โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ ผู้จัดการทีมแมนยู แพ้ยับเยินให้กับทีมขนาดเล็กที่ชื่อวัตฟอร์ตถึง 4-1 ครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์ที่ตึงเครียดมากทั้งสำหรับแฟนคลับ ทีมบริหารสโมสรรวมถึงตัวเขาเองในฐานะผู้จัดการทีม เพราะจาก 7 นัดล่าสุดแมนยูแพ้ถึง 5 ครั้ง
ในบทเรียนนี้มีภาษากายของ โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ มีหลายอย่างที่น่าสนใจ ทั้งนี้ก่อนจะมาถอดรหัสภาษากายผมอยากชวนมาพิจารณาสถานการณ์ (Situation) การตั้งคำถามและสิ่งที่เราคาดหวังจะเห็นในวีดิโอนี้
ความคาดหวังของผมและคำถามคือ โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ เขามีท่าทีอย่างไรต่อการแพ้ของลูกทีม ? เขาโกรธ เขาเกลียด หรือ เฉยๆ เขามีความรู้สึกเศร้า ทุกข์ระทม หรือละอาย หรือไม่ ? เขายอมรับ หรือปฎิเสธ และเขาจริงใจหรือเสแสร้งมากน้อยเพียงใด
อย่างไร ทั้งหมดเราไม่อาจทราบได้ชัดเจน แต่เราจะพออธิบายผ่านภาษากายที่แสดงออกมาได้ ไม่มากก็น้อย
นาที 0:30 พบภาษากายที่เรียกว่า Shoulder Shrug (SS) หรือ ยักไหล่ พร้อมกับคิ้วยกทั้งสองข้าง (Eyebrow raise) จากที่ผมสังเกตฝรั่งมักทำท่านี้มากกว่าคนเอเชีย การยักไหล่ถ้าแปลเป็นภาษาพูดก็จะประมานว่า “แล้วไงละ , ให้ฉันทำยังไงละ , ฉันไม่สนใจ ” (So what – I don’t care) แสดงถึงการไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งนั้น และใน VDO นี้ โซลชาร์ ทำยักไหล่บ่อยครั้งมาก
นาที 0:38-0:44 ช่วงที่พูดถึงฟอร์มการเล่นครึ่งหลังของแมนยูว่าเล่นได้ดีขึ้น แต่น่าสนใจที่เขาส่ายหัวในวินาทีนั้น
นอกจากนั้นพบ Micro expression ของ Disgust หรือ ความรู้สึก/อารมณ์เกลียด ไม่ชอบ ขยะแขยง สังเกตจากกล้ามเนื้อรอบจมูกหดตัว ภาพนี้ชัดมาก น่าวิเคราะห์ว่าเขาเกลียดลูกทีมตัวเอง หรือ ฟอร์มการเล่นของทีมตัวเอง หรืออะไร ?
0:55-0:57 นักข่าวถามโคตรแรง “คุณเชื่อไหมว่าคุณแย่แค่ไหนและมันน่าอับอายมาก” จังหวะนี้พบ Cluter of Body Language ของคุณโซลชาร์
- ลิ้นงู (Loose tongue jut) เป็นภาษากายมักพบบ่อยเวลากำลังคิดหรือกำลังพูดในสิ่งที่ตนทำไว้ไม่ดี พบได้บ่อยในคนที่กำลังโกหก ปิดบัง หรือเล่าความจริงไม่ครบ เติมแต่ง (ซึ่งล้วนก็เข้าข่ายการโกหกแบบหนึ่ง) หรือการพูดความจริงแต่เป็นสิ่งที่ตนเองทำไม่ดีเอาไว้ ทั้งนี้ต้องแยกแยะให้ออกกับการเลียริมฝีปากเพราะปากแห้ง
- เม้มปาก (Inward lip roll) เป็นภาษากายที่เกิดโดยปราศจากการบังคับโดยเจ้าตัว (Subconcious) จะสัมพันธ์กับการกลั้นอารมณ์ลบ (Conceling strong negative emotion) เช่น การกลั้นอารมณ์เสียใจ ความเครียด ความกลัว หรือความโกรธ
- มือขึ้นมาจับหน้า (Touch face) มือเช็ดจมูก (Hand Touching nose) เป็นการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ (Psychological discomfort) จะพบได้บ่อยในกรณีที่พูดสิ่งที่ลำบากใจ เช่น โกหก ปกปิด พูดความจริงไม่ครบ ทั้งนี้จะต้องแยกออกจากการสัมผัสจมูกออกจากการ เช็ด หรือ ขยี้จมูกเพราะเป็นภูมิแพ้ หรือ แพ้อากาศ รวมถึง Baseline ของผู้พูดร่วมด้วย
- หน้าผากย่น (CFHC) จะสังเกตได้บ่อยในกรณีที่รู้สึกเจ็บปวดทั้งร่างกาย (Physical pain) หรือทางจิตใจ (Emotional pain)
