คงไม่มีใครไม่รู้จัก สมคิด พุ่มพวง ฆาตกรต่อเนื่อง (Serial killer) ที่ฆ่าผู้หญิงเยอะถึง 5 คดีติดต่อกัน แต่ตลอดเวลาที่จำคุกได้ปฎิบัติตัวเป็นนักโทษที่ดีจนอยู่ในกลุ่ม “นักโทษชั้นเยี่ยม” และได้รับลดหย่อนจนออกคุกเร็วกว่ากำหนด ช่วงที่ออกคุกมาใหม่ๆก็เป็นข่าวคึกโครมว่า ทำไมนักโทษที่น่าจะถูกประหารชีวิตกลับลดหย่อนจนออกคุกมาได้ ?
แต่ไม่ว่ายังไงเขาก็ได้ออกมาแล้วตามแนวทางการพิจารณาลดหย่อนแบบฉบับของประเทศไทยเรา ซึ่งแนวทางนี้มักถูกตั้งคำถามเสมอถึงความเหมาะสมที่จะลดหย่อนโทษ เพราะหลายครั้งผู้ต้องหาที่ออกมามีอิสระภาพกลับไม่ได้สำนึกโทษและกลับก่อคดีในรูปแบบเดิมๆตามที่เราเห็นเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์
สมคิด พุ่มพวง ก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่เจ้าตัวก็ยังไม่ได้กลับตัวกลับใจอย่างแท้จริง ออกคุกได้ไม่นานก็ได้ก่อคดีที่ 6 ในปี 2562 โดยทำการฆาตกรรมแม่บ้านในโรงแรมจังหวัดขอนแก่น และครั้งนี้ศาลก็ตัดสินพิพากษาประหารชีวิต
ในความเห็นของผมคนที่มีสภาวะวิปริตเช่นนี้ ไม่ควรออกมาอยู่ในสังคมร่วมกับผู้คน กรณีนี้เป็นอุทาหรณ์สำคัญที่อาจจะต้องทบทวนการพิจารณาลดโทษ หรือ การปล่อยตัวผู้ต้องหาในคดีอุฉกรรจ์ เพราะการได้รับเสรีภาพ อีกด้านหนึ่งย่อมมีความหมายคือมีโอกาสออกไปกระทำความชั่วได้อีก ทั้งนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่านักโทษคนนั้นกลับตัวกลับใจจริงๆ หรือแค่ทำตัวดีไปเพื่อรอวันออกจากคุกและยังเป็นอาชญากรต่อไป ? ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากที่จะพิจารณาในวันนี้มีผู้ต้องหาล้นคุก
ถ้านักโทษท่านนั้นคือคนที่พื้นฐานดีเพียงแต่หลงผิดไปแค่ครั้งเดียว ผมเชื่อว่าสังคมย่อมให้อภัย แต่ในกรณีที่เขาเป็นคนโรคจิต หรือ มีสภาวะทางจิตที่ไม่ปกติ เราสมควรปล่อยเขาออกมาอยู่ร่วมในสังคมจริงหรือ ?
ในกรณีของคุณ สมคิด พุ่มพวง สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ คำให้สัมภาษณ์ของสมคิด เมื่อนักข่าวถามว่า คุณรู้สึกยังไงตอนฆ่าคน
เขาตอบกลับแทบจะทันทีว่า แล้วตอนหนูแปรงฟัน อาบน้ำ รู้สึกอะไรไหม ?
คำตอบแบบนี้ เป็นการสะท้อนกลับได้ว่าสมคิดไม่ได้รู้สึกผิด และไม่ได้มีมุมมองว่าสิ่งที่ตนเองได้กระทำลงไปคือสิ่งที่ไม่สมควร อาชญากรส่วนใหญ่มักจะมีความคิดนี้ นั่นคือ จะมี “ชุดความคิด” หรือ จะเรียกว่า “ความเชื่อ” ของตนเอง ว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ผิด แถมยังถูกต้องเหมาะสมแล้ว
สมคิด เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า ผู้หญิงที่เขาฆ่าไป เป็นคนไม่ดี เป็นคนเลว และสมควรตาย เขามีความคิดว่าสิ่งที่เขาทำนั้นไม่ผิดและผู้เคราะห์ร้ายก็สมควรที่จะได้รับสิ่งนั้นอยู่แล้ว
การทำความเข้าใจความคิดของอาชญากร (Criminal mind) นั้นไม่ตรงไปตรงมาเหมือนกรณีคนทั่วไป เราไม่สามารถใช้ตรรกะของคนปกติมาอธิบายได้ ความล้มเหลวในการควบคุมและจัดการอาชญากรกลุ่มนี้มาจากการที่เราใช้มุมมองของเราในการเข้าใจตัวตนเขา…ซึ่งมันใช้ไม่ได้ผล
ทั้งนี้ ภาษากายเป็นสิ่งที่สามารถเอามาใช้ในการจับผิด จับโกหก และตรวจสอบอาชญากรกลุ่มนี้ได้อย่างดี เช่น ในบทความเก่าของผมเกี่ยวกับฆาตกรคุณแม่ที่ฆ่าลูกตัวเอง Diane Downs เราจะรู้เลยว่ากลุ่มนี้เวลาสืบสวน เราจะสามารถจับภาษากายที่แปลกๆ และ ไม่ปกติได้เสมอ โดยเฉพาะภาษากายที่เรียกว่า Duping Delight ซึ่งเป็นภาษากายที่ตรวจจับไม่ยาก และอาชญากรทั้งหลายไม่สามารถหลบ หรือ ซ่อนได้ 100% เพราะร่างกายไม่เคยโกหก อย่างน้อยก็จะมีรั่ว (Leak) ออกมาให้เราสังเกต
ผมเองก็อยากจะมีโอกาสสักครั้งที่ได้สัมภาษณ์คุณ สมคิด พุ่มพ่วง และถามคำถามเดิมว่าเขารู้สึกอย่างไรตอนฆ่า
และรอบนี้นอกจากคำตอบของเขา ผมอยากจะได้วีดิโอเทปที่บันทึกภาษากายของเขาร่วมด้วย ผมเชื่อว่าจะมีข้อมูลน่าสนใจให้เราได้ศึกษาเพื่อเรียนรู้ที่จะระวังตัวจากอาชญากรเหล่านี้ และเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปรวมถึงลูกหลานของเรา
สมคิด พุ่มพวง มีความผิดปกติทางความคิดอย่างไม่ต้องสงสัย จะเรียกว่าโรคจิตก็ไม่ผิด การที่เขาได้อิสระภาพนั้นเป็นความผิดพลาดที่สังคมเราจะต้องตระหนักและเรียนรู้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
สวัสดีครับ
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น บุคคลอ้างอิงในเวปไซด์จะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube) เป็นต้น การตีความและอธิบายภาษากายไม่มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนในเชิงการเมือง หรือ มีจุดประสงค์ที่จะละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น