คุณ ลูกหนัง ศีตลา วงษ์กระจ่าง สมาชิกสาวชาวไทยจากวง H1-KEY ก็ได้ตอบคำถามถึงอดีตของตนในบทบาททางการเมืองก่อนเดบิวต์
กลุ่มดารา นักแสดง หลายคนมักจะลำบากใจเสมอเมื่อถูกสัมภาษณ์ หรือ ถูกจี้ถามในประเด็นทางการเมืองเพราะไม่ว่าจะตอบออกมาในรูปแบบใด (หรือแม้แต่จะหลีกเลี่ยงที่จะตอบ) ก็มักจะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
เคสเรียนภาษากายบทนี้เราจะมาดูภาษากายของ ลูกหนัง ศีตลา วงษ์กระจ่าง ในวีดิโอข้างต้นเมื่อต้องเผชิญคำถามที่ยากและเครียด เราจะพบภาษากายที่น่าสนใจหลายอย่าง
ภาษากายคือข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว จึงเป็นชุดของข้อมูลสำคัญที่สามารถใช้ตีความว่าส่วนตัวเราจะให้ระดับความความเชื่อถือกับเหตุการณ์ที่ปรากฎอย่างไรเท่านั้น การวิเคราะห์ภาษากายจึงไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินว่าใครโกหกหรือหลอกลวง
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
นาที 0.02 – 0.06 เมื่อพิธีกรเริ่มคำถามว่า “ก่อนหน้านี้ ในโลกออนไลน์พูดถึงกรณีคุณพ่อของคุณ…” (แปลจาก subtitle ภาษาอังกฤษ) กล้องจะจับไปที่คุณลูกหนังพร้อมกับแสดงภาษากายหลายอย่าง (Cluster of Body Language) ดังนี้
- ตาโต (eyes wide open)จากการกดของ Frontalis ร่วมกับ Corrugator Supercilii เป็น microexpression ของความกลัว (Fear)
- กล้ามเนื้อบริเวณลำคอหดเเกร็ง จากการกดตัวของกล้ามเนื้อ Platysma เป็น microexpression ของความกลัว (Fear)
- การเม้มปาก (Lips compression) สังเกตริมฝีปากบนและล่างถูกเม้มจนแยนยาว แสดงถึงการเก็บอารมณ์ลบ (Consealing strong emotion)
- กลั้นยิ้ม (Suppressed smile) ในบริบทนี้เจ้าตัวก็น่าจะต้องการยิ้มตามปกติในบริบทของการอยู่บนเวที แต่ด้วยความที่มีอารมณ์ที่ตีรวนกัน (Mixed emotion) จะทำให้เห็นรอยยิ้มออกมาแปลก ๆ และดูไม่ค่อยเหมือนการยิ้ม
- กัดฟันแน่น (Clenching teeth) จะพบร่องแก้มสองข้างปุ๋ม (Dimples) และเห็นรอยบูดของ massetter muscle ที่ชัดเจน
- หลบตาไม่ได้มองไปที่พิธีกร (Diminished eye contact) พิธีกรนั่งอยู่บริเวณ 4 นาฬิกา แต่ลูกหนังมองไปที่ 5 นาฬิกา
- กระพริบตาถี่ขึ้น (Increase Blinking rate) แสดงถึงความตื่นเต้น
จากภาษากายกลุ่มนี้ วิเคราะห์ได้ชัดเจนว่ามีหลายอารมณ์ลบร่วมกัน ทั้ง ความกลัว (Fear) ตื่นเต้น วิตกกังวล และเครียด (Anxiety , Stress) และกำลังพยายามเก็บอารมณ์เหล่านี้ไว้ (Concealing strong negative emotion)