- มองต่ำเพื่อหลบตา (Diminished eye contact) พบบ่อยเวลาคนที่เกิดความลำบากใจที่จะตอบ เช่น กำลังปกปิด โกหก หรือลำบากใจที่จะพูดเช่นทำความผิดไว้ ละอาย หรือไม่อยากตอบ ถือเป็น non-specific body language ที่ต้องตีความร่วมกับองค์ประกอบอื่นร่วม
จังหวะนี้เขามีหลายอารมณ์ลบตีรวนกันมากเพราะคงไม่รู้จะแก้ตัวยังไง เพราะล้วนเป็นภาษากายที่สะท้อนอารมณ์ลบและการปิดบังซ่อนเร้น
นาที 1:16 เมื่อนักข่าวถามจี้ว่า “ทำไมคุณถึงบอกว่านักเตะไม่อยู่ในกรอบคิดที่ถูกต้อง (Right frame of mind) เขามีปัญหาอะไร ?” แล้วไซลชาร์ก็หัวเราะและยิ้ม และก็พูดขอโทษทันทีที่ตนเองยิ้ม
ถ้าดูใน VDO ต่อไปอีกหน่อย คือ โซลชาร์ ก็ไม่ได้ตอบตรงๆว่าเพราะอะไร เขาอาจจะอยากใช้คำพูดสวยๆ แต่พอถูจี้มากๆก็ไปไม่เป็น ตอบคำถามได้ไม่ดี
การยิ้มจังหวะนี้เป็นยิ้มผิดบริบท (Smiling out fo context) ทำให้หลายคนโจมตีว่าเขาไม่ได้จริงจัง ไม่จริงใจ
นาที 2:05 นักข่าวคนนี้เก่งและกวนมากในเวลาเดียวกัน นักข่าวถาม “แล้วนักเตะระดับโลกของคุณที่คุณเอยมา อย่างแม็คไกวที่โดนใบแดงไปนี้มันยังไง มันปกติไหมเนี่ยสำหรับคนที่เป็นนักเตะระดับโลก”
จังหวะนี้โซลชาร์เกาหัวทันที (Head scratch) เป็นภาษากายที่เราคุ้นเคยที่เราเห็นประจำเวลาเราคิดไม่ออก บอกไม่ถูก เป็นภาษากายที่ตรงไปตรงมา
นาที 2:44 นักข่าวถาม “คุณประกาศว่าจะเป็นการเริ่มต้นครั้งใหม่ แต่กลับเป็นความล้มเหลวที่ซ้ำซาก”
โซลชาร์แสดง Cluster of Body Language ดังนี้
- เอนหัวไปข้างหลัง (Tilting head away) เป็นกลไกของจิตใต้สำนึกที่อยากจะหลีกหนี (Flee)
- มองไปทางอื่น (Diminished eye contact) ดังที่อธิบายไปแล้ว
- กลืนน้ำลายก้อนใหญ่ (Hard swallowing) การกลืนน้ำลายก้อนใหญ่มักพบเวลามีอาการตื่นเต้น เครียด และหวาดกลัว จึงสัมพันธ์กับการเก็บอั้นอารมณ์ลบและจะชัดเจนและถี่มากยิ่งขึ้นตามความรุนแรงของอารมณ์ สามารถอธิบายจากการร่างกายจะลดการทำงานของระบบย่อยอาหารทำให้ลดการหลั่งน้ำลายและน้ำย่อย น้ำลายจะเหนียวและข้นทำให้ต้องพยายามกลืนน้ำลายจนเห็นการเคลื่อนไหวของลูกกระเดือกที่ลำคออย่างชัดเจน พร้อมกับกล้ามเนื้อบริเวณคอจะมีการหดเกร็งกว่าในสภาวะปกติ ทั้งนี้จะต้องแยกออกจากความผิดปกติทางร่างกายที่เรียกว่าภาวะกลืนลำบาก (Dysphagia)
นาที 3:02 จังหวะนักข่าวถาม “นี่มันแพ้ 5 ครั้งจาก 8 นัดเลยนะ” โซลชาร์ แสดงลิ้นงู (Loose tongue jut)
นาที 4:22 ตอนนักข่าวพูดว่า “คุณก็รู้ว่าผู้จัดการเป็นตำแหน่งที่สำคัญมาก” รอบนี้โซลชาร์ทำ Shoulder Shrug ขนาดใหญ่มาก ผมแทบไม่เคยเจอใครทำท่าด้วย intensity ระดับนี้ จังหวะนี้ภาษากายอาจกำลังพูดว่า “แล้วให้ฉันทำไงละ” หรือ “แล้วยังไงละ”
สรุป
จากภาษากายทั้งหมดและสิ่งที่พบในวีดิโอ
- โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ ไม่ได้พูดกล่าวโทษตนเอง
- โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ ตำหนิลูกทีมว่ามีปัญหาทางความคิดและจิตใจ (Mindset)
- มีภาษากายหลายอย่างที่สัมพันธ์กับการปฎิเสธและเพิกเฉย (Reject & Ignore)
- โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ แสดงอารมรณ์เกลียดเมื่อพูดถึงลูกทีมตนเอง
เคสคุณ โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ ก็มีภาษากายที่น่าสนใจให้ศึกษา แม้ว่าวันนี้เขาจะไม่ได้เป็นผู้จัดการทีมอีกแล้วแต่คิดว่าคงยังไงอยู่ในวงการต่อแน่นอน
ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น