
ภาพด้านล่างนี้มีการแชร์กันทั่วโซเชี่ยวและถูกนำมาพูดคุยอย่างกว้างขวางว่านายกรัฐมนตรีไทย คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมือนจะฟังภาษาอังกฤษไม่ออกหรือเปล่าทำให้เวลาที่ตากล้องขอให้ยกมือขวาขึ้นเพื่อถ่ายรูปแล้วประยุทธ์ถึงไม่ยกตาม ?
ถ้าเราพิจารณาเฉพาะแต่จากภาพ ก็อาจจะตีความได้แบบนั้น ซึ่งถ้าเราได้ดูภาพเคลื่อนไหวที่อยู่ใน Link ข่าวนี้จะพบว่าจริงๆคุณประยุทธ์เขายกมือขวาเป็นเมื่อช่างถ่ายภาพบอก

สิ่งที่น่าเอามาคุยกันในเคสนี้ คือข้อจำกัดของภาพนิ่ง (still image) ในการใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาภาษากาย
Still image หรือภาพนิ่ง จะมีข้อจำกัดในการอ่านภาษากายหลายประการ เช่น เราจะเห็นเพียงช้อตเดียว หรือ เสี้ยวเดียวของเหตุการณ์ทั้งหมด (a Slice of Situation) เช่นภาพที่คุณแม่ถือมีดและกำลังเดินไปหาลูกอาจจะทำให้เราดูแล้วรู้สึกน่ากลัวและจินตนาการต่อถึงเหตุการณ์ต่อไป เช่น การทำร้ายร่างกาย แต่เหตุการณ์จริงอาจเป้นเพียงคุณแม่ถือมีดเพื่อจะไปหยิบผลไม้มาปอกเท่านั้น
ในการวิเคราะห์ภาษากายจะคล้ายคุณหมอที่จะตรวจโรค หรือ คล้ายนักสืบที่จะต้องหาข้อมูล ถ้าเรามีข้อมูลยิ่งเยอะยิ่งดี
ในภาพเคลื่อนไหว หรือ VDO เราจะมีข้อมูลมากมายทั้งก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น ระหว่างที่เกิด หลังจากที่เกิด และบริบทรอบข้าง รวมถึงคำพูดและน้ำเสียงด้วย และยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไหร่ก็ยิ่งสามารถวิเคราะห์ได้ละเอียดและแม่นยำมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการย้อนไปดูภาพเคลื่อนไหวในเหตุการณ์อื่นๆในอดีตเพื่อจะสังเกต Baseline personality ของคนๆนั้นร่วมด้วย
ภาพคุณประยุทธ์ไม่ได้ยกมือพร้อมกับเหล่าผู้นำดังภาพบนสุดที่เห็นจึงเป็นจังหวะเพียงเสี้ยววินาทีที่ยกมือไปแล้วและคุณประยุทธ์ลดมือลงเท่านั้น เรื่องราวจึงไม่ใช่ลักษณะที่ฟังภาษาอังกฤษไม่ออกระดับย่ำแย่ใดๆขนาดนั้นที่จะไม่รู้ว่าทีมถ่ายภาพต้องการให้ยกมือ ซึ่งภาพนิ่งดังกล่าวก็ทำให้เกิดการตีความผิดจากเหตุการณ์จริง
เพราะฉะนั้นบทเรียนในเคสนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ดีที่เราจะต้องระมัดระวังในการตีความภาษากายผ่านภาพถ่ายประเภท Still image โดยเฉพาะการตีความที่มีจุดประสงค์อื่นนอกเหนือจากการเรียนรู้ เพราะอาจนำไปสู่การละเมิดได้ในทางกฎหมายได้
ในอดีตที่เทคโนโลยี Digital ยังไม่ทันสมัยเช่นปัจจุบัน การถ่าย VDO หรือภาพเคลื่อนไหวนั้นมีต้นทุนที่สูงและมีความยุ่งยากมากในการเก็บบันทึก ทำให้การเรียนรู้ภาษากายจะมีข้อจำกัด แต่ในยุคนี้การถ่าย VDO ด้วยคุณภาพ HD เป็นเรื่องสามัญที่ทำได้ทันทีทุกเมื่อที่เราต้องการอย่างไร้อุปสรรค จึงเป็นยุคที่เต็มไปด้วยภาพเคลื่อนไหว (Motion)
สำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้ภาษากายในยุคนี้จึงถือว่าโชคดีที่ได้อยู่ในยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูล (Rich information) ทำให้เราสามารถพัฒนาความสามารถการถอดรหัสภาษากายได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น
2 Responses
[…] ทั้งนี้ การใช้ภาพเพื่อวิเคราะห์ภาษากายจะมีข้อจำกัดค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับการวิเคราะห์จากภาพเคลื่อนไหว เราจึงต้องระลึกถึงประเด็นนี้เสมอ […]
[…] ผมเคยเขียนอธิบายไว้ในบทความ ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 63 : หลักฐานยืนย… แต่ทั้งนี้ […]