ธันวาคม 27, 2020

ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 1 แม่น้องชมพู – Sincere , Trustworthy – ยกมือขึ้นมาสัมผัสบริเวณลิ้นปี่ บอกอะไรเราได้บ้าง ?


ถอดรหัสภาษากาย บทเรียนที่ 1 ทำไมแม่น้องชมพูไม่ร้องไห้ – การยกมือขึ้นมาสัมผัสบริเวณลิ้นปี่ บอกอะไรเราได้บ้าง ?

ทำไมคุณแม่น้องชมพู่ ถึงดูไม่เสียใจ (Sadness) และไม่ร้องไห้ ?

ในบรรดาความเสียใจ (Sadness) ที่เกิดขึ้นในชีวิตคนเรา การสูญเสียลูกน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เศร้าสลดที่สุดของมนุษย์เรา

ลองหลับตาและจินตนาการถึงคนที่เรารักเสียชีวิตดูซิครับ … แค่เริ่มคิดคุณก็รู้สึกเศร้าขึ้นมาทันทีแล้ว ใช่ไหมครับ

เคสน้องชมพูที่หายตัวไปและพบอีกทีเป็นศพบนเขาเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ใครอ่านข่าวก็ต้องรู้สึกเสียใจ หลังจากเหตุการณ์นี้ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย หนึ่งในข้อสงสัยสำหรับคนในสังคมที่ติดตามข่าวคือ ทำไมคุณแม่น้องชมพู (คุณสาวิตรี วงศ์ศรีชา) ที่ปรากฎภาพข่าวและสื่อโซเชี่ยวถึงดูไม่ค่อยเสียใจ หรือ ไม่ร้องไห้เสียใจกับการสูญเสียอย่างที่หลายคนมองว่าควรจะเป็น ?

เพราะถ้าเราลองจินตนาการลูกในใส้ของเราเสียชีวิตไป ทุกคนคงร้องไห้จนแทบจะเป็นเลือด ต้องเศร้าสร้อยและตาแดงก่ำตลอดเวลา ซึ่งเมื่อคุณแม่น้องชมพู่ได้มาออกรายการสัมภาณ์ในรายการของคุณจอมขวัญ เป็นการสัมภาษณ์ออกโทรทัศน์เป็นครั้งแรกและออกอากาศนานถึงเกือบ 1 ชั่วโมงเต็ม ผมก็ได้ลองมาถอดรหัสภาษากายตลอดทั้งรายการโดยตั้งคำถามว่า

ภาษากายคุณแม่แสดงความเสียใจ (Sadness) ไหม ?

พบความขัดแย้งระหว่างคำพูด กับภาษากายหรือไม่ ?

เอาคำถามข้อแรกก่อน ภาษากายคุณแม่น้องชมพู มีสิ่งใดแสดงความเสียใจ (Sadness) ไหม ?

จริงอยู่ว่าในรายการคุณแม่น้องชมพู่จะไม่ได้ร้องไห้เลย ไม่มีน้ำตาคลอ ไม่มีสะอื้น แต่การที่ไม่ปรากฎการแสดงออกที่กล่าวมาก็ไม่ได้เป็นหลักฐานบ่งบอกว่าคุณแม่ไม่ได้เสียใจ

อธิบายดังนี้ครับ คือเมื่อใดก็ตามเราสูญเสียคนในครอบครัวไปแบบกระทันหัน จะเสียใจชนิดโศกเศร้าที่สุด(Agony) ในวันที่เราทราบว่าเขาเสียชีวิต พอเราตั้งสติและคุมอารมณ์ได้ ระดับความรุนแรงของอารมณ์และความรู้สึกจะลดลงเหลือเป็นความเสียใจ (Sadness)

อารมณ์เสียใจจะคงอยู่นานไม่เท่ากันในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ การจัดการความคิด การตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนปัจจัยภายนอกคือ กิจกรรมในชีวิตประจำวัน แต่ที่แน่ๆจะมีอารมณ์เสียใจปนอยู่ตลอด (Paul : 2003) การคงอยู่ของอารมณ์ในระยะเวลายาวนาน หรือที่ผมอาจจะใช้คำว่า ห้วงอารมณ์ เราเรียกว่ามู้ด (mood)

