ธันวาคม 23, 2021

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 70 : หลบตาหรือแค่ก้มลงอ่านสคริป ? และทำไมคุณไม่ควรใช้สคริปบนเวที COP26 climate summit ปี 2021

นานๆทีที่เราจะได้มีโอกาสเห็นผู้นำแต่ละประเทศขึ้นพูดในเวทีใหญ่พร้อมกันในงานเดียวกัน (ประเทศไทยก็ไปร่วมด้วย) ในงาน COP26 climate summit ปี 2021 จากในคลิปวีดิโอจะมีบางช่วงที่เป็นจังหวะผู้นำแต่ละประเทศ activist และคนของ UN ขึ้นพูดบนเวที รวมถึงคุณประยุทธ์ก็ขึ้นพูดด้วย

สิ่งที่น่าเรียนรู้และตั้งคำถามในเคสนี้ คือ

  1. การที่เราพูดและก้มหน้าอ่านสคริป เราจะแยกออกได้อย่างไรกับการก้มหน้าหรือหลบสายตา (Diminishing eye contact)
  2. ทำไมไม่ควรใช้สคริปในการพูด
ท่าทางและบุคลิกของผู้นำแต่ละคน

การก้มหน้าเพื่อหลบสายตา (Looking downward / Diminished eye contact)

เป็นภาษากายในกลุ่มของการหลบตา (Diminising eye contact) เป็นกลไกของสมองและร่างกายที่ตอบสนองเมื่อเกิดความกลัว รู้สึกผิดหรือ เผชิญสิ่งที่ไม่ชอบซึ่งล้วนเป็นอารมณ์ลบ (Negative emotion) อธิบายให้ง่ายคือสมองสั่งให้ไม่มองเพราะไม่อยากดูสิ่งที่อยู่ตรงหน้า (Dislike / fear / Anxiety etc”) และต้องการมองไปที่อื่น หรือ บรรเทาสภาวะลบที่เกิดขึ้น (Relief) เพราะโดยสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตเราก็อยากจะหนี หรือ ถอยห่างจากสิ่งที่เรารู้สึกไม่ชอบเป็นธรรมดา แต่ด้วยบริบทสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์เราจะจู่ๆเดินหนีไปแบบสัตว์คงไม่ได้ในทุกโอกาส (เช่นยืนคุยกับเจ้านายแล้วพอไม่ชอบก็เดินหนีไปเฉยๆ)

สัญชาติญาณการอยากหนีไปจากสภาวะที่รู้สึกไม่ปลอดภัยหรือไม่ชอบจึงเป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต

มีคำในภาษาไทยที่สอดคล้องกันคือ “ไม่กล้าสู้หน้า” เช่น การต้องไปขอโทษใครบางคน การทำสิ่งใดผิดไว้และเกิดความละอาย ซึ่งพอผมอธิบายดังนี้เราก็ล้วนนึกภาพกันออกทันทีเลยใช่ไหมครับ

Diminishing eye contact หรือ หลบตาเป็นคำกว้างๆ ครอบคลุมไปถึงการหลบตาในลักษณะหันไปมองทางอื่น เหล่มองไปทางอื่น ระยะเวลาที่ใช้กระพริบตานานขึ้น โดยเฉพาะการก้มลงมองไปทางมุมล่างซ้าย หรือ ขวา (Looking downward to the Left or Right Quadrant) ในหลายกรณีพบว่าสัมพันธ์กับความรู้สึกผิด (Guilt) จึงเป็นภาษากายที่พบบ่อยถ้ากำลังโกหก ปิดบังความจริง หรือแม้แต่คนที่กำลังสารภาพผิด ทั้งนี้เพื่อให้แยกออกจากความตื่นเต้น เกลียด และกลัวเราจะต้องพิจารณาร่วมกับภาษากายอื่นร่วมด้วยเสมอโดยเฉพาะสีหน้า (Facial expression) ดูสิ่งแวดล้อม สิ่งกระตุ้น และพื้นฐานภาษากายที่ติดตัวมาของเจ้าตัว (Baseline)

การพูดบนเวที

การพูดบนเวทีที่ดีควรมีองค์ประกอบดังนี้

  1. สามารถพูดเพื่อสื่อสารได้ครบถ้วน ทั้งคำที่ใช้ ความเร็วในการพูด ความถูกต้องของคำและเนื้อหา ระดับเสียง และ
  2. ใช้ภาษากายในการสื่อสารได้ดีทั้งท่าทางและสีหน้า
  3. ดึงดูดให้ผู้ฟังรู้สึกคล้อยตาม เกิดอารมณ์ร่วม เกิดการเชื่อมโยงถึงกันและกัน (Connection)

