พฤศจิกายน 18, 2021

ถอดรหัสภาษากายเคสที่ 62 : คุณอุ๊งอิ๊งค์ เปิดตัวเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย 28 ตุลาคม 2564

คุณอุ๊งอิ๊งค์ ถือว่าได้ลงมาเล่นการเมืองเรียบร้อยในตำแหน่งสำคัญในพรรคเพื่อไทย และมีเสียงหนาหูว่าอาจจะเป็นแคนดิเดตเพื่อเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปท่ามกลางกระแสว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ในอีกไม่นานจากนี้

บทเรียนนี้ เราจะได้มาศึกษาภาษากายบนเวทีปราศรัยของนักการเมืองกัน และมาเรียนรู้ภาษากายผ่านวีดิโอที่ปรากฎในสื่อสาธารณะอันนี้ เนื่องจากวีดิโอมีความยาวถึง 15 นาที ผมจึงขอยกบางช่วงของวีดิโอที่น่าสนใจเอามาเรียนรู้กัน

ภาษากายคือข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว จึงเป็นชุดของข้อมูลสำคัญที่สามารถใช้ตีความว่าส่วนตัวเราจะให้ระดับความความเชื่อถือกับเหตุการณ์ที่ปรากฎอย่างไรเท่านั้น การวิเคราะห์ภาษากายจึงไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินว่าใครโกหกหรือหลอกลวง

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
นาที 0:17 – 0:18  จังหวะก่อนยกมือไหว้
Clusrter of Body Language

1.ท่ายืนและการไหว้ ผู้พูด (คุณอุ๊งอิ๊งค์) เริ่มด้วยการเหยียดมือดิ่งตรงข้างลำตัวทั้งสองข้างและยกมือขึ้นไหว้ ท่าทางแข็งและไม่เป็นธรรมชาติ  ลักษณะนี้ในใจอาจกำลังคิด “เอาละ พร้อม ลุย” เป็นการเริ่มต้นแบบตั้งใจให้เริ่มเหมือนมีคนมาสั่งให้ action จึงทำให้แลดูแข็งไม่เป็นธรรมชาติอย่างยิ่ง ลักษณะนี้จะพบได้กับบุคคลที่มีภาวะประหม่า (nervous) ผมตั้งชื่อเล่นให้กับการแสดงลักษณะนี้ว่า วันทู แอ๊คชั่น

2.มีรอยยิ้มเป็นลักษณะ Suppressed smile หรือ Masking Smile แปลเป็นไทยคือ อั้นยิ้ม หรือการสะกดรอยยิ้มเพราะเกิดอารมณ์มากกว่า 1 อย่างปรวนแปรกัน เช่น ความเครียด ความกังวล ความกลัว เป็นต้น เพราะกล้ามเนื้อบริเวณมุมปาก และแก้มมีการหดตัว มักพบร่วมกับการเกร็งกล้ามเนื้อรอบปากโดยเฉพาะริมฝีปากบนและพบการกัดฟันร่วมด้วยจากกล้ามเนื้อ masseter  รอยยิ้มแบบนี้จะพบบ่อยในบุคคลที่ “กำลังคิดอะไรอยู่” (Having an Agenda) และมักจะ out of context

นาที 0:20 รอยยิ้มหลังจากการยกมือไหว้

ในวินาทีถัดกัน ผู้พูดแสดงรอยยิ้มดังภาพ เป็นสองแบบต่อเนื่องกัน

ภาพตรงกลาง แสดงรอยยิ้มที่มุมปากไม่เท่ากัน (Asymmetrical) และมุมปากด้านขวายกสูงกว่าด้านซ้าย และถูกดึงไปด้านหลัง (Pulled back) จากกล้ามเนื้อ Risorius ร่วมกับ Zygomatic Minor เป็นรอยยิ้มที่เรียกว่า Fear smile หรือในภาษาไทยอาจจะเรียกว่ายิ้มแบบสลด ยิ้มเฝื่อนๆ เป็นรอยยิ้มที่ไม่ใช่ลักษณะ True Smile ที่มีการทำงานของกล้ามเนื้อที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

