดต่อ ไม่มีสคริป ตรงไปตรงมา แม้อาจจะหนักไปทางกล่าวโทษตัวเองแต่ก็อยู่ในบริบทที่ไม่หลุดจากความจริงที่เกิด และสไตล์คำพูด สละสำนวนก็ไม่ได้ปั้นแต่งให้ไพเราะหรือสุภาพจนแลดูเป็นคนละคน ก็ยังคงตรงๆแบบน้าเน็กที่เราคุ้นเคย
น้าเน็กเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ผู้คนติดตามหลายล้านคนทั่วประเทศ และเป็นหนึ่งตำนานของวงการบันเทิงคนหนึ่งที่ยังมีชีวิต เป็น Content creator ระดับท็อปๆของประเทศไทย ผมเชื่อว่าทุกคนเป็นกำลังใจให้น้าเน็ก และรอชมผลงานดีๆใหม่ๆในอนาคตครับ
ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น
ขอบพระคุณสำหรับวิชาภาษากายที่อาจารย์ได้แบ่งปันความรุ้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้ได้ศึกษาหาความรู้ความเข้าใจ และเป็นคนช่างสังเกตุมากขึ้นค่ะ จะติดตามและเรียนรู้ความรู้นี้ไปกับการวิเคราะห์ของอาจารย์ค่ะ ขอบพระคุณที่อาจารย์สละเวลามาบอกกล่าววิชาภาษากายต่อสังคมค่ะ