เป็นข่าวดังทั้งอเมริกากับเหตุการณ์นักเรียนพกปืนไปโรงเรียนแล้วยิงเพื่อนร่วมโรงเรียนเสียชีวิต 4 คนและบาดเจ็บอีก 7 คน รายละเอียดชมได้ใน (ลิ้งข่าว Michigan school shooting suspect’s parents arrested after ‘going on the run’ – BBC News)
ในส่วนภาษากายที่จะแนะนำกันในเคสนี้ คือ ภาษากายของคุณ Karen McDonald ซึ่งมีบทบาทเป็น prosecuting attorney ของ Oakland County ตอนแถลงข่าวเพื่อแจ้งข้อกล่าวหากับพ่อแม่ตระกูล Crumbley ของเด็กที่ก่อเหตุ
ความน่าสนใจของเคสนี้คือตั้งแต่ช่วงแรกจนถึงนาทีที่ 3 เราจะสังเกต คุณ Karen McDonald ใช้มือยกขึ้นมาเช็ดจมูก (rubbing nose) หลายครั้ง ซึ่งภาษากายนี้ถือเป็นการ “ส่งสัญญาณ” ให้เราต้องจับตาไว้
มือขึ้นมาจับหน้า (Touch face) มือเช็ดจมูก (Hand Rubbing nose) จะเป็นภาษากายที่ในกลุ่มที่เรียกว่า Self-Adaptors (Ekman : 1972) หรือ Self-Manipulator (Mahl : 1968) หรือจะจำแนกเป็น Pacifying Behavior (Joe Navarro) ก็ได้ **เพราะทั้งสามคำนี้จำกัดความหมายไว้กว้างๆแต่ในบทความนี้ขอเรียกว่า Adaptor
Self-Adaptor เป็นภาษากายของการเคลื่อนไหวของมือที่ไม่มีเหตุผลและไม่สัมพันธ์กับสิ่งที่กำลังสื่อสาร (ซึ่งจะเป็นสิ่งที่เราแยกความแตกต่างออกจากภาษากายของมือที่เรียกว่า illustrator กับ Emblem อันจะกล่าวถึงในบทความอนาคตต่อไป)
ในกรณีที่เป็นการสัมผัสใบหน้ามักสัมพันธ์กับความรู้สึกหรืออารมณ์ที่ผิดปกติ เช่น รู้สึกลำบากใจ หรือ เกิดความรู้สึกลบบางอย่าง (Psychological discomfort , Negative feelings) และบางกรณีแสดงถึงความไม่มั่นใจในสิ่งที่พูด/ตอบ ยกตัวอย่างเช่น ไม่ได้พูดความจริง ปกปิด พูดความจริงไม่ครบ ทั้งนี้จะต้องแยกออกจากการสัมผัสจมูกออกจากการ เช็ด หรือ ขยี้จมูกเพราะเป็นภูมิแพ้ หรือ แพ้อากาศ รวมถึง Baseline ของผู้พูดร่วมด้วย
ทั้งนี้ถ้าเรามาวิเคราะห์ให้ลึกขึ้นว่าทำไม คุณ Karen McDonald ถึงมีภาษากายนี้บ่อยครั้งทั้งที่สิ่งที่เขาแถลงข่าวก็น่าจะเป็นความจริงทั้งสิ้น ?
สาเหตุคือ ความรู้สึกและอารมณ์ที่เกิดเมื่อพูดในจังหวะนั้นย่อมต้องมีบางสิ่งบางอย่างภายนอกมาเป็นกระตุ้น เช่น วินาทีที่ 0:18 Karen McDonald ใช้มือยกขึ้นมาเช็ดจมูกหลังจากพูดชื่อของพ่อแม่ของฆาตกร ประเด็นนี้จึงน่าจะต้องเจาะลึกต่อไปว่า คุณ Karen McDonald รู้สึกอย่างไรกับพ่อแม่คู่นี้ ? หรือ เขารู้สึกเกี่ยวกับตัวเขาเองอย่างไรกับสองคนนี้ ในวินาทีนั้น
ข้อสันนิษฐานมีได้หลายประเด็น เช่น
- อาจเป็นไปได้ว่าเป็นการรีบร้อนแถลงแจ้งข้อหากับพ่อแม่สองรายนี้ อาจจะรวบรัดและเร็วเกินไป อาจจะข้ามบางขั้นตอน
- หรือกระทำไปเพื่อให้ตอบกระแสที่คนกำลังสนใจแต่ในเวลาเดียวกันอาจมีช่องโหว่ในระบบที่ยังไม่รู้
- อีกประเด็นคือตลอดการแถลงข่าวเขาพุ่งเป้าไปที่พ่อแม่และไม่ได้เอ่ยถึงความรับผิดชอบของโรงเรียนซึ่งโดยหลักการทางโรงเรียนน่าจะมีส่วนรับผิดชอบกับการกระทำของนักเรียน เพราะเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดในเวลาเรียนและในเขตโรงเรียน
- เธออาจถูกสั่งลงมาให้ทำตามนโยบายพรรค หรือ จากผู้ที่มีอำนาจสูงกว่าโดยตัวเขาอาจจะไม่เห็นด้วยทั้งหมด เป็นต้น
ทั้งนี้เราไม่มีทางทราบได้อย่างชัดเจนนอกจากจะมีโอกาสสัมภาษณ์ คุณ Karen McDonald ว่า ณ เวลานั้นที่เขาเช็คจมูก เขารู้สึกยังไง ? เขามีสิ่งใดปิดบัง หรือ ซ่อนเร้นอยู่หรือไม่ ? อะไรที่ทำให้เขามีภาษากายของความอึดอัดใจ ?
ภาษากายไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินว่าใครโกหก หรือ หลอกลวง แต่เป็นชุดของข้อมูลที่เจ้าตัวแสดงออกมาแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว ส่วนเราในฐานะผู้รับสารก็จะต้องนำมาคิดวิเคราะห์เองว่าจะให้ความน่าเชื่อถือกับสิ่งที่ปรากฎมากน้อยแค่ไหน อย่างไร
ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น
1 Response
[…] เรื่องของเรื่อง คือ หลังจากที่เขาได้เรียนการสังเกตคนเพื่อจับโกหก เขาก็เริ่มสังเกตคนรอบข้างมากขึ้นด้วยมุมมองที่เปลี่ยนไป รวมถึงการสังเกตคนใกล้ชิด คือ ภรรยาของเขาและเพิ่งสังเกตได้ว่าทุกครั้งที่เขาบอกรักภรรยาว่า “ที่รัก…ผมรักคุณ” ภรรยาจะตอบกลับว่า “ฉันก็รักคุณเช่นกัน” ทั้งนี้ภาษากายของภรรยาเขามีลักษณะบางอย่างที่คล้ายกับคนกำลังโกหก ได้แก่ภรรยามักจะมองต่ำ หรือ มองไปทางอื่น พร้อมกันนั้นเขามักจะยกมือขึ้นมาขยี้จมูกคล้ายท่าคัดจมูกเป็นประจำ (ตัวอย่างดังภาพข้างล่าง และบทความเต็มอยู่ในลิ้งนี้) […]