Fear Smile เป็นรอยยิ้มที่มักยิ้มในสถานการณ์ที่เรารู้สึกกลัว (Fear) เช่น สถานการณ์ที่เราทำแก้วน้ำตกแตกในภัตตาคารอาหารและมีคนหันมามองทั้งร้าน สำหรับเคสนี้รอยยิ้มที่ปรากฎในวีดิโอเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่เท่านั้น (Micro to Subtle expression) และยากที่จะสังเกตสำหรับมือใหม่หัดอ่านภาษากาย

หลังจากปรากฎ Fear smile ก็ยิ้มแบบ Suppressed Smile ต่อ ( ภาพขวาสุด Suppressed smile ได้อธิบายไว้ข้างต้นแล้ว) 

จากภาษากายทั้งหมดที่ปรากฎจึงบอกได้ว่าเจ้าตัวน่าจะมีความรู้สึกกลัวและประหม่าที่ชัดเจน

นาที 0:20 – 1:12 เมื่อเริ่มต้นพูด illustrating with hands

เมื่อผู้พูดได้เริ่มต้นพูดเป็นเรื่องเป็นราวจะพบว่าน้ำเสียงและจังหวะการพูดค่อยๆไหลลื่น

นาที 1:12 พบเริ่มมีการใช้มือร่วมกับการพูด (illutrating with hands) ซึ่งทำให้การสื่อสารดูจริงใจ (Sincere) และอินกับสิ่งที่พูด โดยสังเกตว่าการใช้มือสอดคล้องกับประโยคที่พูดว่า “เราต้องพยายามเข้าใจ (*) รุ่นที่ไม่ใช่รุ่นเดียวกับเรา”  

จากการใช้มือทำให้เห็นว่า ความเกร็งและความตื่นเต้นในตอนต้นได้เริ่มลดลง อาจเป็นเพราะผู้พูดเลิกโฟกัสในภาพลักษณ์ของตนเองหรือสายตาของคนที่จับจองแล้ว และจึงสามารถจดจ่อกับการสื่อสารได้มากขึ้นและทำให้สภาวะประหม่าลดลงไป

5:19 – 5:25 ตอนพูดถึงไปช่วยพ่อหาเสียงที่พิษณุโลก และตื่นเต้นที่ดูชาวบ้านทำกล้วยตาก
Cluster of Body Language

ผมจะขอกระโดดมาถึงนาทีที่ 5:19-5:25 ในจังหวะนี้ ผู้พูดก็เล่าเรื่องราวตอนช่วยพ่อหาเสียงและได้ไปดูชาวบ้านทำกล้วยตาก ซึ่งผู้พูดได้พูดว่า

“ตอนนั้น ก็เป็น (Tongue jut) ประสบการณ์ใหม่ๆที่ทำให้เด็กวัย (Hand touching nose) สิบสองตื่นเต้น นะคะ (Fear smile) “

ช่วงระยะเวลาสั้นๆนี้จะพบ Cluster ดังนี้

  • ลิ้นงู (Loose Tongue jut) เป็นภาษากายมักพบบ่อยเวลากำลังคิดหรือกำลังพูดในสิ่งที่ตนทำไว้ไม่ดี พบได้บ่อยในคนที่กำลังโกหก ปิดบัง หรือเล่าความจริงไม่ครบ เติมแต่ง (ซึ่งล้วนก็เข้าข่ายการโกหกแบบหนึ่ง) หรือการพูดความจริงแต่เป็นสิ่งที่ตนเองทำไม่ดีเอาไว้ ทั้งนี้ต้องแยกแยะให้ออกกับการเลียริมฝีปากเพราะปากแห้ง  ทั้งนี้หลายคนมักจะวิเคราะห์ผิดว่า ลิ้นงู = โกหก ซึ่งอยากแนะนำว่าไม่ควรวิเคราะห์ภาษากายแบบนั้นแต่จะต้องดูองค์ประกอบอื่นผสมไปด้วย เพราะหลายครั้งลิ้นงูไม่ได้แปลว่าโกหกเสมอไป ถือว่าเป็น non-specific body language ที่ต้องอาศัยภาษากายอื่นๆและบริบทมาร่วมวิเคราะห์เสมอ
  • มือเช็ดจมูก (Hand Touching nose) เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ (Psychological discomfort) จะพบได้บ่อยในกรณีที่พูดสิ่งที่ลำบากใจ เช่น โกหก ปกปิด พูดความจริงไม่ครบ ทั้งนี้จะต้องแยกออกจากการสัมผัสจมูกออกจากการ เช็ด หรือ ขยี้จมูกเพราะเป็นภูมิแพ้ หรือ แพ้อากาศ รวมถึง Baseline ของผู้พูดร่วมด้วย
  • ยิ้มผสมหวาดกลัว (Fear Smile) ดังที่ได้กล่าวข้างต้น