ในกรณีคุณแม่น้องชมพู และคุณพ่อที่มาออกรายการ ดูแล้วเป็นบุคคลที่มีบุคลิกค่อนข้างนิ่งและสงบ ส่วนตัวผมคิดว่าคุณแม่ดูเป็นคนเข้มแข็ง เผลอๆในครอบครัวอาจจะเป็นผู้นำด้วยซ้ำ เป็นไปได้ว่าที่ผ่านมาเขาสามารถจัดการกับอารมณ์ได้แล้วในระดับหนึ่ง จึงไม่ได้เห็น การร้องไห้สะอื้น ขี้มูกไหล พูดไปสะอื้นไป ในรายการ

และเหตุการณ์ของน้องชมพู่ก็ผ่านมาแล้วหลายวัน ในทุกๆวันคุณแม่และคุณพ่อก็ต่างต้องยุ่งวุ่นวายกับการให้ความร่วมมือกับตำรวจในการสืบสวนทุกวัน วันละหลายชั่วโมง และเรื่องต่างๆที่ต้องจัดการ ผมก็ว่าสอดคล้องกับที่คุณแม่บอก (นาทีที่ 28:38) ว่าไม่มีมีเวลาจะมานั่งร้องไห้เพราะมีเรื่องต้องทำเยอะ

เพราะฉะนั้นการที่คุณแม่มาออกรายการแล้วไม่ได้ร้องไห้ฟูมฟายจึงเป็นสิ่งที่มีเหตุผล เขาจัดการอารมณ์ได้แล้ว และในหัวของเขาคือเรื่องการสืบสวนบุคคลที่น่าจะเกี่ยวข้องในคดี เช่น ลุงพล ดังที่เป็นข่าว

ถอดรหัสภาษากาย คุณแม่น้องชมพู่

ผมถอดรหัสภาษากายของคุณแม่น้องชมพูเพื่อมาศึกษาในบทความนี้ ผมพบช่วงที่น่าสนใจ คือ การนำมือขึ้นมาสัมผัสลิ้นปี่

นาที 32:40 คุณแม่น้องชมพูพูดว่า “ความคิดของเรา (*) คือลูกยังอยู่”

ตอนที่ (*) จะสังเกตุการยกมือขึ้นมาสัมผัสบริเวณลิ้นปี่ (Full palm touch over sternum) ภาษากายอันนี้สอดคล้องกลมกลืนไปกับสีหน้า (Facial expression) คำพูด (Verbal) และน้ำเสียง (Tonality) ซึ่งบ่งบอกถึงการพูดและแสดงออกที่จริงใจ (Sincere , Trustworthy)

การสอดประสานกัน (Synchronize) ของคำพูดและภาษากาย ในกรณีของคุณแม่น้องชมพู่ ทำให้เราสังเกตุได้ถึงความจริงใจ โปร่งใส ไร้สิ่งซ่อนเร้น เพราะใบหน้า คำพูด น้ำเสียงล้วนไปในทิศทางเดียวกัน

ทั้งหมดนี้จึงช่วยเพิ่มน้ำหนักว่าสิ่งที่คุณแม่พูดทั้งก่อนและระหว่างนั้นเป็นความจริง

สำหรับผู้อ่านที่อยากอ่านภาษากายให้แม่น จะต้องแยกให้ออก (Differentiate) กับท่าทางที่คล้ายคลึงกัน เช่น ยกมือขึ้นเพราะการตกใจ หรือ ปกปิดความผิด (Pacifiying) ซึ่งเป็นการแสดงออกในเชิงลบ แตกต่างจากกรณีคุณแม่น้องชมพู่อันเป็นการแสดงออกเชิงบวก

เพราะฉะนั้น ท่าทางและการแสดงออกต่างๆในแต่ละคน แต่ละเหตุการณ์ แต่ละจังหวะจะต้องพิจารณาร่วมกับบริบทแวดล้อมทุกอย่างถึงสามารถถอดรหัสภาษากายได้แม่นยำและเที่ยงตรง

ในบทความอื่นๆจะได้เห็นกรณีที่คำพูดและภาษากายไปคนละทิศคนละทางกัน (unsynchronize) ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับคนที่กำลังโกหก ปกปิด หรือ ไม่พูดความจริง

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ

หมอมด (ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น บุคคลอ้างอิงในเวปไซด์จะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube) เป็นต้น การตีความและอธิบายภาษากายไม่มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุน หรือ ละเมิด กับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

You may also like...