ยิ่งภาษากายมีมากเท่าไหร่และเราสามารถเอามาวิเคราะห์รวมกัน จะยิ่งวิเคราะห์ได้แม่นยำกว่าการอ่านภาษากายอันเดียว ซึ่งในเคสนี้จังหวะนี้จะพบภาษากายที่สัมพันธ์กันชัดเจน
นาที 0:10 – 0:14 จะพบการยิ้มและสีหน้าดูผ่อนคลายมากขึ้น (Relaxed) ซึ่งจังหวะนี้เจ้าตัวน่าจะปรับอารมณ์ได้มากขึ้น แม้จะยังพบ Diminished eye contact
นาที 0:16 ในจังหวะที่เริ่มจะตอบ คุณลูกหนังพูดว่า “ขอบคุณสำหรับคำถาม” จะพบการเสยผม (Adjusting hair) ทั้งที่ผมไม่ได้บังตา เป็นภาษากายที่คนเราทำบ่อยๆเพื่อปลุกความมั่นใจ (Alpha upright)
การเริ่มต้นประโยคว่า “ขอบคุณสำหรับคำถาม” อาจอธิบายได้ว่าเป็นลักษณะการ “ซื้อเวลา” วิธีหนึ่ง เช่นเดียวกับรูปแบบการเริ่มต้นตอบคำถามว่า “คำถามนี้เป็นคำถามที่ดีมากๆ”
ประเด็นที่น่าคิด คือ เราล้วนทราบดีว่าเจ้าตัวลึกๆแล้วไม่ได้อยากตอบคำถามนี้เลย การถ่วงเวลา (ในเชิงจิตวิทยา)จึงเกิดขึ้นเพื่อให้สมองได้เรียบเรียงและคิดคำตอบ อีกนัยยะหนึ่งอาจมองว่าเป็นการเริ่มต้นตอบตามมารยาทคล้ายๆพวกนางสาวไทยขึ้นตอบ
ทั้งนี้ในแง่ความเป็นจริงเราล้วนรู้ดีว่ามันไม่มีความจำเป็นใดๆที่ต้อง “ขอบคุณ” สำหรับคำถามประเภทนี้ เพราะเจ้าตัวย่อมไม่ได้รู้สึก “ขอบคุณ”แต่อย่างใดโดยเฉพาะคำถามเกี่ยวกับการเมือง
นาที 0:21 หลังจากที่คุณลูกหนังแนะนำตัวเองจะมีเสี้ยววินาทีที่กลอกลูกตาไปทางมุมบนขวา (looking to the upper right Quadrant) eyes pattern นี้ จะสัมพันธ์กับการคิด การสร้าง การจินตนาการ อาจแปลได้ว่าเจ้าตัวกำลังคิดอยู่ว่าจะตอบคำถามนี้อย่างไรดี
นอกจากนั้นลักษณะของท่อนแขนและการจับไมค์ก็น่าสนใจ 1/2 ของลำแขนท่อนบนจะแนบติดลำตัวเป็น Beta posture
นาที 0:25 ช่วงที่ตอบว่า ” ณ เวลานี้ ฉันไม่มีบทบาททางการเมือง” (แปลตาม subtitle) จะพบว่ามองลงด้านล่างขวา (Looking down to the lower right quadrant) มักสัมพันธ์กับ Deception เช่น ความรู้สึกผิด (Guilt) ละอาย (Shame)
นาที 0:35 ช่วงที่พูดว่า “ฉันอยากจะชี้แจงให้ชัดในประเด็นนี้” (แปลตาม subtitle) จะพบว่ามองลงด้านล่างขวา (Looking down to the lower right quadrant) และมีช่วงหนึ่งที่หยุดพูดและลากเสียง “เออ…..” อาจอธิบายว่ากำลังเรียบเรียงสิ่งที่จะตอบ
นาที 0:39 – 0:47 ช่วงที่ตอบว่า ” ณ เวลานั้น ฉันยังเด็กและไม่ได้รู้เรื่องอะไรมากมาย” จะพบว่าดังนี้
- มองลงด้านล่างขวา (Looking down to the lower right quadrant) หลายครั้ง
- มีการยิ้มออกมาโดยมุมปากขวายกสูงกว่าข้างซ้าย (Asymmetry smile)
- ปากสั่น (Lips twitching) ในนาที 0:44 สัมพันธ์กับความตื่นเต้นและกลัว (Anxiety from fear)