จากการที่เราเห็น Cluster ของภาษากายที่สอดคล้องกันส่วนตัวผมจะตั้งคำถาม (Red Flag) ต่อสิ่งที่ผู้พูดในจังหวะนั้น ว่าทำไมจึงมีภาษากายปรากฎออกมา ณ เวลานั้นพอดิบพอดี

6:06-6:08 พูดถึงได้จับมือกับสุดยอดผู้นำ OPEC

ช่วงที่พูดถึงอดีตความประทับใจที่ได้ไปออกงานกับคุณพ่อและจับมือกับสุดยอดผู้นำ มีจังหวะที่ผู้พูดเอาผมทัดหู (Hair Adjustment behide ear)

ภาษากายนี้ในเชิงกายภาพ (Physical)เราทำประจำเพื่อจัดผมที่ยุ่งให้เข้าที่ และหลายกรณีเราก็ทำไปทั้งๆที่ผมไม่ได้ยุ่งแต่เป็นเพราะสภาวะของอารมณ์และจิตใจมีการเปลี่ยนแปลง (Psychological) และกระทำไปโดยไม่รู้ตัว (Unconcious) และทำถี่ขึ้นกว่าปกติเมื่ออยู่ในสภาวะ Beta และต้องการตึงสภาวะ Alpha กลับขึ้นมา (Alpha upright อธิบายสั้นที่สุดคือกำลังเรียกความมั่นใจกลับมา) ภาษากายนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกับการจัดเน้กไทด์ จัดนาฬิกาข้อมือ หรือแม้แต่ก้มลงเพื่อดึงถุงเท้าขึ้น

 6:17 ก้มอ่าน script และ tongue jut

นาที 6:17 ผู้พูดได้ก้มลงอ่านสคริปที่เตรียมมา โดยก้มลงต่ำมากทำให้การพูดเกิดการขาดตอน (Dead air) พร้อมกับพบลิ้นงู

ส่วนตัวผมมักจะแนะนำว่าการพูดในที่สาธารณะที่ดีที่สุดคือการไม่ใช้สคริป เพราะนอกจากจะทำให้เสียบุคลิกแล้วการพูดจะไม่ไหลลื่น โดยเฉพาะในเคสนี้ที่พบลักษณะการพูดแบบ Turning the pages และการที่ต้องก้มดูสคริปบ่อยๆจะลด Connection และ Rapport ที่มีต่อคนฟัง จังหวะนี้ทำให้การพูดเหมือนการอ่านรายงาน

สรุป

ในเคสนี้เราก็ได้เห็นและเรียนรู้ภาษาหลายอย่างที่น่าสนใจ โดยรวมผู้พูดมีภาษากายที่มีความมั่นใจในการพูด แต่ก็มีหลายครั้งที่ความมั่นใจอาจตกลงไปชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งนี้ในอนาคตถ้าเจ้าตัวยังอยู่ในสายการเมืองในระยะยาว เราอาจเห็นพัฒนาการของภาษากายที่พัฒนาขึ้นตามประสบการณ์และวัยวุฒิในเคสต่อๆไปในอนาคต

คำถามท้ายบท

ในนาทีที่ 5:19-5:25 คุณคิดว่าคุณอุ๊งอิ๊งค์รู้สึกอย่างไร ? ตอนที่พูดว่าเห็นชาวบ้านทำกล้วยตากแล้วรู้สึกตื่นเต้น ?

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

1 Response

  1. พฤศจิกายน 7, 2022

    […] การเคลื่อนไหวแบบฉับพลันที่ดูแข็งทื่อ ประดักประเดิดไม่เป็นธรรมชาตินี้เป็นลักษณะที่เรียกว่าวันทู แอ็คชั่น คืออยู่ในสภาวะที่ตื่นเต้นและต้องกำกับตัวเองให้ทำตามบทเป็นการพยายามผันแปรสภาวะ Beta มาสู่ Alpha คุณอุ๊งอิ๊งค์ ลูกสาวของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ก็มีตัวอย่างภาษากาย วันทู แอ็คชั่นในบทความนี้ […]

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *