ก็เป็นดราม่าได้แบบงงๆ เมื่อ Liang Sen ออกมาพูดในรายการ Youth With You Season 3 ถึงสาเหตุที่ทำไมเขาต้องโกนผม ทำให้หลายๆคนไม่พอใจลิซ่าที่เคยหัวเราะในรายการที่ผ่านๆมา
ถ้าลิซ่าไปพูดจาดูถูกเขาจริงๆก็สมควรต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
แต่ถ้าลิซ่าไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่มีเจตนาอะไร แค่หยอกเล่นแซวเล่นทั่วไป ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องขอโทษอะไร
ทีนี้ ประเด็นคือเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าการพูดของลิซ่านั้น “มีเจตนาอย่างไร” เพราะอย่าลืมว่าลำพังแค่คำพูดอาจจะไม่เพียงพอที่จะรู้ลึกในระดับที่ว่า เจ้าตัวรู้สึกกับคำพูดอย่างไร ? เจ้าตัวพูดด้วยอารมณ์ใด ?
ในทฤษฎีทางภาษากายเราสามารถวิเคราะ์ห์ได้ โดยการเก็บข้อมูลหลายๆอย่างเอามาประกอบกัน ทั้งนี้เสียดายวีดิโอต่างๆเกี่ยวกับประเด็นนี้ถูกลบออกไปทำให้ไม่สามารถเอามาวิเคราะห์อะไรได้
บทความนี้จึงเป็นลักษณะให้แนวทางมากกว่า
กลับมาที่คำถามของเรา คือ ลิซ่า มีความรู้สึกและเจตนาอย่างไรตอนที่พูดออกมา และเราจะสังเกตุจากสามอย่างดังต่อไปนี้
- น้ำเสียง
- ท่าทาง
- สีหน้า
น้ำเสียง (Tone & Picth of voice)
น้ำเสียงมีหลายแบบ และแสดงเจตนาได้ค่อนข้างชัดเจน ยกตัวอย่าง ลูกชายผมชื่อมิกกี้ สมมุติลูกชายผมเล่นของเล่นแล้วไม่ยอมเก็บ ผมก็จะดุเขาด้ยการเรียกชื่อสั้นๆห้วนๆ “มิกกี้ !” ถ้าผมพูดคุยผมก็ใช้น้ำเสียงธรรมดา “มิกกี้” ถ้าเขากำลังขี่จักรยานแล้วมัวแต่มองข้างทางจนจะขับชนเสาไฟฟ้าอยู่แล่ว ผมก็คงตะโกนสุดเสียง “มิกกี้ๆๆๆๆๆ”
สังเกตุคำว่า “มิกกี้” คำเดิม คำเดียว สามารถสื่อสารด้วยเจตนาที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงจากน้ำเสียง
ในกรณีของลิซ่าในจังหวะที่พูดถึงคุณ Liang Sen เขามีน้ำเสียงอย่างไร ? อันนี้เราก็จะเอามาวิเคราะห์ได้
ท่าทาง (Posture , Physiology)
ท่าทางก็บอกสิ่งที่อยู่ในใจได้ สมมุติว่าลิซ่าไม่ชอบคุณ Liang Sen เอามากๆ เราอาจจะพบภาษากายที่สัมพันธ์กัน เช่น การนั่งเอนหลังกอดอก นั่งหันข้าง การยกมือขึ้นมาปิดปาก แต่ถ้าคุณลิซ่าไม่ได้คิดอะไร เราก็อาจจะไม่ได้พบลักษณะภาษากายในแง่ลบใดๆ
ท่าทางเป็นสิ่งที่คนเรามักไม่ค่อยได้ระวัง และมันจะออกมาจากสมองส่วนกลางโดยอัตโนมัติ ผมมีเคสของนักการเมืองที่สนับสนุนคุณประยุทธ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ระหว่างที่พูดดันส่ายหัวไปด้วย เรียกว่าพูดประโยคเชิงบวกแต่ตัวเองกลับส่ายหน้าอย่างขัดแย้งและน่าสนใจเรียนรู้ ลิ้ง
สีหน้า (Facial Expression)
สีหน้าก็เป็นส่วนหนึ่งในท่าทาง แต่ผมแยกออกมาเป็นหนึ่งหัวข้อใหญ่เพราะเป็นหัวข้อที่มีรายละเอียดเยอะ
สีหน้าคนเรามีหลักๆ 5 แบบ (Paul Ekman : 2003) และจะผันแปรไปตามอารมณ์หรือความรู้สึกในขณะนั้น อาจจะแรงหรือเบา อาจจะชั่วคราวหรืออยู่นานเป็นนาทีหรือชั่วโมง และสามารถผสมผสานกันได้สีหน้าได้แก่
- โกรธ (Anger)
- เศร้า เสียใจ (Sadness)
- ดีใจ มีความสุข (Happieness)
- ตกใจ/กลัว (Surprise/Fear)
- เกลียด/ดูถูก (Disgust/Contempt)
ถ้าอยากจะทราบเพิ่มว่าคุณลิซ่ารู้สึกยังไงตอนคอมเม้นต์ คุณ Liang Sen เราจะต้องเอาวีดิโอทั้งหมดที่ถ่ายในรายการมาดู และโฟกัสช่วงที่คุณลิซ่าพูดถึง คุณ Liang Sen ว่ามีสีหน้าอย่างไร โดยสังเกตการทำงานของกล้ามเนื้อทุกอย่างบนใบหน้าว่าทำงานอย่างไร ทั้งรอยย่นบนใบหน้า คิ้ว เปลือกตา ตา จมูก ริมฝีปาก คาง โดยภาพ VDO จะต้องชัด ถ่ายต่อเนื่อง และไม่มีตัดต่อ
และสมมุติคุณลิซ่าไม่ชอบ คุณ Liang Sen และในใจมีความคิดแง่ลบ (Negative thoughts and feeling) บนใบหน้าก็จะสามารถสังเกตภาษากาย เช่น Disgust Contempt หรือ Anger ออกมาบ้าง
แต่ถ้าคุณลิซ่า ไม่ได้คิดอะไรลบๆ ไม่ได้รู้สึกอะไร สีหน้าก็จะเป็นปกติ (Neutral)
สรุป
คุณลิซ่าอาจจะไม่ได้คิดอะไรเลย แค่แซวเล่น หรือแซวแรง หรือทำไปเพื่อต้องการดูถูก ทำให้คุณ Liang Sen อับอาย หรือไม่อย่างไร เรามีวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์มากๆที่จะมาตอบตรงนี้ นั้นคือการถอดรหัสภาษากายออกมาผ่าน VDO และถ้าตราบใดที่ยังไม่ได้วิเคราะห์ให้ลึกและละเอียดเพียงพอ
ผมว่ามันไม่แฟร์กับคุณลิซ่าที่จะต้องออกมาขอโทษในสิ่งที่ยังไม่ได้พิสูจน์ว่าทำผิดหรือไม่เหมาะสมจริงๆหรือเปล่า อย่าลืมว่าคุณลิซ่าคงเสียใจถ้าตนเองไม่ได้มีเจตนาอะไรที่ไม่ดีและต้องมาขอโทษเพียงเพราะมีแฟนคลับบางคนเรียกร้องเท่านั้น
ขอให้สนุกกับการเรียนรู้
ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น บุคคลอ้างอิงในเวปไซด์จะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฎในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube) เป็นต้น การตีความและอธิบายภาษากายไม่มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนในเชิงการเมือง หรือ มีจุดประสงค์ที่จะละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น
เกี่ยวกับผู้เขียน