- และพบการอั้นรอยยิ้ม (Suppressed smile) ร่วมกับการเกร็งและหดตัวของ masseter muscle
รอยยิ้มมีหลายแบบและไม่ใช่ทุกแบบที่แสดงถึงความสุขหรือจริงใจ (Sincere smile / True smile) การยิ้มแบบอั้นไว้โดยเฉพาะกรณีนี้เป็นจุดที่น่าวิเคราะห์ว่ายิ้มเพราะอะไร ? และเจ้าตัวรู้สึกยังไงหลังจากพูดตอบสิ่งที่ตอบออกไป เช่น อาจจะรู้สึกอาย (shy) หรือขายหน้า (embarrassment)
จึงน่าสนใจช่วงที่ตอบว่า “ฉันยังเป็นเด็ก” เจ้าตัวคงรู้สึกอะไรบางอย่างเพราะภาษากายเป็นสิ่งที่ปกปิดได้ยาก ทั้งนี้มีแต่เจ้าตัวเท่านั้นที่จะบอกว่าได้เขารู้สึกอย่างไรเมื่อตอบแบบนั้น
ช่วงนาทีที่ 0:49 คุณลูกหนังพูดว่า “อย่างไรก็ตาม ฉันหวังว่าแม้คนไทยจะเห็นต่างกันแต่จะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างผาสุข” (แปลจาก subtitle) จะพบการเอามือขึ้นมาสัมผัสบริเวณลิ้นปี่ถึงร่องคอ (suprasternal notch) และส่วนอื่นๆของร่างกายดูผ่อนคลายมากขึ้น (Relaxed) จังหวะนี้ภาษากายสอดคล้องกับสิ่งที่พูด (Synchonize)
นาที 1:04 เหมือนคุณลูกหนังจะยกไมค์ขึ้นมาตอบแต่ไม่ได้ตอบ ทั้งนี้จะแสดงภาษากายออกมา คือ มุมปากซ้ายฉีกไปข้างหลัง (Conner of the mouth pulled backward) เป็น microexpression of Regret และมีส่วนของ Fear ด้วยจากการเกร็งของกล้ามเนื้อลำคอ ทำให้เห็นเป็นรอยยิ้มที่ครึ่งๆกลางๆและดูแปลกอันเป็นผลมาจากการตีรวนและผสมผสานของอารมณ์หลายอย่าง
สรุป
ในบทเรียนนี้เราพบภาษากายหลายอย่างที่น่าสนใจโดยเฉพาะ Microexpression ที่หาดูได้ยากซึ่งจะสังเกตได้ผ่าน VDO ที่ความละเอียดสูงร่วมกับ playback speed 0.75-0.5 Microexpression แทบไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า และเป็นข้อมูลของภาษากายที่แม่นยำมาก
เคสนี้เราพบภาษากายที่หลากหลายเพราะมีหลายอารมณ์เกิดขึ้นโดยเฉพาะช่วงต้นที่จะเริ่มตอบคำถามและช่วงที่ตอบคำถามเครียดๆรวมถึงการตอบไปว่า “ตัวเองยังเด็ก”
สุดท้ายขอให้กำลังใจคุณลูกหนังในการทำงานในฐานะนักร้องเกาหลี
ปล.และสำหรับท่านที่ยังไม่เคยดูมิวสิควีดิโอ ผมแนบไว้ข้างล่างนี้นะครับ
ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น บุคคลอ้างอิงในเวปไซด์จะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube) เป็นต้น การตีความและอธิบายภาษากายไม่มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนในเชิงการเมือง หรือ มีจุดประสงค์ที่จะละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น