คนส่วนใหญ่ที่ขึ้นพูดบนเวทีมักจะเฝ้ากังวลถึงภาพลักษณ์ของตนเองจนเกิดความประหม่าและกังวล ทำให้ไม่สามารถแสดงออกมาได้ดีเพราะขาดทั้ง 3 องค์ประกอบ

และบางคนที่ใช้สคริปในการอ่าน ก็เพราะกลัวพูดเนื้อหาไม่ครบ และรู้สึกมั่นใจกว่าการไม่มีสคริป ซึ่งพอโฟกัสการอ่านมากอาจทำให้พลาดข้อ 2 และ 3 ซึ่งก็สำคัญไม่แพ้กัน

การอ่านสคริปบนเวที กับ การหลบตา

อย่างที่บอกหลายคนเมื่อขึ้นพูดบนเวทีมักรู้สึกประหม่า กลัว ตื่นเต้น เป็นธรรมดา ไม่ว่าจะกังวลว่าตนเองจะทำได้ดีไหม กลัวปฎิกิริยาที่ไม่ดีของคนที่นั่งฟัง กลัวเสียหน้า สารพัด

และในเวลาเดียวกันเราก็รู้ตัวว่าการพูดโดยไม่มองหน้า หรือ มองตาผู้ฟังก็ย่อมดูแปลกๆและไม่สง่างาม ดูเหมือนเด็กที่กลัวที่ต้องพูดต่อหน้าผู้คน

แต่ถ้าเรามีสคริปที่จะต้องอ่าน เราจะมี “โอกาส” (Take advantage) ที่จะก้มลงเพื่ออ่าน และใช้จังหวะเดียวกันนั้นละสายตาจากผู้ที่เรากำลังคุยด้วยแบบเนียบเนียน จึงเป็นการได้ประโยชน์ทั้งในแง่ความจำเป็นและทางจิตวิทยาควบคู่กัน

จุดที่น่าสังเกตคือ คนที่หวังจะใช้โอกาสในการก้มอ่านสคริปเพื่อหลบตา เขาจะมีแนวโน้มที่จะใช้เวลานานกับการก้มอ่านและโฟกัสกับการอ่าน บางเคสผมเห็นเขาแทบจะก้มหน้าอ่านเลยและทิ้งการสบตากับผู้ฟัง แบบนี้เรียกว่าอ่านให้ฟังไม่ใช่การพูดบรรยายมีศักดิ์เท่ากับเปิดคลิปวีดิโอ และก็มีหลายคนที่ใช้สคริปเพื่อเป็นแค่เช็คลิสต์ โดยที่เขาจะก้มหน้าลงเพื่ออ่านแค่ชั่วครั้งชั่วคราวเพื่อให้แน่ใจว่าพูดครบทุกหัวข้อที่เป็นใจความสำคัญ

สรุป

ในงาน Climate Change Conference 2021 ครั้งนี้ ไบเด้นของอเมริกาไม่ได้ใช้สคริปในการพูด ทำให้เขาสามารถมองหน้าและจ้องตาผู้เข้าร่วมได้ตลอด จึงทำให้เขาดูมั่นใจ ดูสง่างาม และเข้าถึงผู้ฟังเทียบกับผู้นำท่านอื่นที่ต้องแบ่งเวลาและความสนใจไปที่สคริปที่เตรียมมา

เพราะฉะนั้น ถ้าคุณอยากสื่อสารด้วยภาษากายได้ดี อยากเข้าถึงคนฟัง คุณไม่ควรใช้สคริปในการพูด การมีสคริปเป็นตัวขัดขวางให้คุณสื่อสารได้แย่ลง หรือถ้ามีสคริปควรจะเป็นแค่ short note ขนาดเล็กที่ระบุเช็คลิสต์ของหัวข้อที่จะพูดเท่านั้น

การสื่อสารไม่ได้มีแต่การใช้คำพูด หรือ วจนะภาษา (Verbral communication) และมี อวจนะภาษาด้วย (Non-verbral Communication) เราจึงต้องระวังภาษากายของเราเสมอ

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *